โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๙
-----------------------------------------

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูสอนวิชาสาขามนุษยศาสตร์คนหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน โดยมองก้าวข้ามความแตกต่าง ไม่ว่าเขาคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย หรือเป็นเพศทางเลือก ไม่ว่าเขาเป็นคนเชื้อชาติไทย มลายู เขมร ลาว เป็นคนดำ คนขาว หรือเป็นผู้ลี้ภัย ไม่ว่าเขาเป็นลูกหลานผู้มีความสำคัญ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาที่มาจากต่างจังหวัด และที่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่จะประกาศตัวว่า “ไม่มีศาสนา” เขาเหล่านั้นก็มี “ความเป็นมนุษย์” ที่รักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนๆ กันทุกคน

การสอนให้นักศึกษาที่เป็นวัยรุ่นได้ตระหนักถึง “คุณค่าของความเป็นคน” ของตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่ยากและไม่น่าเร้าใจเท่ากับการสอนวิชาต่างๆ ที่สำคัญ ในสาขาวิชาชีพของตน อยากกล่าวให้เห็นตัวอย่างจริง เช่น นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปก็จะให้ความสำคัญ ตั้งใจทำงาน ในวิชาที่เป็นแกนของสาขาของตน เช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี สรีรศาสตร์ เป็นต้น เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ ต้องเรียนวิชา เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้สอน ที่จะต้องทำให้ นักศึกษาเหล่านั้นเห็นความสำคัญ
ในข้อเขียนเล็กๆ นี้ อยากแบ่งปันประสบการณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ในการสอดแทรกการเรียนรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น โดยผ่านกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีประสบการณ์ร่วมง่ายๆ ดังต่อไปนี้

โดยทั่วไป นักศึกษาในช่วงปีต้นๆ ของระดับปริญญาตรีที่เพิ่งเปลี่ยนสถานภาพจากนักเรียนมัธยมศึกษา มาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ดูเหมือนจะมีอิสรภาพมากขึ้น กำลังเรียนรู้ และพัฒนารูปแบบในการดำเนินชีวิตของตน บางคนอาจกำลังสับสน บางคนกำลังหาพ่อแบบ แม่แบบ ที่ตนเองอยากเป็นเหมือน ซึ่งอาจเป็นบุคคลในสังคม ในครอบครัว หรือแม้แต่ดาราหญิงชายทั้งหลายที่ตนชื่นชอบ จากการสังเกต นักศึกษาเหล่านี้อยากพัฒนา “ความมั่นใจในตนเอง” การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีความมั่นใจในตนเองได้ บุคคลนั้น ควรมีสิ่งที่ดีงาม ที่ตนเองภูมิใจ ยึดเป็นหลัก โดยเมื่อนึกถึงครั้งใด จะช่วยเสริมสร้างพลังใจ ความมั่นใจในคุณค่าของตนเองได้

ครั้งหนึ่งได้แนะนำกิจกรรม การนับเม็ดถั่วเขียว ที่ได้รับการถ่ายทอดและร่วมกิจกรรมการเจริญสติ จากท่านอาจารย์อมรา สาขากร ณ สวนพุทธธรรม จังหวัดอยุธยา ได้นำกิจกรรมนี้มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน กล่าวคือ
แจกถ้วยพลาสติกเล็กๆ สำหรับใส่น้ำจิ้มให้นักศึกษาคนละสองถ้วย ถ้วยหนึ่งใส่เม็ดถั่วเขียวจำนวนหนึ่ง แล้วให้ทุกๆ คน นั่งสงบนิ่ง ใช้เวลา “อยู่กับตนเอง” ให้ย้อนนึกถึง ชีวิต และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ว่าเหตุการณ์ใดที่ตนเองพอใจ เป็นการทำความดี แล้วอยากให้รางวัลแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่าง “มีสติ” และ “ซื่อสัตย์จริงใจ” ต่อเรื่องราวดีๆ ในชีวิตตนเองทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ก็ให้หยิบเม็ดถั่วเขียวจากถ้วยหนึ่ง ไปใส่ในถ้วยที่ว่าง ทีละเม็ด ทีละเม็ด ตามเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ตนคิดอยากให้รางวัลตนเอง

