โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------
ฉบับที่แล้วที่เราคุยกันถึงหลุมพรางคนดีที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมคาดหวังจากคนดีหรือตั้งใจทำดี ฉบับนี้เรามาดูหลุมพรางคนดีภายในตัวของคนดีเอง ความคาดหวังของสังคมและตัวเองที่จะต้องเป็นคนดี ทำดี ทำเพื่อสังคม เป็นผลให้คนดีเหล่านี้อาจเข้าใจคล้อยตามความคาดหวังด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นกับตนในทางที่ไม่ดี ก็ไม่คิดว่าเป็นของตน หรือเป็นสิ่งที่ตนควรจัดการหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป

หลุมพรางนี้ขอเรียกเล่นๆ ว่า “หลุมดักความเจริญ” กล่าวคือ เมื่อเราเป็นคนที่เขาเรียกว่าดี เป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนก็เป็นครูผู้สอนการปฏิบัติดีพูดดีทำดี สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ไม่สามารถยอมรับกับความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีไม่ค่อยงามของตน หรือแม้แต่ความคิดที่ผุดขึ้นมาในทางที่ไม่ดีของตน

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับคนดีทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว เราอาจเพียงรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรนี่ ก็เพราะเหตุการณ์เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ เราก็เลยทำอย่างนี้ ธรรมดา” บางคนไม่รู้แม้แต่ว่ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในตัว ทำไปตามธรรมชาติเดิมที่คุ้นชิน ไม่รู้สึกว่าผิด บางคนแวบแรกรู้สึกว่าผิดปกติไม่ถูกไม่ควร แต่แวบถัดไปจิตหรือใจเราก็กลบเกลื่อนบิดเบือนเรื่องราวไปในทางที่ทำให้ตนเองสบายใจ และยังภูมิใจอยู่ได้ว่าเป็น “คนดี” ไม่มีอะไรบกพร่องเลย เพื่อให้เห็นภาพชัดขอยกตัวอย่าง เช่น
คนดีคนหนึ่งเห็นเพื่อนร่วมงานดูประหนึ่งว่าจะเด่นกว่าตนเองในช่วงนี้ ทั้งที่ตนเด่นมาโดยตลอด พฤติกรรมแสดงออกมาอาจเป็นการประท้วงต่อคนนั้นโดยไม่รู้ตัว อาจยังพูดจาดีต่อกัน แต่พอถึงเวลาทำงานร่วมกัน มักมีเหตุทำให้ไม่ได้ตามเป้าที่ควรเป็น โดยคนดีนั้นเองก็นึกว่าเพราะตนมีงานอื่นยุ่งเลยทำงานให้เพื่อนได้ไม่เต็มที่ บางคนมีผลถึงร่างกาย เช่น ปวดหัวตัวร้อนท้องเสีย ทำงานให้เพื่อนไม่ได้ บางกรณีก็เป็นวิธีการทางสังคม เช่น ทำให้อีกคนที่ตนสนับสนุนเด่นกว่าเพื่อนคนนั้น เพื่อลดความเด่นของเขา

ตรงนี้ถ้าเรามาวิเคราะห์จะพบว่าคนดีนี้มีความอิจฉาเกิดขึ้นลึกๆ ในใจ แต่อาจไม่ทันต่อความอิจฉานั้น ไม่อยากยอมรับว่าในโลกนี้จะมีใครดีกว่าได้ (แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจจะดีกว่าแค่เรื่องเดียว) ใจบางส่วนที่ไวกว่าใจที่รู้ทันความอิจฉาก็สร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาโดยรู้ไม่ทัน และมีแนวโน้มว่าไม่อยากจะรู้ทันด้วย เพราะไม่เชื่อว่าตนมีความอิจฉาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ เป็นไปไม่ได้ ฉันเป็นคนดีออกจะตาย ฉันเมตตาผู้คน รักผู้คน ใครทำดีฉันก็มีมุทิตาจิต ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ...แต่นั่นเป็นเพียง “ความคิด” ไม่ใช่ความจริงของจิตเขาในแต่ละขณะ ความคิดนั้นจึง “เคลือบ” จิตแท้ๆ ที่กำลังส่งผลต่างๆ นานา จนไม่สามารถรู้ทันจิตแท้ได้ เหมือนน้ำตาลหลากสีที่เคลือบเม็ดช็อคโกแลตเอ็มแอนด์เอ็ม คนดีจึงเห็นแต่สีสันสวยงามของตน ไม่ใช่สีน้ำตาลของช็อคโกแลตข้างใน

