โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------
ผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ความคิดคือ ความฝันเมื่อยามตื่น ความฝันคือ ความคิดเมื่อยามหลับ”

เพียงแค่ลืมตาตื่นขึ้นมา ในหัวของเราก็เริ่มแล่นไปสู่การวางแผนในอนาคต เอ...วันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้างนะ หรือทบทวนเรื่องราวในอดีต เฮ้อ...เมื่อวานเขาไม่น่าทำอย่างนั้นกับเราเลย เราเริ่มวิ่งเข้าหาข่าวสารข้อมูลด้วยความคุ้นชิน หยิบหนังสือพิมพ์อ่านข่าวล่าสุด เปิดคอมพิวเตอร์เช็คอีเมล เปิดทีวีดูรายการข่าวและบันเทิง ออกจากบ้านก็พบเจอป้ายโฆษณาที่กำลังบอกข้อมูลสินค้าชั้นดี พอเริ่มต้นทำงานหรือเรียน ก็ต้องคิดแก้ปัญหาและเรียนรู้ ตกเย็นเหนื่อยเหลือเกิน ดูหนังดูละครดีๆ สักเรื่องเติมเต็มความหมายหรือความสุขที่หายไป คุยหรือสังสรรค์กับเพื่อนดับความเหงาในใจ จนกระทั่งเข้านอนหลับตาลงเพื่อพบว่า ภาพและเรื่องราวต่างๆ ยังคงโลดแล่นในหัวจนผล็อยหลับ พลันวาบฝันก็เริ่มปรากฏ บางครั้งฝันนั้นน่ากลัว บางครั้งฝันนั้นน่าหัว บางครั้งฝันนั้นเติมเต็ม บางครั้งฝันนั้นรื้อฟื้น เรื่องแล้วเรื่องเล่า จนตื่นขึ้นมาเพื่อพบกับวันใหม่ในโลกเดิม

ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ชีวิตของเราหลงอยู่ในวังวนของความคิดและความฝันที่ไม่มีวันจบสิ้น คำกล่าวของผู้รู้ท่านนั้นช่างน่าสนใจ ราวกับว่าท่านรู้จักกับบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคุ้นชินของเราในยุคข่าวสารข้อมูล

ผู้รู้ท่านนั้นอธิบายต่อไปว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด แต่ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด”

คำถามคือ ขณะนี้เรากำลังหลงคิดอยู่หรือเปล่า

บางคนอาจตอบว่า เปล่านี่ เราก็รู้อยู่นี่ว่าเราคิดอะไร ไม่ได้หลงไปสักหน่อย แต่หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า การรู้ว่าเราคิดอะไร คือสิ่งที่ท่านบอกว่า “เรามักรู้เรื่องที่คิด” นั่นอาจหมายความว่า เรากำลังหลงคิดอยู่โดยไม่รู้ตัว

ในเมื่อ “รู้เรื่องที่คิด” ไม่ใช่คำตอบ บางคนอาจคิดต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นก็ตัดปัญหาเสียตั้งแต่ต้น คือ เลิกคิดไปเสีย จะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในโลกของความคิดความฝัน อืม...ก็อาจจะใช่นะ แต่ เอ...ถ้าเลิกคิดแล้ว เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร คนที่คิดไม่ทันกลับตกเป็นผู้ถูกเอาเปรียบจากคนที่ชอบคิดใหม่ทำใหม่ แล้วโลกที่มันวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะคนเราทำอะไรไม่รู้จักคิด ทำตามอารมณ์อยากได้ไม่อยากได้ ชอบไม่ชอบหรอกหรือ

ถ้าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แล้วคำตอบอยู่ที่ไหน

เมื่อพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งต่อปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” เราจะพบว่า “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยมี “ความคิด” เป็นผู้ไปรู้เข้า “ความคิด” ในฐานะผู้รู้ จึงไม่สามารถกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยตัวมันเอง เปรียบเสมือนปลาในน้ำที่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างในน้ำ แต่ไม่รู้การมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น เราอยู่ในความคิด แต่เราไม่รู้การมีอยู่ของความคิด หรือ “ไม่รู้ว่ากำลังหลงคิด” นั่นเอง

ในปรากฏการณ์ “รู้เรื่องที่คิด” มี “เรื่อง” เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และ “ความคิด” เป็นผู้รู้ กุญแจสำคัญอยู่ที่การแปรเปลี่ยนให้ “ความคิด” กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีกชั้นหนึ่ง เปรียบเสมือนปลาที่กระโดดเหนือพ้นน้ำ แม้เพียงชั่วขณะ แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น หากเรากระโดดเหนือพ้นคิด แม้เพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ทำให้รู้จักการมีอยู่ของความคิด และเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ต่อการรู้ว่า “กำลังหลงคิด”
จากการพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งข้างต้น เราพบว่า คำตอบไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่องที่คิด” หรือ “เลิกคิด” แต่อยู่ที่ “พ้นคิด”

ย่อให้สั้นลงก็คือ ไม่ใช่ทั้ง “รู้เรื่อง” หรือ “ไม่รู้เรื่อง” แต่อยู่ที่แยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง”

หากแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้ เราจะได้ความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกประการคือ ความสามารถในการเลือก “เรื่อง” ที่จำเป็นต้องคิด และ “เรื่อง” ที่ไม่จำเป็นต้องคิด ช่วยให้การคิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสามารถในการกรองเอาความคิดที่ไม่จำเป็นออกไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย เพราะไม่ตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดและความฝัน

แล้วเราจะแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” ได้อย่างไร เราจะ “กระโดด” เหนือพ้นคิดได้อย่างไร เป็นคำถามที่บทความชิ้นนี้ขอทิ้งท้ายไว้ และหวังเพียงว่าท่านจะรับคำถามนี้เข้าไปในหัวใจ

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home