โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๐
-------------------

เมื่อไม่นานนี้ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการอบรมหลักสูตร Authentic Leadership (การพัฒนาสู่ความเป็นผู้นำและมนุษย์ที่แท้) ให้แก่ผู้บริหารจากคณะและหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ประมาณ 40 คน โดยมี อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ เป็นกระบวนกร เนื้อหาหลักๆ ของการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นเรื่องสุนทรียสนทนา หรือ Dialogue และการคิดเชิงระบบ มีการฝึกการพูดและฟังอย่างมีสติ ด้วยความใคร่ครวญ และเปิดใจรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างสบายๆ ไม่เร่งรีบ ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมาก ตัวกระบวนกรไม่ได้บรรยายอะไรมากนัก เพียงแต่จัดกระบวนการ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการอบรม แต่ปรากฏว่าเสียงสะท้อนจากผู้เข้ารับการอบรมเกือบทั้งหมดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เรียนรู้มาก เวลา 4 วัน ของการอบรมผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่น่าเบื่อ หลายคนบอกว่าเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเนิ่นนานที่ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง คิด และทบทวนสิ่งต่างๆอย่างจริงจัง ผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่ารู้สึกว่าตนได้อะไรจากการอบรม 4 วันนี้มากกว่าหลักสูตรมินิ เอ็มบีเอ (Mini MBA) 4 เดือนที่เคยไปเรียนมาเสียอีก เพราะในเวลา 4 เดือนนั้น มีแต่เนื้อหาวิชาที่อัดแน่นด้วยการบรรยายจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในด้านต่างๆ แต่ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยง และไม่ได้มีเวลาอยู่กับตนเอง ที่จะได้ใคร่ครวญ และเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจริงๆ เลย

การแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารท่านนี้ทำให้ได้คิดทบทวนถึงกระบวนการอบรมแนวจิตตปัญญาที่เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษามาจัดกระบวนการและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวกระบวนกรที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อถอดบทเรียนว่ากระบวนการอบรมหรือการเรียนรู้เชิงจิตตปัญญามีหัวใจสำคัญอะไรบ้าง ประเด็นหนึ่งที่เห็นตั้งแต่เริ่มต้นและมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการเรียนรู้สู่ภายในคือการให้เวลาและพื้นที่ในการใคร่ครวญ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เปิดใจเรียนรู้สิ่งต่างๆและตนเองด้วยใจที่สงบ เปิดกว้างอย่างแท้จริง

เริ่มตั้งแต่กระบวนการทำความเข้าใจกับโครงการอบรมกระบวนกรแนวจิตตปัญญา เราถกกันว่าจะมีวิธีนำเสนอ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินงานของโครงการฝึกอบรมซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการวิจัยด้วย ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร เราตัดการนำเสนอด้วยสไลด์ PowerPoint ออกไปเพราะมองเห็นว่าเป็นการนำเสนอที่ถูกกำหนดโดยผู้เสนอเป็นหลัก ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ยาก วิธีที่เราตัดสินใจเลือกเป็นวิธีง่ายๆ คือการทำโปสเตอร์สรุปเนื้อหาที่ต้องการเสนอ วางกับพื้น กระจายไปทั่วห้อง ให้ผู้เข้าร่วมเดินดู และใช้เวลาพิจารณาเงียบๆ โดยไม่ต้องพูดคุยกัน แล้วลองทบทวนว่า ตนมีคำถามหรือประเด็นขัดแย้งอย่างไร มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม โดยให้เขียนลงในสมุดของตนเอง ตอนท้ายจึงให้นำมาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อย ซึ่งมีคณะทำงานของโครงการเข้าร่วมอยู่ด้วยทุกกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นหรือคำถาม โดยไม่ต้องบีบบังคับให้กลุ่มสรุปความคิดเห็นมา “นำเสนอ” ด้วยความเร่งรีบอย่างที่มักทำกัน ปรากฏว่ากิจกรรมง่ายๆ นี้ได้ผลเกินคาด ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้ใคร่ครวญจริงๆ และข้อคิดเห็นที่คณะทำงานได้รับจากกลุ่มย่อยก็มีประโยชน์ต่อการปรับรูปโครงการและการทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมต่อมาได้มาก