อีกกรณีหนึ่งที่พบได้อยู่เรื่อยๆ คือเมื่อคนดีพบข้อจำกัดในตัวตน แต่ “ไม่ยอมรับ” กลับทำพฤติกรรมอื่นโดยไม่ทันต่อจิตหรือใจที่เปลี่ยนประเด็น เช่น รีบหาข้อแก้ตัวว่าฉันไม่ได้ผิดนะ ที่ทำนี่มีเหตุผล ๑ ๒ ๓ (มะนาวหวาน) หรือรีบหาข้อโต้แย้งว่าเหตุการณ์หรือผู้ชี้ประเด็นเหล่านั้นต่างหากที่ไม่ถูก ฉันน่ะถูก ฉันดีอยู่แล้ว คนนั้นต่างหากไม่ดี (องุ่นเปรี้ยว) ซึ่งไม่ว่าแบบไหน คนดีนั้นก็ไม่ได้เรียนรู้เพิ่มอยู่ดี ตกอยู่ในวังวนความดีของตน ที่ไม่ได้เพิ่มขยายพื้นที่อีก

การพัฒนาตัวเราในแต่ละมุมแต่ละด้าน “การยอมรับ” ด้วยความเข้าใจหรือความรู้สึกแท้จริงตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในแต่ละคน มนุษย์โดยทั่วไปเชื่อมั่นว่าเราดีเราถูกอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีความมั่นใจสูง หรือสะสมความมั่นใจในความดีของตัวเองสูง ไม่ว่าจากการประสบความสำเร็จหรือการเรียนรู้ในอดีต หรือจากการยอมรับจากสังคมรอบข้าง จนคนดีนั้นอาจรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าลัทธิกลายๆ ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นแรงบั่นทอนการพัฒนาต่อไปของคนดีนั้น ทำให้เขา “ติดหลุมพรางความดี” ที่ตนขุดไว้เอง

เทคนิคการตรวจสอบอาการ “ตกหลุมพรางความดี” ง่ายๆ คือสำรวจว่าเราเคยพยายามหาเหตุผลไปคัดง้างความคิดหรือเนื้อหาที่รับรู้จากใครบ้างหรือไม่ พอค้านแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกว่า “เฮ้อ นี่แหละ อย่างที่ฉันเป็นอยู่อย่างนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร” ถ้ามีอาการนี้ก็น่าจะเริ่มสังเกตตัวเราให้มากขึ้นว่าตัวตนของเราใหญ่ขึ้นหรือไม่หลังจากทำอย่างนั้น ถ้าใหญ่ขึ้นก็น่าจะผิดทางแล้ว กลายเป็นการพอกพูนอัตตา บางครั้งเกิดจากการต้องการเอาชนะผู้ให้ข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อเดิมของเรานั้น

อาการแบบนี้บางทีก็เกิดมากกับเจ้าสำนักต่างๆ ที่เริ่มมีทฤษฎีส่วนตัวมากขึ้น เป็นผู้สอนคนมากมาย จนกลายเป็นว่าตัวเจ้าสำนักต้องถูกเสมอ....ซึ่งจริงหรือถ้าเรายังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย และนี่ก็เป็นอาการเดียวกับที่ผู้เขียนพบในเจ้าสำนักทางธุรกิจหลายองค์กรหลายบริษัท ที่ต้องปิดตัวหรือทุรนทุราย เพราะพยายามใช้ทฤษฎีเดิมๆ ที่ตนเชื่อมั่น เพราะเคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต เรื่องใหม่ๆ (กว่าที่เรียนรู้มาแล้ว...แต่อาจจะไม่ได้ใหม่จริงๆ) จะไปดีกว่าที่ฉันเคยทำสำเร็จมาได้อย่างไร แล้วเมื่อเกิดวิกฤตองค์กรเหล่านั้นบริษัทเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ทฤษฏีของตนแล้วว่าไปไม่รอด ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เรารู้และมีอยู่แล้วเป็นสิ่งผิดไม่น่าดำเนินต่อไปเสียทั้งหมด เพียงแต่เล่าจากเหตุการณ์ที่เคยประสบเคยเห็นว่า ผู้ที่นึกว่าเรารู้แล้ว เก่งแล้ว ดีแล้ว ทั้งหลายนี้มีอาการที่ตามมาได้นั่นคือการตกหลุมพรางของตัวเอง เกิดอาการ “ต่อมเรียนรู้ฝ่อ” เป็นผลให้การพัฒนาของคนเหล่านั้นอยู่กับที่ ที่เคยดีก็ดีอยู่เท่านั้น ไม่ได้พัฒนาไปกว่าเดิม

