โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐
----------------
เวลาที่เราใช้คำว่า “หวงแหน” ฟังดูแล้วเหมือนกับเป็นความหมายที่แสดงในเชิง “ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” และยังฟังดูแล้วออกเป็นเชิงลบนิดๆ ในแง่ของแนวคิดด้านในที่หลายแนวมุ่งเน้นให้ละความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของออกไปจากตัวตนของเรา

ซึ่งผมก็คงไม่ได้ขัดแย้งอะไรในเรื่องนี้นะครับ ก็อาจจะถูกต้องสำหรับผู้ที่ฝึกฝนเรื่องราวด้านในมาลึกล้ำแล้วหรือใกล้บรรลุแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบและเจอะเจอมาและในฐานะที่ยังเป็นเพียงผู้เริ่มต้นเข้าใจ ผมคิดว่า บางทีเราน่าจะต้องลอง “รักและหวงแหน” ของบางอย่างไว้บ้างเหมือนกัน

“ปัจจุบันขณะ” เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง “รักและหวงแหน” กันเสียบ้างหรือไม่?

เหมือนกับที่โดยทั่วๆ ไป สำหรับคนทั่วๆ ไปเราก็มักจะมี “ของรักของหวง” กันหลายสิ่งหลายอย่างอยู่แล้ว เช่นบางคนรักและหวงแหนลูกภรรยาของตัวเอง บางคนรักและหวงแหนบ้านของตัวเอง

คือผมคิดว่าไหนๆ หลายๆ คนก็ “มีอะไร” ที่ “รักและหวงแหน” กันอยู่แล้ว การที่จะทดลอง “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” เพิ่มเข้าไปอีกอย่างหนึ่งก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในเชิง “ความงกด้านใน” แต่อาจจะมีประโยชน์อะไรบางอย่างหรือไม่

ผมเกิดความรู้สึก “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง ในวันนั้นผมใช้เวลา “ไม่ทำอะไร” และ “อยู่กับตัวเอง” ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ที่เชียงรายเป็นเวลาเกือบทั้งวัน คือตอนเช้าไปส่งลูกสาวไปโรงเรียนแล้วก็แวะเข้าไปนั่งเล่นในสวน เตรียมเสบียงและน้ำดื่มไปด้วย จากนั้นเกือบสี่โมงเย็นก็กลับออกมารับลูกสาวกลับบ้านพอดี

การนั่งเฝ้าดูก้อนเมฆ ท้องฟ้า ภูเขา แนวป่าและหนองน้ำใหญ่ในวันนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่า ก้อนเมฆที่ไม่เคยเหมือนเดิมนั้นไม่ค่อยแปลกอะไร เพราะก้อนเมฆไม่เคยเหมือนเดิมอยู่แล้วในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาทีหรือถ้าเอากันให้ละเอียดจริงๆ แม้แต่กระทั่งแต่ละวินาที

แต่ความรู้สึกในวันนั้นที่เกิดขึ้นก็คือ “องค์ประกอบรวมๆ ทั้งหมด” ของภาพที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้านั้นต่างหากที่ “ไม่เคยเหมือนเดิมเลย” ภาพของภูเขา ก้อนเมฆ ชายป่า หนองน้ำที่เดิมๆ ที่ผมใช้เวลาเป็นวันๆ นั่งดูอยู่เป็นประจำมาหลายปีแล้วก็ยังไม่เคยเหมือนเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันกลับมาสะท้อนถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวผมเองที่มีต่อ “ภาพที่เห็น” ก็ไม่เหมือนเดิมเลย

ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาในขณะนั้นว่า เอ๊ะ นี่มันใหม่สดเสมอนี่นา

บางทีเราเห็นเรื่องแบบนี้เป็น “ของตาย” ก็คือว่า เราอยากจะมาดูเมื่อไรก็ได้ คือเราก็ยังเห็นก้อนเมฆ ภูเขาแนวป่าและหนองน้ำเหมือนเดิมก็จริง แต่ “ความรู้สึกที่ปีติ เบาสบายและผ่อนคลาย” ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่เคยเหมือนเดิม

ถ้ามันไม่เหมือนเดิม ทำไมเราไม่ “ดูดดื่ม” กับมันให้เต็มที่หละ?