จากการสังเกต นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ ตั้งใจและพยายามใช้สมาธิ เพื่อคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของตนเองที่เป็นความดี และสามารถให้รางวัลแก่ตนเองได้ ภาพความตั้งใจ และเสียงเม็ดถั่วเขียวกระทบถ้วยพลาสติกทีละเม็ด ทีละเม็ด อย่างช้าๆ และมีสติ เป็นภาพที่อยากจดจำ และให้ได้เรียนรู้ว่า วัยรุ่นไทยก็สามารถตระหนักรู้ และพัฒนาสมาธิได้ไม่ยากนัก เวลาผ่านไปสิบนาที บางคนได้เม็ดถั่วเขียวในอีกถ้วยหนึ่ง มากบ้าง น้อยบ้าง หลังจากนั้นให้ทุกคน “ฟังอย่างตั้งใจ” ในเรื่องราวและเหตุผลของเพื่อนแต่ละคนที่เขาคิดว่าเป็นความดีที่ได้กระทำมา

ความดีที่พวกเขาคิด เป็นความดีที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย บางคนบอกว่า วันนี้ได้ช่วยงานที่บ้านก่อนมาเรียน เป็นความดีเรื่องหนึ่งที่เขาอยากใส่เม็ดถั่วเขียว ให้รางวัลตัวเองหนึ่งเม็ด บางคนบอกว่า วันนี้ขึ้นรถเมล์ ได้ลุกให้ผู้หญิงนั่ง บางคนบอกว่า ได้ช่วยคนแก่ เข็นรถเข็นให้พ้นลูกระนาดที่สูงบนถนน บางคนบอกว่า ได้ช่วยอธิบายการบ้านแก่เพื่อน บางคนบอกว่า ให้เพื่อนที่เดือดร้อนยืมเงิน บางคนนึกถึงการบริจาคเลือด บางคนนึกถึงการไปเข้าค่ายร่วมสร้างโรงเรียนให้น้องๆ ในชนบท
ช่วงเวลาที่ต่างคนต่างเล่าถึง “ความดี” แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย และต่างคน “ต่างฟัง” และ “พลอยร่วมทำใจยินดี” กับความดีของเพื่อน แม้บางเรื่องจะดูขบขัน เป็นที่เฮฮาของเพื่อนๆ เช่น การลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ ก็จะมีเสียงแซวจากเพื่อนว่า “เพราะผู้หญิงสวยกระมัง จึงลุกให้นั่ง” สภาวะจิตใจของทั้งคนเล่าและคนฟัง ล้วนต่างมีความสุข อิ่มเอิบเบิกบาน และยิ่งได้พัฒนาความรู้สึก “มุทิตาจิต” ไปพร้อมๆ กันแล้ว พลังความดี และความสุข ได้แผ่ไปทั่วห้องเรียนนั้น อย่างคาดไม่ถึง
หลังจากนั้น นักศึกษาแต่ละคนจะได้มีโอกาสเล่าความรู้สึก และสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ ส่วนใหญ่ จะกล่าวในทำนองเดียวกันว่า นึกไม่ถึงว่า “ตนเองจะสามารถทำความดีได้” “ตนเองก็เป็นคนดีได้เหมือนกัน” นอกจากนั้น ยังได้ฟังเรื่องราวความดีที่หลากหลายจากเพื่อนคนอื่น บางคนบอกว่า นึกไม่ถึงว่า เพื่อนคนนั้นจะทำความดีอย่างนี้ได้ เพราะจากภายนอก “เขาได้ตัดสิน” นิสัยเพื่อนคนนั้นไว้ก่อน จากบุคลิกภาพท่าทางการพูดจาแล้ว!

จากกิจกรรมนี้ ได้เสริมว่า ทุกคนสามารถทำความดีได้ด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเรื่องใหญ่บ้าง เป็นเรื่องเล็กบ้าง ขอให้ทุกคนยึดถือ และนึกถึงความดีเหล่านั้น แล้วค่อยๆ พัฒนาเพิ่มพูนความดีเหล่านั้น ทำซ้ำให้เป็นนิสัยเรื่อยๆ และสม่ำเสมอตลอดไป จะเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง เมื่อมนุษย์สามารถเห็นคุณค่าของตนเอง ก็จะสามารถพัฒนาการตระหนักถึงคุณค่า และความดีของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

การเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรง และการถอดบทเรียนของนักศึกษาเช่นนี้ เป็นขั้นเบื้องต้น ของการสอดแทรก การเรียนรู้ให้ตระหนักถึง “คุณธรรม” “ศีลธรรม” ที่พวกเราอยากให้เยาวชนของเราได้พัฒนามากขึ้น ลองทำดูไม่ยากอย่างที่คิด!

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home