ผู้เขียนใคร่ครวญอยู่พักหนึ่งก่อนตัดสินใจเขียนบทความนี้ เพราะบางท่านอาจคิดว่าผู้เขียนกำลังว่าตน แต่คิดดูแล้วว่าถ้าเราตั้งใจดีกับผู้อ่านจริง และนี่เป็นเรื่องที่พบซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าผู้เขียนเห็นแก่ตัวเองกลัวผู้อ่านไม่ชอบใจ อาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไป ตัวผู้เขียนเองก็เคยตกหลุมพรางความดี และไม่มั่นใจว่าจะไม่ตกอีก ได้แต่คอยเตือนตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะการพัฒนาในแต่ละมิติของเราจะหยุดลงทันที ถ้าไม่ยอมรับข้อจำกัดของตัวเราหรือส่วนที่เราสามารถปรับปรุงตัวได้



โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------

คนดีหรือคนที่ตั้งใจคิดดีพูดดีทำดีอยู่เป็นนิจ หมายรวมถึงนักพัฒนาสังคม ครู อาจารย์ นักบวช ฯลฯ เป็นผู้ตั้งใจดีและเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนอีกมากมาย โอกาสที่จะถูกมองว่าเป็นคนดีจึงสูงขึ้นๆ คู่ขนานกับความคาดหวังว่าไม่ควรมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น(เลย)กับผู้คนเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นในทางที่ไม่ดีสักครั้ง แล้วสังคมไม่พยายามเข้าใจเขา เขาจึงอาจหันหลังจากการเป็นคนดี กลายเป็นคนเสื่อมศรัทธาในการทำดี

กว่าคนแต่ละคนจะเป็น “คนดี” หรือผู้ซึ่งมุ่งมั่นทำดี แนะนำชักชวนสิ่งดีดีแก่คนรอบข้างหรือผู้อื่นมาทำดีด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเรามีคนดีเกิดขึ้นแล้ว ความคาดหวังของสังคมต่อคนดีเหล่านั้นกลับกลายเป็นแรงกดดันโดยไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับคนดีเหล่านั้น ยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันมากตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น พระรูปนั้นทำเรื่องไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรามองจากอีกมุมเราอาจจะเห็นใจได้ว่า ท่านเหล่านั้นก็เป็นเพียง “คนต้องการทำดี” ที่กำลังมุ่งไปสู่สิ่งดีดี แต่มิได้เป็นผู้ถึงสิ่งดีที่สุดที่คาดหวังไว้ แค่เป็น “ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างทางไปสู่สิ่งดี” โดยมีสังคมรอบข้างตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุนานานับประการ การพลาดพลั้งไปย่อมมีอยู่ได้เป็นธรรมดา

ในบางครั้งนอกจากผู้คนจะไม่สนใจไปเข้าใจเขาเหล่านั้นแล้ว ยังประณามเขาอย่างหนักบ้าง ประณามถึงสถาบันที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น วิจารณ์วงการศาสนาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นคือพระ นักบวช) หรือวงการการศึกษาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นเป็นครู อาจารย์) ฯลฯ ยิ่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันที่ทำเรื่องดีดีมากขึ้นไปอีก คนที่เป็นคนดีก็เริ่มขยาดมากขึ้น ไม่กล้าอยู่ในสถานะที่ดูเป็น “คนดี” เพราะเดี๋ยวจะถูกเพ่งเล็ง สู้เป็นคนธรรมดาที่บังเอิญทำเรื่องดีดีบ้างท่าทางจะปลอดภัยกว่า หรือร้ายกว่านั้นอาจเลิกศรัทธาในการทำดีไปเลย อย่างที่บางคนพูดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน” แล้วยกตัวอย่างคนดีที่ถูกสังคมจัดการแบบนั้นมาคุยกัน

