โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

พิธีกรรมทางศาสนาที่เราทำๆ กันจนกลายเป็นแบบแผนตายตัว มักจะถูกมองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ทั้งขั้นตอนที่เยิ่นเย้อ พิธีรีตองที่สับสน บวกกับบทสวดบาลีที่ไม่มีใครเข้าใจ (แม้แต่ตัวผู้สวดเอง) วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมพิธีรับไตรสรณคมน์ ของเพื่อนๆ ชาวอเมริกัน จึงอยากจะถ่ายทอดข้อคิดที่ได้จากงานนี้ออกมาเป็นบทความให้ได้อ่านกัน

ทุกคนคงทราบกันดีว่า การรับไตรสรณคมน์ คือ การรับเอาพระรัตนตรัย อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือหากจะเข้าใจไปในแง่ของการศาสนา พิธีกรรมนี้ก็คือการประกาศตนเป็นชาวพุทธนั่นเอง พิธีกรรมก็มีอย่างง่ายๆ คือ เรากล่าวปฏิญาณตนสามรอบต่อหน้าครูบาอาจารย์ “พุทธัง สรณัง คัทฉามิ ธัมมัง สรณัง คัทฉามิ สังฆัง สรณัง คัทฉามิ” สามจบ
รับไตรสรณะในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “take refuge” หมายถึง การรับเอาเป็นที่พึ่ง ส่วนผู้ที่รับไตรสรณะนั้น เขาเรียกว่า “refugee” ซึ่งมีนัยที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

ก็น่าแปลกไหมล่ะครับ การรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง กลับไปจบลงตรงที่สถานะของ refugee หรือคนลี้ภัยหมดที่พึ่งไปเสียได้ แทนที่การรับไตรสรณคมณ์จะทำให้เราได้ที่พึ่งมายึดเกาะเป็นเสาหลักให้กับชีวิต ตรงกันข้ามการรับเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง กลับบ่งบอกถึง สถานการณ์มืดแปดด้าน ไร้ทางออก หมดทางเลือก เมื่อเราได้ตระหนักถึงสภาวะความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง ความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเหตุปัจจัยรายรอบที่แปรเปลี่ยนไปไม่คงที่ หันไปทางไหนก็ดูจะไม่มีใครหนีความจริงแห่งชีวิตที่ว่านี้ไปได้ ทุกคนเหมือนต่างกำลังจมน้ำ ต่างคนต่างหาที่ยึดเหนี่ยว อย่างที่ไม่มีใครคิดที่จะเรียนรู้วิธีว่ายน้ำออกไปจากทะเลแห่งความทุกข์นี้เลยสักคน เมื่อพึ่งใครไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็อยู่ในวังวนเดียวกัน เราจึงตัดสินใจที่จะพึ่งตัวเอง โดยการรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนเองให้สามารถเผชิญหน้ากับสภาวะความทุกข์รอบด้านให้ได้ ด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์

เรารับ “พุทธะ” ในฐานะแบบอย่างของการอุทิศตน เรียนรู้ฝึกฝนจนค้นพบศักยภาพของจิตที่เปิดกว้างภายใน เรารับ “ธรรมะ” ในฐานะสัจธรรมในทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกผู้คน ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ให้เราเรียนรู้ที่จะสัมผัสทุกแง่มุมตามที่เป็นจริง และ “สังฆะ” ในฐานะเพื่อนร่วมเดินทางฝึกฝน ผู้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันบนเส้นทางที่โดดเดี่ยวสายนี้ อาจจะเรียกได้ว่า การรับไตรสรณคมณ์ ก็คือ พิธีแห่งการให้คำปฏิญาณตนที่จะยืนบนลำแข้งตัวเอง สู่การฝึกฝนเตรียมพร้อมที่รับมือกับความไม่แน่นอนของชีวิตให้ได้ในทุกรูปแบบ

คนส่วนมากใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของตัวตนที่ไม่มีอยู่จริง เราพยายามหยิบจับเอาสิ่งภายนอกมาเป็นคำตอบของคำถามที่อยู่ลึกๆ ในใจ...ฉันคือใคร? ฉันเกิดมาทำไม? ตายแล้วฉันจะไปไหน? เงิน งาน บ้าน รถ ปริญญา ชื่อเสียง เกียรติยศ ความสำเร็จ ความรัก คนรัก เราพยายามจะหยิบคว้าหาอะไรมาเติมเต็ม เติมเต็มอะไร...ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ยังเลือกที่ทำตามๆ กัน ขณะที่กำลังหยิบโน่นฉวยนี่ เกาะเกี่ยวหาที่พึ่งจากภายนอก ลึกๆ เราต่างรู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนทะเลชีวิตที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน เมื่อคนเราไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตและสรรพสิ่งดีพอ ความกลัวจึงทำให้เราต่างต้องการที่พึ่งภายนอก ที่สามารถให้ความรู้สึกปลอดภัย พอจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้แม้เพียงชั่วเวลาหนึ่ง

