โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------
คำถามที่ผู้เขียนพบได้บ่อยครั้งจากการบรรยายหรือทำกระบวนการเรื่องการบริหารคนและองค์กรให้กับเหล่าผู้บริหาร คือการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายของตัวผู้บริหารเอง เพราะเมื่อบริหารอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็พลอยทำให้บริหารลูกน้องหรือผู้ร่วมงานไม่ได้ แม้แต่องค์กรที่ดูแลอยู่ก็บริหารไม่ได้ จึงไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่าทำไมปัจจุบันผู้บริหารมากมายจึงสนใจไปฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนา หรือหาวิธีการบริหารจิตใจของเขากันมากขึ้น

“อาจารย์ ผมรู้นะว่าโกรธแล้วผมก็จะเผลอพูดอะไรไม่ดีออกไป แล้วก็ต้องมาตามแก้กับผลที่เกิดจากการพูดที่ไม่สมควรของผม แต่...มันยากนะอาจารย์ กว่าจะรู้ตัวก็หลุดออกไปซะแล้ว” เป็นประโยคที่ผู้เขียนได้ยินเป็นประจำ

ผู้เขียนจึงมักยกตัวอย่างกระบวนการทั่วไปให้ฟัง “พอเราขับรถไปบนถนน มีคนขับรถปาดหน้า เราทำอย่างไรกันคะ” บางคนตอบว่า “ปาดหน้ารถกลับไปเลย ถือดีอย่างไรมาปาดหน้ารถเรา ไม่รู้จักเราซะแล้ว” บางคนก็ตอบว่า “ก็ด่าออกไปเลย แล้วแต่จะนึกสรรหาคำมาได้ (แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าเขาไม่ได้ยินหรอก)” บางคนก็ว่า “โกรธซิแต่ไม่ได้ทำอะไรหรอกนะ” ฯลฯ ก็เป็นดีกรีการเกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันหลังถูกกระทบจากภาพการถูกปาดหน้ารถ

ถ้าเราลองมานึกกระบวนการกันดีๆ ตั้งแต่ถูกปาดหน้ารถ อันดับแรกคือ “เราเห็นรถมาปาดหน้ารถเรา” แล้วก็ตามด้วย “แบบนี้เรียกว่าปาดหน้ารถนิ” “เรารู้สึกไม่พอใจแล้วนะที่มาปาดหน้ารถของเรา” “เรามีอารมณ์โกรธแล้วนะ ถือดีอย่างไรมาทำอย่างนี้กับเรา” “อย่างนี้ต้องทำอะไรตอบโต้หน่อยแล้ว” “หนอยชะ... (ว่าออกมาเลยคำไม่น่าฟังต่างๆ)” “เจ้า...นี่ต้องโดนสั่งสอนซะหน่อย ขับไปปาดหน้ารถคืนดีกว่า” ....ถ้าหนักมากๆ อาจถึงขั้นลงไปชกต่อยทำร้ายร่างกายกันด้วยวิธีต่างๆ ดูรวมๆ แล้ว...กระบวนการนี้มีหลายขั้นตอน เพียงแต่พอเกิดขึ้นจริงใช้เวลาแป๊ปเดียวเท่านั้นเอง

ทีนี้คำถามก็มาตกอยู่ที่ว่า แล้วเราจะบริหารความไม่สบายกายไม่สบายใจตรงนี้ได้อย่างไร บางทีก็เกิดในที่ทำงานของเราเอง เช่น คนหนึ่งในที่ทำงานพูดอะไรออกมา เราได้ยินเข้าหู แล้วก็เริ่มรู้สึกไม่พอใจ มากๆ เข้าก็โกรธบ้างแค้นบ้าง อาจตอบโต้ออกไปบ้าง หรือเก็บแค้นอยู่ต่อไป รอการจัดการที่หนักหน่วงขึ้น หนักเข้าถ้าทางนั้นตอบโต้ไปมาอีก ทีนี้ก็มีสงครามกันไปเรื่อยๆ ในองค์กร ร้อนระอุกันไปทั่ว ฯลฯ ล้วนแต่เป็นกระบวนการของความไม่สบายหนักอึ้งทั้งสิ้น คำตอบต่อคำถามนี้ง่ายนิดเดียว คือ “ทันเร็วก็เบาเร็ว” หรือการมีสติทันกับแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเรากำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ... “เกมสติ”