ทั้งนี้ก็มิได้กำลังบอกว่าเราควรจะเฉยเมยหรือส่งเสริมคนดีที่ทำผิดแต่ประการใด แต่กำลังบอกว่ากลไกบางอย่างในสังคมเราอาจเป็นตัวทำลายแทนที่จะส่งเสริมเรื่องดีดีให้เกิดขึ้นในสังคม ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็น “คนดี” คนนั้นที่บังเอิญชีวิตเคยผิดพลาดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วถูกผู้คนกระหน่ำซ้ำเติมมากมาย แทนที่จะพยายามเข้าใจในเหตุปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หรือเข้าใจความด้อยปัญญาของคนดีที่ยังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย คนที่ดีเหล่านี้อาจแปรสภาพเป็น “คนเคยดี” ไปเลยก็ได้ ไม่เอาแล้วการเป็นคนดีนี่เหนื่อยเหลือเกิน ความคาดหวังมากเหลือเกิน เลิกเป็นดีกว่า ทำชั่วง่ายกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้กันมากๆ สังคมของเราคงวุ่นวายมากขึ้นๆ

“การให้อภัย” และ “การเข้าใจถึงสภาวะความเป็นจริง” ของสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้คนแต่ละคนสามารถเริ่มต้นความดีกันใหม่ได้ หลายศาสนามีพิธีการเพื่อช่วยให้คนยอมรับความผิดพลาดของเขาเพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นคนดียิ่งขึ้น ในกระบวนการนี้ความเข้าใจและการให้อภัยจากผู้อื่นเป็นส่วนประกอบสำคัญแก่คนเหล่านั้น “คนที่เคยพลาดไปในชีวิต” แน่นอนเราคงจะไม่ได้ให้อภัยคนที่ทำผิดแล้วผิดอีก จนคนๆ นั้นมิได้ตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดของตน แต่การที่ไม่ฟังกันไม่พยายามเข้าใจกันไม่ให้อภัยกันเลยคงจะไม่ใช่ทางออกที่งดงามเป็นแน่

ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าใจว่าเรื่องดีดีนั้นมีหลายมุมหลายมิติ หรือถ้าเทียบกับภาพกราฟคือมีหลายแกน มากกว่าแค่แกน x กับแกน y แต่อาจมีเป็นร้อยเป็นพันแกน เหมือนเม่น คนแต่ละคนอาจจะทำคะแนนได้ดีในบางมุมแต่คะแนนไม่ดีในบางมุม เป็นผลที่ทำให้เราเห็นภาพคนดีมีตำหนิอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา กว่าคนหนึ่งคนจะสามารถจัดการกับสิ่งไม่ดีในตัวได้ครบทุกด้านทุกมุมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เราจึงอาจเห็นเหตุการณ์ที่คนที่เรียกว่าดีมีข้อผิดพลาดอย่างนั้นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงหรือธรรมชาตินี้แล้ว เราก็จะให้อภัยเขาเหล่านั้นได้ไม่ยาก ถ้ายังทำใจไม่ได้อยู่ ลองนึกว่าถ้าเราเป็นเขา เราโดนอย่างนั้นบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร

เมื่อเราให้อภัยคนดีที่พลาดได้แล้ว ความสามารถในการให้อภัยอาจเพิ่มพูนไปสู่คนที่ในชีวิตไม่ค่อยได้ทำดีเท่าไหร่ได้มากขึ้น เราคงเคยพบวัยรุ่นบางคนที่งานประจำคือการตีรันฟันแทงกับคู่ซ้อมต่างสถาบัน หรือวัยรุ่นที่เคยกระทำผิดถูกกักกัน เยาวชนเหล่านี้เป็นคนร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ หรือเขาเพียง “พลาดไป” เพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เพราะความหลงผิดบางอย่าง เพราะความไม่รู้ ถ้ามีคนเข้าใจและให้อภัยเขา เปิดพื้นที่ให้เขาทำเรื่องดีดีเพิ่มขึ้น เมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวเขาจะมีโอกาสได้งอกเงยขึ้นหรือไม่ จะพลิกจากพื้นที่สีดำเป็นสีขาวหรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนให้พวกเราลองทำและพิสูจน์ด้วยตัวเองดู

