โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๙
--------------------------------------------

พวกเราในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาหลายคนต่างมีงานประจำเป็นหลักของตัวเองอยู่แล้ว แต่เรามีภารกิจหลักอย่างหนึ่งร่วมกัน คือการเข้าร่วมในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม โครงการจัดฝึกอบรมขึ้นตลอดปีนี้จนถึงต้นปีหน้า สำหรับกลุ่มคณะทำงานของเครือข่าย โดยมีการบ้านให้ทำด้วยตัวเองตลอดระยะเวลาดังกล่าว ไม่รวมนัดประชุมที่เกี่ยวข้องเรื่อยๆ การฝึกอบรมมีอยู่ประมาณ ๙-๑๐ ครั้ง ตัวอย่างเช่น การเจริญสติภาวนา การทำงานเชิงอาสาสมัคร นพลักษณ์ สุนทรียสนทนา การเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นต้น

โดยเราคาดหวังว่าความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนและประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมฝึกอบรม จะเป็นพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรและงานส่งเสริมจิตตปัญญาศึกษาในสังคมไทย การฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ ที่ว่านี้ กล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การเรียนรู้ที่อาศัยจินตนาการ การเรียนรู้เชิงแนวคิด การเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
เกือบทุกครั้งตั้งแต่การประชุมหรือการฝึกอบรม ไม่ว่าจะใช้เวลาไม่นาน หรือเป็นวัน หรือข้ามวัน หรือหลายๆวัน มักมีการบอกกล่าวให้ได้ยินในทำนองว่า “ทำใจให้สบาย” “ให้ตัดกังวลเรื่องอื่น” “มาแค่ตัวกับหัวใจก็พอ” ซึ่งคงเป็นความพยายามของผู้จัดให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมมากที่สุด สำหรับผู้เขียนตอนนี้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือการสะสางงานให้แล้วเสร็จก่อนไปเข้าร่วมฝึกอบรม ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนเหนื่อยมากกว่าปกติบ้าง หรือต้องมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติงานแทนหรือช่วยคิดต่อหากเป็นงานที่เข้ามาอย่างเร่งด่วนโดยไม่อยู่ในแผนของเรา โดยไม่คาดคิดมาก่อน หากเป็นงานที่พอจะเลื่อนเวลาออกไปได้ ก็จะเลื่อนออกไป เรียกว่ายังสามารถจัดการเวลาได้ โดยที่งานการประจำยังไม่เสียหายหรือไปเบียดเบียนเพื่อนร่วมงานเข้า

ลองถามใจตัวเองว่า...ที่ผ่านมาการเข้าร่วมแต่ละครั้งนั้น ตัวเองมีการเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างไร? คิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า เตรียมตัวเต็มร้อยเสมอ รู้สึกสนุกเสียด้วยซ้ำ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งผู้คนและสถานที่ก็เป็นใจให้เราเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (อันเป็นความหมายหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษาที่มีผู้กล่าวไว้) ในการฝึกอบรมที่ผ่านมาไม่กี่ครั้งนี้ แม้จะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ล้วนมีกิจกรรมที่เตือนให้พยายามเฝ้ามองอารมณ์ รับรู้ความรู้สึก ตามให้ทันความนึกคิดที่เลยเถิดไปถึงไหนต่อไหน (ประโยคเหล่านี้มักจะปรากฏให้เห็นเสมอในหนังสือหรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ การเจริญสติวิปัสสนา) นอกจากนี้ กระบวนการในการฝึกอบรมยังมีกิจกรรมที่ให้มีการถ่ายทอดออกมาให้รับรู้กันดังๆ ด้วย

แปลกแต่จริง... เมื่อกลับมาในชีวิตปกติประจำวัน กิจกรรมย้ำเตือนดังกล่าวยังติดตามตัวมาด้วย ให้เราได้สัมผัสใจตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น ใจที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความนึกคิด เอาแค่ความนึกคิดไปเรื่อยๆ หากหยุดยั้งไว้ได้ทัน กลับช่วยเพิ่มเวลาในการทำงานทำการอย่างมากมายโดยไม่ได้คาดหมาย

แล้วอย่างอื่นๆ อีกเล่า เรื่องที่เขาว่ากันว่า “เปิดใจ” คงเป็นอย่างนี้เอง คือ ผู้เขียนสามารถพูดได้ตรงความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ยอมเปิดเผยความรู้สึกเบื้องหลังคำพูด คือรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรจริงๆ เช่น ขอโทษนะที่พูดอย่างนั้นเพราะหงุดหงิด เรารู้สึกน้อยใจจังที่...ทำอย่างนี้ เสียใจนะที่ทำอย่างนั้นไป เครียดเพราะทำไม่เป็นช่วยสอนหน่อย ฯลฯ ไม่มีลีลาและชั้นเชิงเท่าไร ไม่ต้องอาย เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย เป็นตัวของตัวเองที่จริงใจต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้น สบายๆ นะในแต่ละวันที่ผ่านๆ ไป

นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกมา เราเองต้องพยายามตั้งใจฟังคนอื่นด้วย คำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึก จากใจของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมก็สอนเราให้รู้จักเขามากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเราไม่รู้จักเขามาก่อนเลยจริงๆ เรามองเขาในแง่มุมอื่นมาก่อน กระบวนการนี้เปลี่ยน “ความคิด” เราได้เลย ผลพวงตามมาทำให้ตัวเราต้องระวังใจตัวเอง ระวังความคิดของเราที่มีต่อผู้คนโดยรอบ ต้องคิดดีไว้ก่อนเลย อย่าคิด! อย่าคิด! อย่าเพิ่งมีปฏิกิริยาทางลบออกไปต่อทุกสิ่งที่เขาแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ ทำได้เพียงแค่นี้ ดูเหมือนว่าตัวเราจะมีเกราะคุ้มกันภัยทางใจอย่างดีทีเดียว ไม่ต้องเครียดหรืออารมณ์กวัดแกว่งเพราะคนอื่น

ครั้งนี้ผู้เขียนได้มาเล่าประสบการณ์ตรง หรืออาจจะเป็นประสบการณ์ร่วมกับหลายๆคน เป็นส่วนหนึ่งของการผ่านบททดสอบเล็กๆ แต่มาเรื่อยๆ เพราะแท้จริงแล้วบททดสอบในชีวิตประจำวันที่จะทำให้ใจเราไม่ปกติมีอยู่ตลอดเวลา แต่การที่พวกเรามีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาจิตหรือพัฒนาด้านในตนเอง ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดหลากหลาย จะทำให้เราได้เรียนรู้และมีทักษะ เพื่อเผชิญหน้ากับบททดสอบเดิมๆเหล่านั้นใหม่อย่างตั้งใจ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับบททดสอบใหม่ๆ ที่จะหนีไม่พ้นการระวังรักษาจิตใจเราให้ปกติ

การฝึกอบรมนอกเหนือจากการฝึกอบรมในโครงการนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายและหลากหลาย ในอนาคตเมื่อได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ความรู้เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนในสังคมไทย

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home