โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
-----------------------------
ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้ขอให้ผู้เขียนช่วยตอบจดหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีความประสงค์จะนิมนต์ท่านไปสอนการภาวนาแก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยคงเห็นว่าท่านเป็นพระป่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติงาม และเคร่งครัดในวัตรต่างๆ อย่างยิ่ง น่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังที่ได้เรียนจากผู้รู้

แต่ท่านให้ผมช่วยแจ้งปฏิเสธไป ด้วยเห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ที่ของพระ อีกทั้งเรื่องจิตตภาวนานั้นไม่ใช่วิชาที่จะไปบรรยายให้ฟังชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จบ หาใช่เรื่องที่ฟังแล้วทำได้ทำเป็นเลย แต่ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ผมถามท่านไปว่า ถ้าเช่นนั้นหากทางมหาวิทยาลัยอยากจะส่งเสริมเรื่องนี้ควรทำอย่างไร ควรจัดอบรมนอกสถานที่ หรือให้นักศึกษารวมกลุ่มมาปฏิบัติที่วัดหรืออย่างไร ท่านว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดโครงการไปฝึกอบรมที่วัดคราวละหลายๆ คน เพราะจะกลายเป็นว่าเอาแต่เล่นกัน ควรส่งคนที่สนใจจริงจังมาฝึกเข้มที่วัดดีกว่า ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่ง

ผมติดต่อกลับไปยังอาจารย์ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านนั้นก็พยายามชี้แจงให้ผมเห็นความสำคัญของการที่พระกัมมัฏฐานที่ฝึกมานาน มาสอนให้กับผู้ที่อาจไม่ได้มีโอกาสไปวัดบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการตีความเรื่องการภาวนาไปต่างๆ นานามากมาย พาให้ชวนสับสน ซึ่งผมเองก็เห็นใจท่านอย่างยิ่ง ได้แต่รับปากว่าจะนำเรียนพระอาจารย์ผมอีกครั้ง

เมื่อผมนึกเทียบเคียงเหตุการณ์นี้กับสถานการณ์ที่เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษากำลังประสบอยู่ ด้วยว่าเครือข่ายกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีองค์กรต่างๆ ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือแม้แต่องค์กรในภาคธุรกิจ ติดต่อเชิญสมาชิกในเครือข่ายให้ไปบรรยายให้ความรู้ หรือเล่าสู่กันฟังถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา
ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามต่อท่าทีของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ควรมีต่อคำเชิญให้ไปบรรยาย

ยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนมาให้ความสนใจเรื่องจริยธรรมและความดี กระแสเรียกร้องต้องการให้เครือข่ายจิตตปัญญาไปบรรยายบอกเล่าแนวคิดยิ่งเพิ่มขึ้น

เดิมเราเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักตามแนวทุนนิยม-วัตถุนิยม-บริโภคนิยม เน้นการทำกำไรและสร้างความมั่งมี ขณะนี้สังคมเปลี่ยนมาสู่การพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข โจทย์ใหญ่ไม่ใช่ “ทำอย่างไรถึงจะรวย” อีกต่อไป แต่เป็น “ความดีคืออะไร” ทำให้คนไทยที่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับความสะดวกสบายทางวัตถุ แต่บีบคั้นทางจิตใจ ต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเองอยู่ไม่น้อย

ในช่วงห้าหกปีที่ผมสอนนักศึกษาปริญญาตรีทำให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับเขาเหล่านั้นอยู่บ้าง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักศึกษาส่วนใหญ่แสวงหาอะไรที่ “เรียนง่ายๆ จบไวๆ มีงานสบายๆ ได้เงินเยอะๆ” จริงๆ

ปรากฏการณ์ที่ผู้เรียนมุ่งหาทางลัดสั้นและได้เงินมากๆ นี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอาจถึงเวลาที่ระบบการศึกษาแบบเดิมต้องหยุดและตั้งคำถามกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอยู่และตรวจสอบตนเองเหมือนกัน

แม้จะมีความพยายามของกลุ่มคนในแวดวงการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ อยู่บ้าง ในการเปลี่ยนโจทย์ชีวิตของนักเรียนนักศึกษา เปลี่ยนจากการทำกำไรหรือประโยชน์สูงสุดให้ตนเอง มาเป็นโจทย์เรื่อง “ความดีและการอยู่ร่วมกัน”
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเหล่านี้ควรระวังการตกเป็นเหยื่อของระบบ “รับประทานด่วน” อยู่ไม่น้อย

เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนทิศทาง หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ เริ่มเห็นความสำคัญการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้คนต่างมองหาคำตอบหรือหนทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ทว่าผู้คนเองก็ยังมีความคุ้นเคยเดิมๆ อันเป็นผลจากระบบบริโภคนิยม นั่นคือ ชอบหนทางที่ง่าย ใช้เวลาน้อย และคาดหวังอยากเห็นผลเร็ว กลุ่มคนในวงการศึกษาดังกล่าวจึงถูกเชิญไปบรรยาย ภายใต้ความหวังของผู้ฟัง หวังว่าเขาจะได้รับความรู้ความเข้าใจแบบปรุงสำเร็จจากผู้บรรยาย สามารถนำไปใช้ได้เลยทันที

ผู้ที่ทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องตั้งคำถามถึงคุณประโยชน์ของการไปบรรยายตามที่ต่างๆ อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ดังนี้

(๑) ต้องตั้งคำถามถึงประสบการณ์และความรู้ที่เรามีว่าเพียงพอแล้วหรือที่จะไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ทั้งที่เรายังแค่เดินเตาะแตะกัน อาศัยว่าทำไปเรียนรู้ไปอยู่เท่านั้น
และ (๒) จะเกิดประโยชน์อันใดในการไปบรรยาย หากกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดนั้น เป็นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนตน และค้นพบความรู้นั้นด้วยตัวผู้เรียนเอง

จิตตปัญญาก็เป็นดังเช่นจิตตภาวนา คือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะสำเร็จด้วยการบรรยายให้ฟัง เพราะว่าโดยลำพังการบรรยายนั้น ผู้ฟังไม่สามารถฟังแล้วเข้าใจ รู้เรื่อง และทำเป็น

ผู้เขียนเชิญชวนว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่สนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงและจิตตปัญญาศึกษา น่าจะมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน อาจในลักษณะของการสัมมนา การพบปะเสวนากันเป็นประจำสม่ำเสมอ ตั้งวงชวนกันอ่านหนังสือหรือบทความวิชาการ (Journal Club) หรือเวทีชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practice) ที่สมาชิกในแต่ละเครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคือ ควรมีกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงร่วมกัน เป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล เรียนรู้จากเรื่องจริง สถานการณ์จริงไปด้วยกัน เรียกว่าเป็น interactive learning through action อย่างแท้จริง

เราต้องไม่คาดหวังว่าการบรรยายคือคำตอบทั้งหมด

เพราะไม่เช่นนั้น เราจะได้ไปแต่รูปแบบ ไม่เข้าใจถึงจิตวิญญาณของการเรียนรู้แบบนี้ได้เลย

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home