ผู้เขียนได้พบวัยรุ่นหน้าโหดพร้อมลายสักเต็มตัวในพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายจิตอาสา น้องๆ เหล่านี้ไปช่วยขุดดินที่ถล่มทับบ้านใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ช่วงแรกน้องๆ รู้สึกเขินๆ ที่ลงไปช่วยชาวบ้าน ดูเหมือนไม่คุ้นชินกับการช่วยเหลือผู้อื่น ประกอบกับสายตาคนรอบข้างที่มองอย่างไม่ค่อยไว้ใจ แต่เมื่อเขาได้เริ่มทำงาน เริ่มสัมผัสกับการทำดีเพื่อผู้อื่น เห็นความชื่นบานของชาวบ้านที่เขาไปช่วยเหลือ เห็นความตั้งใจทำงานของผู้อื่นที่ช่วยขุดดินเหมือนกัน แม้จะแตกต่างกันจากภายนอก บ้างก็แรงน้อยกว่ามาก แต่ก็พยายามช่วยเหลือชาวบ้านเต็มที่เท่าที่มีแรง เห็นทีมงานอาสาสมัครระยะยาวที่เสียสละเวลาส่วนตัวของตนไปช่วยคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ความงดงามของเรื่องดีดีใกล้ตัวน้องๆ ประกอบกับเรื่องดีดีในตัวของเขาเองค่อยๆ ผลิบานขึ้น ทำให้น้องๆ หน้าโหดหลั่งน้ำตาออกมาขณะพูดกับเพื่อนอาสาที่ร่วมกันขุดดินมาทั้งวัน “ขอบคุณนะครับที่ให้เปิดโอกาสพวกผมมาทำเรื่องดีดี อย่าตัดสินพวกผมแต่จากภายนอก แม้เราจะเคยทำเรื่องไม่ดีมาก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่อยากทำดีนะ...” พูดไปน้ำตาร่วงไป หน้าตาที่ดูเหี้ยมเกรียมเมื่อเช้ากลายเป็นเพียงเด็กใจดีคนหนึ่งในตอนค่ำ เรียกน้ำตาผู้ฟังรอบวง

เราไม่รู้ว่าน้องๆ เหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ถาวรแค่ไหน เมื่อเขากลับสังคมเดิมของเขา คนจะเข้าใจเขาเหมือนที่พวกเราเห็นน้องๆ กลุ่มนี้ทำดีหรือไม่ เป็นคำถามคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อคนดีทำผิดพลาดเช่นเดียวกัน



โดย อดิศร จันทรสุข เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านบทความของคุณวิจักขณ์ พานิช เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาติดดี?” ซึ่งมีหลายประเด็นที่ “สะกิด” ให้ต้องหันกลับมาทบทวนความคิดและจุดยืนของตนเองทั้งในเรื่องส่วนตัวและอาชีพการงานอีกครั้ง ความ “แรง” ของบทความนั้น สำหรับผมถือว่าเป็นแรงในด้านบวก เพราะทำให้ตนเองเกิด “แรง” บันดาลใจที่อยากจะเขียนเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งได้ไปประสบมากับตนเองเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านท่านอื่น อันที่จริง อาจจะเรียกบทความนี้ว่าเป็นเพียงความคิดเห็นในห้วงคำนึง หรือบทสนทนาในจินตนาการระหว่างผมกับตัวหนังสือก็เป็นได้ครับ

ผมอยากจะแบ่งปันเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับตัวผมเองเป็นอย่างมาก คือผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง โดยเชิญมิตรสหายทั้งชาวต่างประเทศ ที่อยู่ในเมืองไทยและเพื่อนคนไทยอีกสองสามคนมาร่วมงานด้วย หลังจากวงอาหารเสร็จสิ้นลง วงสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นและออกรสชาติ ด้วยการที่เพื่อนฝรั่ง เริ่มอภิปรายในประเด็นทางสังคมบางประเด็นกันอย่างเต็มที่ บทสนทนาจากตรงนี้ไปค่อยๆ ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคนไทยนั่งมองตาแป๋ว พยักหน้าหงึกหงักตามระเบียบ ตัวผมเองตลอดเวลาที่ฟังก็รู้สึกมีความเห็นบางอย่างที่อยากจะร่วมแสดง แต่เมื่อวงสนทนาไม่เปิดช่องว่างให้เราได้แสดงความคิด หรืออาจจะเป็นเพราะตัวเราเองก็ติด “เกรงใจ” ผมจึงเปลี่ยนไปมีบทสนทนากับพวกเค้าในใจแทน จนกระทั่งช่วงหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองกำลังอึดอัดจนถึงที่สุด เมื่อเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ได้วิจารณ์คนไทยแบบเหมารวมว่า เค้าทนคนไทยที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกในวงสนทนาไม่ได้เอาเสียเลย ทำไมพวกคนไทยถึงเป็นพวกที่เอาแต่เก็บงำความรู้สึกของตนเองไว้กันจัง มาถึงตรงนี้ ผมจึงให้โอกาสตนเองได้พูดบ้าง และสะท้อนเขาไปว่า จริงๆ แล้วคนไทย (หรือแม้กระทั่งชาติเอเชีย) ไม่ใช่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกเสมอไป แต่เป็นเพราะพวกเรานั้นอยู่กับความเชื่อขั้นพื้นฐานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เราจึงไม่ทำ เห็นได้ชัดๆ ว่าเรามักจะเรียกสรรพนามนำหน้าชื่อด้วยความสัมพันธ์ในเชิงญาติพี่น้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พี่ ป้า น้า อา น้อง ฯลฯ ทั้งกับคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในสังคมตะวันตกซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง นอกจากนั้น เรื่องที่เค้าถกเถียงกัน จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อยุติทางความคิดได้ เพราะในท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่ “ความคิด” ไม่ใช่ “ความจริง” คนไทยสมัยก่อนอาจจะเห็นธรรมชาติตรงนี้ และมองว่าการสนทนาแบบค้นหาความจริง (ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะเป็นเพียงแค่หลุมพรางทางความคิด) จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเสียเวลาไปเปล่าๆ โดยไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันสักเท่าใด

บทสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมาจบลงตรงที่เราพอจะเห็นพ้องกันในที่สุดว่า วัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก (ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความเป็นตะวันตกและตะวันออกก็เป็นเรื่องสมมติอีกเช่นกัน) มักจะเริ่มต้นจากความเชื่อว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้อง และมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด ดังนั้น การสนทนากันของคนในสังคมจึงมุ่งเน้นที่การวิวาทะ แสวงหาความจริงอันสูงสุด (ซึ่งจะมีจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้อีกนั่นแหละ) แล้วคนเอเชียอย่างพวกเราก็รับเอาวิถีนั้นไปอย่างชื่นชม เพราะเราเชื่อว่านั้นคือวิถีแห่งปราชญ์ หรือวิถีแห่งผู้รู้ (ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์หรือผู้รู้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ทุกท่านส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญญาญาณ หรือการ “ปิ๊งแว้บ” ในช่วงเวลาที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ อยู่ในธรรมชาติแทบทั้งสิ้น) วันนั้น เราจบบทสนทนาลงด้วยการที่ผมเองย้ำกับเค้าว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่ชุดความคิดและชุดความจริงในโลกประสบการณ์อันแสนจะคับแคบของผม (ก็โลกนี้เกิดขึ้นมาตั้งไม่รู้กี่ล้านปีแล้ว แต่เราเองมีประสบการณ์ชีวิตแค่ไม่ถึงเศษเสี้ยวอันเล็กน้อยแทบไม่มีค่าอะไรในจักรวาลนี้เลย ไฉนเราจึงจะกล่าวอ้าง ว่าสิ่งใดคือความจริงของชีวิตกันได้) ซึ่งแม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงความจริงบางเรื่องเพราะไม่สำคัญต่อการนำพามนุษย์ไปสู่การหลุดพ้น

ผมพบว่า การไม่ระบุว่าสิ่งใดถูกหรือผิด คือการเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ ได้แสดงตัวของมันเองให้ปรากฏชัดขึ้นในห้วงคำนึงของเรา แต่ยังไงก็ตาม มนุษย์ก็คงตกหลุมพรางอันลึกล้ำของจิตอยู่วันยังค่ำ ธรรมชาติของมนุษย์ผูกติดอยู่กับการประเมินเสมอๆ แม้เราจะพร่ำบอกตนเองและผู้อื่นว่าเราไม่ควรประเมินอะไรอย่างฉาบฉวย ไม่ควรแบ่งแยกขาว-ดำ เพราะโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ในขณะที่เรากำลังบอกเช่นนั้น เราเองก็กำลังประเมินคุณค่าของ “การไม่ประเมิน” ว่าเป็นสิ่งที่ “สูงกว่า” การประเมินใช่หรือไม่?

