โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ที่พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสไปฟังท่านอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เทศน์ ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ท่านก็เทศน์เรื่องเดียวกันทุกครั้งนั่นแหละ คือเรื่องการฝึกสติ เทศน์กี่ครั้งๆ ก็เหมือนกัน ไม่ต้องมาฟังบ่อยๆ หรอก สมัยท่านเองเรียนรู้จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์ นานๆ ท่านจึงจะไปกราบอาจารย์สักที ได้ข้อคิดแนวทางปฏิบัติแล้วก็กลับมาทำ มาเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังเป็นปีๆ จึงกลับไปกราบเรียนปรึกษาขอข้อแนะนำอีก ไม่ใช่เป็นลูกศิษย์ติดอาจารย์ คอยติดตามไปเฝ้าอยู่เรื่อยๆ

คำสอนของท่านทำให้ได้คิดว่า ปัจจุบันแม้แต่ผู้สนใจจะพัฒนาตนเองหรือผู้ใฝ่ธรรมก็ยังมีลักษณะติดอาจารย์ คอยเฝ้าแสวงหาว่ามีอาจารย์ดีที่ไหน จะได้ไปเฝ้าไปกราบบ่อยๆ คอยไปฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้ ตนเองมีธรรมะ หากจนแล้วจนรอด สำหรับหลายๆ คนธรรมะก็ไม่ค่อยก้าวหน้า ได้แต่ฟัง ได้แต่รู้ แต่ไม่มีธรรมะเกิดขึ้นในตนเองจริงๆ มากนัก

ภาพนี้สะท้อนลักษณะของ การเรียนรู้ของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรู้นอกตัว คิดว่าความรู้คือข้อมูลหรือวิชาการที่สามารถแสวงหาได้หรือขอได้จากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกิดลักษณะพึ่งพิง คิดว่าความรู้เป็นของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่คิดแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การรับเอาความรู้จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวย ไม่ผ่านการใคร่ครวญ และไม่ประสานกับการฝึกฝนหรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริง เข้าใจว่าการเรียนรู้เป็นเพียงการ “ได้รับรู้” และจดจำได้

การเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษา และในภาคส่วนอื่นๆ เช่น การอบรมในองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่สะท้อนการเรียนรู้แบบนี้จึงเน้นการ “บอกให้รู้” โดยการบรรยายให้ฟัง ให้ข้อมูลเนื้อหาวิชาการ หรือวิเคราะห์ให้ฟัง โดยไม่ได้เน้นให้เกิดการเรียนรู้ภายในตัวผู้คน ผู้เรียนมีหน้าที่รับ ผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอด ผู้เรียนไม่มีการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นในตน มีแต่คอยรับเอา ตัวผู้สอนนั้น สอนๆ ไปก็ไม่เกิดความรู้ใหม่เหมือนกัน ต้องคอยวิ่งไปหาความรู้จากตำราบ้าง จากเมืองนอกเมืองนาบ้าง ไปรับการถ่ายทอดจากเขามาอีกทีหนึ่ง เพื่อมาบอกเล่าต่อ

สภาพของการศึกษาแบบนี้ทำให้เกิดการเสาะแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตและปัญญาของมนุษย์อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุล สามารถใช้ความรู้ในตนมาสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุขและเสมอภาคได้ คือ แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ดังที่อาจารย์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ กล่าวถึงไปบ้างแล้วในตอนแรกของคอลัมน์นี้

กลุ่มนักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ได้รวมตัวกันในชื่อ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเริ่มเคลื่อนงานผลักดันให้กระแสการเรียนรู้แนวนี้เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย ที่ใช้คำว่า “เกิดขึ้นใหม่” เพราะเดิมทีสังคมไทยก็มีการเรียนรู้ทำนองนี้อยู่แล้ว หากเป็นการเรียนหรือฝึกการปฏิบัติในวัดหรือในแง่มุมทางศาสนา มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติหลายท่าน เช่น หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ชา และท่านพุทธทาส แต่การเรียนทางโลกที่อยู่นอกวัดในระบบการศึกษากลับยังไม่ค่อยมีการบูรณาการการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปมากนัก

เราได้เริ่มต้นกันด้วยการตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ก้าวพ้นตนเอง (Transformative Learning) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนว่าอะไรทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน คำตอบที่ได้มีหลายหลากมากมาย บางคนเติบโตผ่านกระบวนการของการทำกิจกรรมทางสังคม บางคนเติบโตจากการปฏิบัติธรรม บางคนเติบโตจากปัญหาที่ต้องเผชิญและได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง บางคนเรียนรู้ผ่านการคิดใคร่ครวญ บางคนเรียนรู้ผ่านการต้องเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของตนเช่นความกลัว บางคนก็ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ รวมความแล้วก็คือ ประตูที่เปิดให้แต่ละคนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ภายในที่ลึกซึ้งนั้นมีได้หลายหนทาง แต่มีประเด็นร่วมที่เป็นหัวใจในหลายๆ ประสบการณ์นั้นอยู่สองสามประการ

ข้อแรกคือการมีประสบการณ์ที่ “กระทบใจ” หรือประสบการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น ประสบการณ์เฉียดตาย แต่บางคนอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เช่น นั่งมองดอกหญ้าดอกหนึ่ง เกิดความรู้สึกที่มากระทบใจว่ามันช่างงดงามนัก แล้วเกิดจุดประกายคำถามขึ้นในใจกับชีวิตที่รีบเร่ง เอาแต่ทำงานทำเงิน จนไม่มีเวลาชื่นชมกับชีวิต

ประสบการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสภาวะของใจที่สงบนิ่งและเปิดรับพร้อมที่จะเรียนรู้ ทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญ และเปิดใจให้ถูกกระทบและสัมผัสถึงความดี ความงามและความจริงในธรรมชาติได้ หรือยอมรับความจริงบางอย่างที่เคยปิดหูปิดตากับมันมาก่อน เช่น การยอมรับความน่าเกลียดของตัวเราได้อย่างตรงไปตรงมา

ข้อต่อมาคือไม่ว่าใครจะเริ่มต้นที่จุดไหน ก็จะต้องมีทั้งสามองค์ประกอบในการเรียนรู้คือ การคิดใคร่ครวญ การรับรู้ที่ใจ และการลงมือปฏิบัติ ประสานสอดคล้องกันไปเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดใจรับฟัง มอง หรืออ่านอย่างลึกซึ้ง ด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ซึมซับได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ แล้วน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูโดยแยบคาย จากนั้นก็นำไปทดลองทำ ลองปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าสังเกตกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในตนอย่างต่อเนื่องด้วยสติที่รู้ตัวตามความเป็นจริง รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และธรรมชาติของจิตใจได้ตามที่เป็นจริง

ทั้งหมดนี้ตรงกับที่วิจักขณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของ Contemplative Education ว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ และตรงกับคำไทยที่พูดถึงการเรียนรู้ว่าจะต้องเรียนรู้ให้ “เข้าใจ” ที่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่เสมอ โดยอาจจะไม่ได้ฉุกคิดถึงความลึกซึ้งของคำๆ นี้มากนัก ทั้งที่จริงแล้วคำว่า “เข้าใจ” นี้เป็นคำไทยที่งดงามและสื่อความได้ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงจะต้องเข้าให้ถึงใจ คือเกิดความ “เข้าใจ” อย่างลึกซึ้งจนเกิดปัญญา เกิดเป็นความรู้ที่อยู่ในใจ และเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในชีวิตจริง เป็นความรู้ที่พัฒนาต่อเนื่องอยู่ในตัวของผู้เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ดังที่ท่านพุทธทาสเคยอธิบายไว้ในเรื่องไตรสิกขาว่า “ปัญญา ต้องเป็นการรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยใจจริง ๆ ด้วยการผ่านสิ่งนั้น ๆ ไปแล้ว โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่าผ่านสิ่งนั้นไปแล้ว หมายถึง อาการที่เราชอบใช้เรียกด้วยคำต่างประเทศคำหนึ่งคือคำว่าExperience”

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home