เมื่อรับเอาไตรรัตนะมาอยู่ในใจแล้ว เราก็กลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” หรือ “refugee” อันแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเดินทางบนเส้นทางการฝึกฝนตนเอง ก้าวเดินสู่เส้นทางของชีวิตที่จะค่อยๆ คลี่บานในทุกขณะ เราตัดสินใจเลิกที่จะมองหาคำตอบจากภายนอก เลิกหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะใช้ชีวิตตามกระแสสังคม ด้วยความตระหนักว่าไม่มีใครที่จะสามารถหยิบยื่นคำตอบใดๆ ให้แก่ชีวิตของเราได้ นอกเสียจากเราจะค้นหาคำตอบนั้นให้กับชีวิตของเราเอง พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ แสดงถึงคุณค่าแห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนต่างมีอยู่ภายใน โดยที่หากเราใช้เวลาฝึกฝนบ่มเพาะให้พลังทางปัญญานั้นได้งอกงามขึ้น เราก็จะพบกับความดี ความงาม และความจริงแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในทุกลมหายใจเข้าออก

พอกล่าวรับไตรสรณคมณ์เรียบร้อย ผู้ไร้ที่พึ่งทั้งหลายก็เดินไปให้อาจารย์ท่านขลิบปลายผม เป็นสัญลักษณ์ของการ “บวช” หรือการสละละวาง “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา” เพื่อที่จะเดินตามเสียงภายใน แสวงหา “ศักยภาพภายในตัวเราที่แท้”

จากนั้นผู้รับไตรสรณคมณ์ก็จะเดินไปรับชื่อทางธรรมที่ธรรมาจารย์จะเป็นผู้ตั้งให้ จากสิ่งที่เขามองเห็นภายในจิตใจของคนผู้นั้น ตัวอย่างเช่น ขุนเขาแห่งปัญญา โยคีผู้กล้า หรือ มหาสมุทรแห่งความรัก เป็นต้น ชื่อทางธรรมบ้างก็บ่งบอกถึงศักยภาพ บ้างก็บอกถึงแรงบันดาลใจ บ้างก็บอกถึงคุณค่าอีกด้านที่บุคคลผู้นั้นมองข้ามไป บ้างก็เพื่อเตือนใจในเรื่องการปฏิบัติภาวนา โดยความหมายที่มีอยู่ในชื่อที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติ เป็นเหมือนเข็มทิศให้เราได้กลับมาเห็นคุณค่าและเป้าหมายของการดำเนินชีวิตในยามที่เราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ หรือในยามที่เราอาจจะสับสนไปกับเสียงภายนอกจนทำให้เราหลงลืมเสียงด้านในไป

เมื่อทุกคนได้รับชื่อทางธรรม ออกบวชเรียบร้อย พวกเขาก็เหมือนได้ชีวิตที่สดใหม่ พร้อมที่จะออกเดินทางสู่เส้นทางการเรียนรู้แห่งชีวิต ธรรมจารย์ที่เป็นเสมือนอุปัชฌาจารย์ (preceptor) ก็จะให้โอวาทในเรื่องของการฝึกฝนตนเอง ที่จะต้องประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาด้านในในทุกปัจจุบันขณะ

จบพิธีกรรมด้วยการโปรยข้าวสารไปรอบๆ ห้องปฏิบัติ พร้อมกับการให้พร ให้ทุกคนมีความตั้งใจในการฝึกฝน มีความอดทนต่อการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต และไม่หวั่นไหวไปกับเสียงแห่งโลกธรรมภายนอก จากนั้นเพื่อนๆ พ่อแม่ และแขกผู้มีเกียรติ ก็ยืนปรบมือแสดงความยินดีกับ new refugee ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นการต้อนรับเขาสู่ครอบครัวแห่งพุทธะ อันเป็นสังฆะของนักเดินทางบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน

การไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ในครั้งนี้ ได้ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก ความสดใหม่ของพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสีสันของการเดินทางทางจิตวิญญาณที่ผู้เขียนไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ตลอดการเข้าร่วมพิธีกรรมผู้เขียนไม่รู้สึกเบื่อ หรือง่วงเลยแม้แต่วินาทีเดียว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกตื่น และตั้งใจที่จะเรียนรู้ไปกับทุกขั้นตอนอย่างใจจดจ่อ บางชั่วขณะยังเกิดความรู้สึกตื้นตัน ขนลุก น้ำตาคลอ ไปกับเพื่อนๆ ด้วย ทุกรายละเอียดของพิธีกรรมแฝงไว้ด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมพิธีนำสิ่งที่ได้เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิต

เพียงแค่เรากล้าที่จะลอกเปลือกของความเป็นศาสนา และแบบแผนความเชื่อที่รับกันมาอย่างงมงายออกเสีย จนเหลือเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นบนความธรรมดาและเรียบง่าย มุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจและสายสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมเช่นนี้ พิธีกรรมก็จะทำหน้าที่เป็นประตูสู่โลกอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้สัมผัสถึงความหมายของการใช้ชีวิตในแง่ของการเป็นผู้ฝึกฝนปฏิบัติตนบนเส้นทางการแสวงหาคุณค่า ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาแห่งพระรัตนตรัย บ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ภายใน เพื่อการเผชิญหน้ากับทุกขสัจจ์อย่างรู้เท่าทันในทุกขณะของชีวิต

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home