ผมคิดว่าอย่างไรทางสายกลางก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิต อะไรที่เรารู้ว่าทำแล้วดีกับตัวเราเอง ก็จงทำเถิด และอะไรที่เรารู้ว่าถ้าทำแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับตัวเราเอง แต่ถ้าเรายังอยากจะทำ ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่อย่างน้อย เราควรจะมีสติ (ในทางโลก) รับรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันส่งผลเสียต่อใครบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะที่พื้นฐานที่สุดคือร่างกาย และจิตใจของเราเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งในทางตรงและทางอ้อม ต่างก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อสรรพสิ่งรอบตัว ตั้งแต่เม็ดทรายไปจนถึงระดับจักรวาลเสมอ

ในเรื่องการติดดี ดังบทความของคุณวิจักขณ์ ก็เช่นกัน.. ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า บางครั้งเราก็ให้คุณค่าของการทำความดีกันอย่างสุดโต่ง และตัดสินความดีความชั่ว แบบขาว-ดำ แต่ผมอยากจะเพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่า ในอีกมุมหนึ่ง “การติดดี” ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนัก อย่างน้อยก็เป็นไปในทางเร้ากุศลให้กับตัวเอง และคนรอบตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสแสร้งปั้นแต่งให้คนรอบข้างชื่นชม การไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำตัวดีๆ ในสังคม ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถชื่นชมได้เช่นกันมิใช่หรือ? เพราะอย่างน้อย ถ้าคนทำรู้ว่าการที่เค้าไม่ทำร้ายตนเองและสังคมจะนำสิ่งที่ดีกลับมาสู่ชีวิตของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้บ้าง จริงๆ แล้วสังคมของเรานอกจากจะเต็มไปด้วยคนติดดีแล้ว ผมว่าเรายังขาดคนที่สามารถชื่นชมกับคนทำความดี (แม้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ) ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน

เขียนมาถึงตรงนี้ คงต้องยกความดีให้กับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ที่มักจะพร่ำบอกกับพวกเราเสมอว่า ความถูกหรือความผิด ความดีหรือความไม่ดีนั้นจริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก มันมีแต่ความจริงที่อยู่ในใจของเราต่างหาก ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ และเลิกโกหกตัวเราเองเสียที เมื่อนั้น เราถึงจะหลุดพ้นจาก “การติด” ในทุกเรื่องๆ ได้



โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๙
--------------------------------------------

พวกเราในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาหลายคนต่างมีงานประจำเป็นหลักของตัวเองอยู่แล้ว แต่เรามีภารกิจหลักอย่างหนึ่งร่วมกัน คือการเข้าร่วมในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม โครงการจัดฝึกอบรมขึ้นตลอดปีนี้จนถึงต้นปีหน้า สำหรับกลุ่มคณะทำงานของเครือข่าย โดยมีการบ้านให้ทำด้วยตัวเองตลอดระยะเวลาดังกล่าว ไม่รวมนัดประชุมที่เกี่ยวข้องเรื่อยๆ การฝึกอบรมมีอยู่ประมาณ ๙-๑๐ ครั้ง ตัวอย่างเช่น การเจริญสติภาวนา การทำงานเชิงอาสาสมัคร นพลักษณ์ สุนทรียสนทนา การเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นต้น

โดยเราคาดหวังว่าความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนและประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมฝึกอบรม จะเป็นพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรและงานส่งเสริมจิตตปัญญาศึกษาในสังคมไทย การฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ กล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การเรียนรู้ที่อาศัยจินตนาการ การเรียนรู้เชิงแนวคิด การเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
เกือบทุกครั้งตั้งแต่การประชุมหรือการฝึกอบรม ไม่ว่าจะใช้เวลาไม่นาน หรือเป็นวัน หรือข้ามวัน หรือหลายๆวัน มักมีการบอกกล่าวให้ได้ยินในทำนองว่า “ทำใจให้สบาย” “ให้ตัดกังวลเรื่องอื่น” “มาแค่ตัวกับหัวใจก็พอ” ซึ่งคงเป็นความพยายามของผู้จัดให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมมากที่สุด สำหรับผู้เขียนตอนนี้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือการสะสางงานให้แล้วเสร็จก่อนไปเข้าร่วมฝึกอบรม ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนเหนื่อยมากกว่าปกติบ้าง หรือต้องมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติงานแทนหรือช่วยคิดต่อหากเป็นงานที่เข้ามาอย่างเร่งด่วนโดยไม่อยู่ในแผนของเรา โดยไม่คาดคิดมาก่อน หากเป็นงานที่พอจะเลื่อนเวลาออกไปได้ ก็จะเลื่อนออกไป เรียกว่ายังสามารถจัดการเวลาได้ โดยที่งานการประจำยังไม่เสียหายหรือไปเบียดเบียนเพื่อนร่วมงานเข้า