ลองนึกภาพเหมือนเราเล่มเกมคอมพิวเตอร์จำพวกมีอุกกาบาตลอยเข้ามา ถ้ากระทบโดนเราก็เสียแต้ม ถ้าเรายิงโดนอุกกาบาตเราก็ได้คะแนน ยิ่งยิงเร็วคะแนนยิ่งมาก ยิ่งเข้ามาใกล้เราเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายและมีโอกาสโดนทำเราให้เสียแต้มไป วิธีเล่นเกมสตินี้ก็ง่ายๆ คือเพียงแต่เราดักอุกกาบาตให้ทัน ทันเร็วเท่าไหร่ก็ปลอดภัย หรือได้คะแนนมากขึ้นเท่านั้น เช่น พอรถเห็นรถปาดหน้าปั๊ป “เห็นรถปาดหน้า” รู้สึกถึงการเห็นนั้นทัน ...คะแนนสูงสุด ไม่มีผลข้างเคียงอื่นให้เราร้อนใจเหนื่อยใจจากการเห็นนั้นเลย หรือถ้าไม่ทัน ตอนที่เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับการถูกปาดหน้า “รู้สึกไม่พอใจ” ทันขึ้นมาก็จะแค่รู้สึกขุ่นๆ รู้ทันก็หายไปเอง ไม่ต้องไปไล่ตีให้ความรู้สึกไม่พอใจหายไป “แค่ทัน” เท่านั้นก็พอ เพราะโชคดีที่จิตเราทำงานได้ทีละอย่าง พอจิตบอกว่า “ฮั่นแน่ เรากำลังไม่พอใจ” จิตที่กำลังไม่พอใจตอนนั้นก็ไม่ได้ทำงานแล้ว เพราะจิตที่กำลังรู้ทัน ทำงานแทนไปแล้ว ...แต่อาจแค่แป๊ปเดียวนะ ถ้าเผลออาจกลับมาอีก นั่นแปลว่าเราควรรู้ทันอยู่เป็นระยะๆ จนกว่าเหตุของเรื่องจะหายไปทำให้ความรู้สึกไม่พอใจนั้นไม่เกิดอีก

เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ทันความรู้สึกไม่พอใจนี่ล่ะ ปล่อยจนก่อร่างสร้างอาณาจักรกลายเป็นอารมณ์โกรธ ...ถึงโกรธมาก ก็กลับมาดูอีก “อ๊ะๆ เราทันนะ เรากำลังโกรธนี่” พอทักทันและหนักแน่นพอ จิตใหม่ที่ทันก็มาแทนที่จิตที่โกรธ ถ้าไม่ทัน เอาล่ะ คำพูดก็ตาม มือไม้ก็ตาม หรืออาการต่างๆ จากความโกรธอาจพุ่งออกมาในท่าทางที่ไม่น่าดูไม่น่าฟังได้ ถึงตอนนั้น ก็คงได้แต่รับผลไปจากการกระทำที่เกิดขึ้น เรียกว่าตามแก้กันไป ไม่ทันแล้วนี่ เป็นเกมคอมพิวเตอร์ก็คือเกมโอเวอร์ หรือโดนเข้าแล้ว เสียแต้ม
ดังนั้น การเล่มเกมสตินี้ หลักการง่ายๆ เพียงทักให้ทันกับแว๊บต่างๆ ที่ผุดขึ้นหรือเข้ามาในใจเรา ประตูเข้าของการผุดต่างๆ นี้ ได้แก่ ตา (การมองเห็นภาพต่างๆ) หู (ได้ยินเสียงหรือคำพูดต่างๆ) จมูก (ได้กลิ่น) ลิ้น (รสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา) กายสัมผัส (ความรู้สึกทางกาย นุ่ม แข็ง ลื่น เหนียว) และใจ (คิดนั่นคิดนี่ แว๊บต่างๆ ในใจ) รวมทั้งสิ้น ๖ ประตู มาทางไหนก็ดักหรือทักทางนั้น ดักได้เร็วก็ได้คะแนนมากหน่อย เพราะผลกระทบทางลบที่ตามมาจะน้อยตาม ถ้าดักช้าหน่อยก็ดีกว่าดักไม่ได้ ดักไม่ทันก็โดนผลกระทบเข้าไปเต็มๆ

