โดย ธนา นิลชัยโกวิทย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙


-------------------------------------------------


ครั้งหนึ่งเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ประชุมกันที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ช่วงบ่าย อาจารย์ ประภาภัทร นิยม หรือพี่อ๋อย ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณได้ชวนให้พวกเราลองไปปั้นถ้วยดินกันดู บอกว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากการปั้นดินนี้มากอย่างนึกไม่ถึงทีเดียว เมื่อลงไปถึงโรงปั้น ครูที่สอนปั้นก็เริ่มอธิบายถึงการเตรียมดิน วิธีถีบแป้นหมุน การนวดดิน ปั้นก้อนดินวางลงบนแป้น แล้วค่อยๆ ขึ้นรูป แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องเข้าใจ เช่น การเตรียมดินไม่ให้แห้งหรือเปียกเกินไป การเหวี่ยงดินลงบนศูนย์ด้วยน้ำหนักที่แรงพอให้ดินติดบนแป้น ซึ่งต้องให้อยู่ตรงกลางแป้นพอดี ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการ “เสียศูนย์” คือถ้วยหรือชามที่ปั้นจะเบี้ยว เพราะได้รับแรงเหวี่ยงจากแป้นหมุนไม่สมดุล แต่ที่สำคัญที่สุดคือการขึ้นรูป ซึ่งพี่อ๋อยย้ำว่าเราต้องเข้าใจธรรมชาติของดิน และรับรู้ธรรมชาตินั้นผ่านมือทั้งสองข้างจากการสัมผัสอย่างอ่อนโยนด้วยใจสงบ ขณะที่ค่อยๆ ประคองให้ดินก้อนนั้นถูกขึ้นรูปมาตามที่เราตั้งใจ จะเป็นถ้วย ชาม แจกัน หรืออะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักก็คือเราไม่สามารถจะบังคับก้อนดินให้เป็นตามใจเรา และจะใจร้อนไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นดินจะเสียรูป ยิ่งพยายามเร่ง พยายามบังคับก็จะยิ่งเละ ไม่เป็นรูป ไม่เป็นทรง และผลงานที่ออกมาก็จะฟ้องตัวมันเองว่าใจของเราขณะปั้นเป็นอย่างไร
ผมเริ่มลงมือปั้นด้วยความรู้สึกเขินๆ เกร็งๆ กลัวจะทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างเก้กัง ไม่ค่อยถนัดการทำอะไรที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย แม้แต่ขับรถมานาน ก็ยังถือว่าเป็นคนขับรถไม่เก่ง เวลาต้องทำกิจกรรมเข้าจังหวะก็เงอะๆ งะๆ ทำไม่ค่อยถูก ผลงานที่ออกมาก็อย่างที่เห็นแหละครับ ถ้วยดินที่ปั้นด้วยความเกร็งบวกความใจร้อนพยายามจะบังคับดินให้ได้อย่างใจในบางช่วงตอน ทำให้ได้ถ้วยดินที่ปากบาน ขอบไม่เสมอกัน และก้นบางเกินไปจนทะลุ จนต้องตัดสินใจบีบให้เป็นรูปโค้งเว้าเพื่อให้พอจะดูสวยขึ้นบ้าง

ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ข้อแรก ดีเพราะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทำให้เกิดความ “เข้าใจ” ที่ลึกซึ้งและประทับใจ ได้ทั้งแง่คิดและได้มองเห็นตัวเองมากเกินกว่าที่จะรับรู้ได้ผ่านการสอนด้วยการบอกกล่าวให้ฟัง ข้อต่อมา ดีเพราะแง่คิดที่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่ตัวเองทำ ทั้งในฐานะหมอที่ต้องดูแลช่วยแก้ไขปัญหาด้านจิตใจให้คนอื่น และในฐานะครูที่ต้องสอนทั้งนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่กำลังฝึกหัดเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยให้ผมเข้าใจหลักการเรื่องการถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ “child centered” ซึ่งเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ในช่วงที่กระแสความสนใจต่อการปฏิรูปการศึกษา ผมเข้าใจชัดเจนขึ้นมากว่า การถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือการต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนและเริ่มต้นจากจุดนั้น โดยจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง ไม่ใช่การตามใจเด็ก อย่างที่เคยมีบางคนกลัวกัน เพราะการถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่การให้อิสระกับผู้เรียนอย่างไม่มีขอบเขต และไม่ใช่การปล่อยให้ผู้เรียนเรียนเอาเองตามใจชอบ ตามยถากรรม หรือมองว่าการเรียนรู้ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาคกันตลอดเวลา

ที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติ ผู้จัดการเรียนรู้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในเรื่องที่ตนจะจัดให้มีการเรียนรู้เกิดขึ้นมากกว่าผู้เรียน อย่างน้อยก็ในแง่ใดแง่หนึ่ง คือ มีความรู้หรือทักษะในเรื่องนั้นๆ สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม และสื่อสารกับผู้เรียนได้ดี รวมทั้งเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และสิ่งใดสอดคล้องกับพื้นฐานของผู้เรียน ถ้าผู้จัดการเรียนรู้อ่อนด้อยกว่าผู้เรียนในทุกๆ ด้านก็คงไม่สามารถนำพาให้เกิดการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้นได้ ถ้ามองจากแง่นี้จะเห็นได้ว่าผู้จัดการเรียนรู้หรือครูมีอำนาจบางอย่างเหนือกว่าผู้เรียน คืออำนาจของความรู้

ปัญหาที่สำคัญของระบบการศึกษาแบบเก่าคือความสับสนระหว่างอำนาจความรู้ กับอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจเชิงระบบ การมีอำนาจในตนที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่ลุ่มลึก ซึ่งส่งผลให้ครูสามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นได้อย่างเหมาะสมนั้น มิได้หมายความว่าครูควรจะใช้อำนาจเชิงระบบในการเป็นผู้ชี้นำและตัดสินใจแทนผู้เรียนทั้งหมดว่าควรเรียนรู้อะไร อย่างไร คอยควบคุมและตัดสินผู้เรียนว่าทำได้ดีแล้วหรือยัง ในเมื่อแม้แต่ช่างปั้นก็ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของดิน ต้องค่อยๆ ประคองให้ดินรีดตัวขึ้นช้าๆ ขณะขึ้นรูป จนเป็นรูปเป็นร่าง ครูจึงต้องเข้าใจธรรมชาติในตัวเด็กหรือผู้เรียนแต่ละคนซึ่งย่อมซับซ้อนกว่าดินแต่ละก้อนมากนัก

ธรรมชาติในตัวผู้เรียนแต่ละคนถูกกำหนดมาตั้งแต่ระดับพัฒนาการของสมองและร่างกาย ประสบการณ์การเรียนรู้ สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม และลักษณะนิสัยของแต่ละคน ผู้เรียนจึงมิใช่กระดาษเปล่าที่จะเขียนและบันทึกอะไรลงไปก็ปรากฏตามนั้น แต่ผู้เรียนจะมีการตีความจากฐานความรู้เดิม และสามารถเกิดการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้นสูงกว่าความรู้เดิมได้
ตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ในระบบการศึกษาหรือในโรงเรียนได้ก็คือ สภาพของเด็กในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กทุกวันนี้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง คือเติบโตขึ้นมาในสังคมบริโภคที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า ข่าวสาร ข้อมูล เทคโนโลยีต่างๆ เช่น วิดีโอเกมส์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้เด็กมีแนวโน้มจะมีสมาธิสั้นขึ้น และเบื่อง่ายขึ้น มีการสำรวจเด็กในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เกรด 3 ถึงเกรด 12 ในช่วงกลางทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าเด็กให้ความสนใจกับการเรียนรู้ทางสายตา (Visual) และการสัมผัสกับการเคลื่อนไหว (Kinesthetic-Tactile) มากกว่าการเรียนรู้ด้วยการฟัง (Auditory) ถ้าเราเข้าใจสภาพความเป็นจริงนี้เราควรจะทำอย่างไร?

ด้านหนึ่งครูและสถานศึกษาจะต้องจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะของเด็กมากขึ้น แทนที่จะเน้นการเรียนรู้จากการฟังบรรยายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจจะจัดการเรียนรู้โดยการใช้ภาพและสื่อต่างๆตลอดจนกิจกรรมที่ให้เด็กมีส่วนร่วม เช่นการทดลองปฏิบัติ การทัศนศึกษานอกสถานที่ให้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะต้องเสริมทักษะการฟัง การอ่าน และการคิดใคร่ครวญให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ และส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดเชิงวิเคราะห์ซึ่งจะเกิดได้ดีกว่าจากการอ่านหรือการฟังเมื่อเทียบกับการดู เพราะมีพื้นที่ว่างให้จินตนาการเอง และใช้เวลาในการคิดใคร่ครวญได้มากกว่า แต่ถ้าครูไม่ได้สนใจความเป็นจริงนี้ ก็จะทำการสอนไปตามความเคยชินเดิมๆ ของตน และเกิดอาการหงุดหงิดว่า “เด็กสมัยนี้มันช่างไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย”

ถ้าเทียบกับช่างปั้น ครูที่ดีจะต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของดินเป็นอย่างไร ควรจะใส่น้ำมากน้อยแค่ไหน ถ้าใส่น้อยไปดินก็จะแข็งจนปั้นไม่ได้ ใส่น้ำมากไปดินก็จะเหลวจนไม่อยู่ตัว จึงต้องใส่น้ำให้พอเหมาะให้ดินมีความเหนียวแต่นุ่มและยืดหยุ่น แล้วจึงค่อยๆ ใช้มือประคองขึ้นรูปดินนั้นไปตามทิศทางที่ต้อง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home