ลองถามใจตัวเองว่า...ที่ผ่านมาการเข้าร่วมแต่ละครั้งนั้น ตัวเองมีการเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างไร? คิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า เตรียมตัวเต็มร้อยเสมอ รู้สึกสนุกเสียด้วยซ้ำ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งผู้คนและสถานที่ก็เป็นใจให้เราเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (อันเป็นความหมายหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษาที่มีผู้กล่าวไว้) ในการฝึกอบรมที่ผ่านมาไม่กี่ครั้งนี้ แม้จะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ล้วนมีกิจกรรมที่เตือนให้พยายามเฝ้ามองอารมณ์ รับรู้ความรู้สึก ตามให้ทันความนึกคิดที่เลยเถิดไปถึงไหนต่อไหน (ประโยคเหล่านี้มักจะปรากฏให้เห็นเสมอในหนังสือหรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ การเจริญสติวิปัสสนา) นอกจากนี้ กระบวนการในการฝึกอบรมยังมีกิจกรรมที่ให้มีการถ่ายทอดออกมาให้รับรู้กันดังๆ ด้วย

แปลกแต่จริง... เมื่อกลับมาในชีวิตปกติประจำวัน กิจกรรมย้ำเตือนดังกล่าวยังติดตามตัวมาด้วย ให้เราได้สัมผัสใจตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น ใจที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความนึกคิด เอาแค่ความนึกคิดไปเรื่อยๆ หากหยุดยั้งไว้ได้ทัน กลับช่วยเพิ่มเวลาในการทำงานทำการอย่างมากมายโดยไม่ได้คาดหมาย

แล้วอย่างอื่นๆ อีกเล่า เรื่องที่เขาว่ากันว่า “เปิดใจ” คงเป็นอย่างนี้เอง คือ ผู้เขียนสามารถพูดได้ตรงความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ยอมเปิดเผยความรู้สึกเบื้องหลังคำพูด คือรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรจริงๆ เช่น ขอโทษนะที่พูดอย่างนั้นเพราะหงุดหงิด เรารู้สึกน้อยใจจังที่...ทำอย่างนี้ เสียใจนะที่ทำอย่างนั้นไป เครียดเพราะทำไม่เป็นช่วยสอนหน่อย ฯลฯ ไม่มีลีลาและชั้นเชิงเท่าไร ไม่ต้องอาย เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย เป็นตัวของตัวเองที่จริงใจต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้น สบายๆ นะในแต่ละวันที่ผ่านๆ ไป

นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกมา เราเองต้องพยายามตั้งใจฟังคนอื่นด้วย คำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึก จากใจของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมก็สอนเราให้รู้จักเขามากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเราไม่รู้จักเขามาก่อนเลยจริงๆ เรามองเขาในแง่มุมอื่นมาก่อน กระบวนการนี้เปลี่ยน “ความคิด” เราได้เลย ผลพวงตามมาทำให้ตัวเราต้องระวังใจตัวเอง ระวังความคิดของเราที่มีต่อผู้คนโดยรอบ ต้องคิดดีไว้ก่อนเลย อย่าคิด! อย่าคิด! อย่าเพิ่งมีปฏิกิริยาทางลบออกไปต่อทุกสิ่งที่เขาแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ ทำได้เพียงแค่นี้ ดูเหมือนว่าตัวเราจะมีเกราะคุ้มกันภัยทางใจอย่างดีทีเดียว ไม่ต้องเครียดหรืออารมณ์กวัดแกว่งเพราะคนอื่น

ครั้งนี้ผู้เขียนได้มาเล่าประสบการณ์ตรง หรืออาจจะเป็นประสบการณ์ร่วมกับหลายๆคน เป็นส่วนหนึ่งของการผ่านบททดสอบเล็กๆ แต่มาเรื่อยๆ เพราะแท้จริงแล้วบททดสอบในชีวิตประจำวันที่จะทำให้ใจเราไม่ปกติมีอยู่ตลอดเวลา แต่การที่พวกเรามีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาจิตหรือพัฒนาด้านในตนเอง ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดหลากหลาย จะทำให้เราได้เรียนรู้และมีทักษะ เพื่อเผชิญหน้ากับบททดสอบเดิมๆเหล่านั้นใหม่อย่างตั้งใจ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับบททดสอบใหม่ๆ ที่จะหนีไม่พ้นการระวังรักษาจิตใจเราให้ปกติ

การฝึกอบรมนอกเหนือจากการฝึกอบรมในโครงการนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายและหลากหลาย ในอนาคตเมื่อได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ความรู้เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนในสังคมไทย

Newer Posts Older Posts Home