เกมนี้ถ้าเล่นเป็นจะเริ่มรู้สึกสนุก ยิ่งชำนาญมากขึ้นกล่องใจของเราที่มี ๖ ประตูนี้ก็จะว่างมากขึ้น โล่งขึ้น เหมือนระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่เปิดโปรแกรมเฉพาะที่จำเป็น เครื่องก็วิ่งเร็วหน่อย คล่องกว่า ไม่มีไวรัสรบกวน ถ้าเราเผลอ ประมาทให้ไวรัส อุกกาบาต หรือให้สิ่งที่มากระทบประตูทั้ง ๖ เราเข้ามาสร้างความวุ่นวายในใจได้มากเท่าไหร่ เครื่องประมวลผลก็อาจจะวุ่นวาย ตีรวน หรือไม่ก็หนืดๆ ซึมๆ เดินช้า หรือแฮงก์ไปเลยก็ได้ บางกรณีพอตัวเองเครื่องรวน ยังส่งไวรัสกระจายให้คนอื่นได้รับอีกต่างหาก ยิ่งก่อเหตุร้ายขึ้นไปอีก

เทคนิคการเล่นให้สนุกนั้น เพียงแต่สร้างความพอดีให้เหมาะเจาะ หรือที่คุ้นๆ กับคำว่า “ทางสายกลาง” คือ ไม่หย่อนหรือประมาทเกินไปจนไวรัสอุกกาบาตเข้ามาเต็มกล่อง หรือไม่ตึงเครียดเกินไปว่าฉันจะต้องดักเจ้าอุกกาบาตพวกนี้ไม่ให้เข้ามาเลย หรือเข้ามาก็จะตีให้ตาย นี่ก็หนักไป นอกจากเล่นไปเครียดไปไม่สนุกแล้ว อาจจะทำให้เกิดผลเหมือนลูกโยโย่ซะด้วยซ้ำ คือยิ่งเคร่งเกินไปเลยสวิงแกว่งไปอีกข้างมากขึ้นซะอีก ดังนั้นเทคนิคจึงอยู่ที่ความพอประมาณ พอดีๆ กลางๆ สบายๆ เล่นเกมไปด้วยความสนุกและสบาย ได้แต้มมั่งไม่ได้มั่งช่างมัน เล่นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะชำนาญขึ้นได้เอง จะทำไม่ได้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ความไม่แน่นอนเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งอยู่แล้ว เล่นไปได้บ้างไม่ได้บ้างยังดีกว่าโกรธเกร็งหยุดเล่นไปเลย ทีนี้พาลยุ่งเหยิงกันไปใหญ่ ปล่อยให้ไวรัสกระจายไปทั่ว

ท่านผู้อ่านลองเล่ม “เกมสติ” ดูซิคะ ใช้ร่ากายและจิตใจของท่านเป็นอุปกรณ์การเล่น ได้ผลอย่างไร หรือพบอุปสรรคอะไร คุยกันได้ค่ะ :-)

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home