เราจะรอว่า “เออ เมื่อไรก็ได้ ของตาย” แล้ว “เมื่อไรกันล่ะ? ที่เราจะดูดดื่มกับมันได้เสียที” และบางทีของตายก็ไม่ใช่ของตายเหมือนกัน

ในวันนั้นความคิดของผมแว้บไปถึงเหตุการณ์หนึ่งในช่วงหน้าฝนที่ผมนั่งรถยนต์ไปตามทางหลวงแล้วขับผ่านจุดที่เป็นแนวฝนตกกับแนวที่ฝนไม่ตก แล้วผมมองเห็นเม็ดฝนที่วิ่งไล่หลังรถยนต์คันที่นั่งมา เป็นภาพที่สวยงามมาก

หลายคนก็อาจจะบอกว่าก็เป็นภาพธรรมดาๆ ก็แค่ฝนตก แต่เราลองคิดดูนะว่าเราจะไปนั่งอยู่ในรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วขนาดนั้นและเม็ดฝนก็วิ่งไล่เราด้วยความเร็วใกล้เคียงกันแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือเป็นของตายนะ

และจนวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ยังไม่มีโอกาสเห็นภาพเม็ดฝนที่ตกวิ่งไล่ตอนเรานั่งรถยนต์แล้วหันไปมองอีกเลย ตัวอย่างเรื่องเม็ดฝนนี้อาจจะทำให้เห็นภาพของ “การไม่เป็นของตาย” ได้ชัดเจนขึ้นบ้าง

ความรู้สึกแบบนี้ควรจะเกิดขึ้นกับ “สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ เวลานั้น” ของทุกๆ เวลา เพราะ “ทุกๆ เหตุการณ์” จะไม่เคยซ้ำเดิมเลย เหมือนกับที่มีคนเคยบอกว่า คลื่นในมหาสมุทรนั้นไม่เคยมีคลื่นไหนที่ซ้ำกันหรือเหมือนกันเด๊ะๆ เลย คลื่นแต่ละคลื่นจะมีความแตกต่างที่ไม่เคยเหมือนกันเลย ทรายแต่ละเม็ดหรือแม้แต่ก้อนกรวดในลำธารก็ไม่เหมือนกันเลยสักก้อนเดียว

ประสบการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันกับการดูดวงตะวันยามอรุณรุ่งและดวงตะวันยามหายลับไปกับขอบฟ้าหรือเรื่องราวอื่นๆ ของธรรมชาติ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ

แม้ว่าดวงตะวันก็ดวงเดิมๆ ดวงจันทร์ก็ดวงเดิมๆ ดวงดาวก็ดวงเดิมๆ

ผมคิดว่า “ความรักและการหวงแหน” ในกรณีแบบนี้มีถูกนำมาใช้เพื่อที่จะให้เราได้มองเห็นถึง “คุณค่า” ที่มีอยู่ของปัจจุบันขณะแต่ละขณะ

เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้ “ละเอียดมากขึ้น”

เรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความรู้สึกของ “การยึดติด” กับภาพที่เห็นเสียงที่ได้ยินหรือความสุขที่ได้รับ เพราะในจังหวะนั้น ผมไม่ได้เกิดความรู้สึกว่ายึดติดกับความสุขตรงหน้าเลย คือผมรู้สึก “รักและหวงแหน” ช่วงเวลาวินาทีนั้น แต่ผมก็ทราบว่า “วินาทีต่อมา” ผมก็ยังคงมีความปีติสุขอยู่ได้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเราและยังมี “ปัจจุบันขณะอีกมากมาย” ที่ “ยังรอ” ให้ผม “รักและหวงแหน” มันอยู่อย่างเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องและดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น ทำไมจะต้องไปติดยึดกับสายน้ำที่ไหลไปแล้วและเราก็รู้ว่าจะมีสายน้ำที่ใสสะอาดเหมือนเดิมไหลผ่านมาอีก

ผมรู้สึกว่า “ช่างเป็นความรู้สึกที่รุ่มรวยอะไรจะปานนั้น” ที่สามารถเกิดความรู้สึกแบบนี้หรือลองรู้สึก “รักและหวงแหนปัจจุบันขณะ” ทุกๆ ขณะ

ต่อเมื่อเราสามารถ “ละเอียดกับชีวิต” ได้จริงๆ “ใส่ใจกับปัจจุบันขณะ” ได้จริงๆ เท่านั้นเราจึงจะสามารถ “สัมผัสกับความสุข” ที่มีอยู่แล้วในทุกๆ ลมหายใจของเราเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home