ลักษณะคล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกในกระบวนการอื่นๆ เช่นในการเรียนรู้เรื่องจิตตศิลป์ โดยสถาบันอาศรมศิลป์ กิจกรรมสองสามกิจกรรมที่คนชอบมากที่สุด กลับเป็นกิจกรรมที่ไม่มีโครงสร้างซับซ้อนแต่เปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้และใคร่ครวญด้วยตนเอง เช่น การทำตุงร่วมกันเป็นหมู่คณะที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดวิธีการทำงานของกลุ่มในการสร้างสรรค์ศิลปะสาธารณะร่วมกัน หรือการให้เวลาสั้นๆ เพียง 20 วินาทีในการวาดภาพแสดงอารมณ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปอย่างฉับพลัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายหลังในกลุ่มย่อย

ในการอบรมอีกครั้งหนึ่งกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่าทำให้ได้ประโยชน์และเกิดการเรียนรู้กับตนเองมากคือ การที่กระบวนกรตั้งคำถามว่าจากกิจกรรมที่จบลงไป มีผลกระทบต่อตนเองอย่างไรบ้าง และแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตนเองบ้าง โดยให้ใช้เวลานั่งอยู่กับตนเองเงียบๆ และบันทึกลงในสมุดส่วนตัวของตัวเอง

นอกจากนี้ ในกิจกรรมที่จัดโดยสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมใช้เวลาหามุมสงบส่วนตัวของตนเองในธรรมชาติ โดยมีคำชี้แนะเพียงว่าให้เปิดสัมผัสเปิดใจรับอย่างเต็มที่กับทุกสิ่งที่เข้ามา หากอยากบันทึกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นก็ให้บันทึก หรือหากต้องการเพียงเก็บรับประสบการณ์การเรียนรู้นั้นไว้ในใจโดยไม่ต้องบันทึกก็ได้ ผลจากประสบการณ์ที่เรียบง่ายแต่งดงามครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนสามารถสัมผัสได้ถึงความงาม และแง่มุมทางปัญญา ทั้งในสรรพสิ่ง และในใจของตนเองได้อย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้ง บางคนบรรยายว่าเห็นความงามของต้นหญ้าต้นเล็กๆ ที่พยายามเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อเทียบกับความคิดปกติที่มองต้นหญ้านั้นเป็นวัชพืชที่รกรุงรังควรถอนทำลาย

การให้เวลา และการเปิดพื้นที่ว่างให้มีการคิดใคร่ครวญจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง แต่ผู้สอนหรือผู้จัดกระบวนการต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักการนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เคยเห็นมาแล้วในหลักสูตรการศึกษาบางหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ที่พยายามตัดจำนวนหน่วยกิตให้น้อยลง ตัดชั่วโมงสอนให้น้อยลง เพื่อนักศึกษาจะได้มีเวลา “ว่าง” มากขึ้น แล้วกลับไปเร่งสอนหรืออัดเนื้อหาที่คิดว่า “จำเป็น” เข้าไปในเวลาที่เหลืออยู่น้อยลง จนทำให้เกิดการเรียนรู้น้อยลงไปอีก แทนที่จะใคร่ครวญว่าอะไรที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ และสอนให้น้อย แต่ให้เกิดการเรียนรู้ให้มาก และช่วงเวลาว่างก็ต้องเป็นเวลาว่างที่มีการจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นเวลาที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชอบเรียกชั่วโมงการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เรียกกันว่า SDL (Self Directed Learning) แทนว่า “Sleep Directed Learning” คือ ชั่วโมงพักผ่อนนอน (ไม่) เรียนรู้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home