โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐
-------------------------



ชีวิตที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน หากเราเลือกใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับกระบวนการภายในตัวของมนุษย์ การใช้ชีวิตเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องเริ่มต้นโดยมองตัวเราเองใหม่ในฐานะเป็นหน่วยองค์รวม อันประกอบขึ้นจากหลายส่วน ในที่นี้อาศัยการจำแนกจัดกลุ่มส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบกันเป็นองค์รวมชีวิต ออกเป็น “สามฐาน สามทัศน์”


สามฐานคืออะไร? สามฐานคือ ฐานกาย ฐานใจ และฐานปัญญา สามทัศน์คืออะไร? สามทัศน์หรือสามมุมมองคือ ทัศน์หรือมุมมองของฉัน ทัศน์หรือมุมมองของคนอื่น และทัศน์หรือมุมมองของกระบวนการ
การแยกแยะส่วนต่างๆ ในองค์รวมชีวิตออกเป็นสามฐาน สามทัศน์ เป็นการแยกแยะอย่างง่ายที่ช่วยให้เราเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มีตัวตนที่สามารถควบคุมได้ แต่มนุษย์จำเป็นต้องอ่อนน้อมอย่างเข้าใจต่อความหลากหลายอันประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวฉัน” โดยแต่ละส่วนต่างมีกระบวนการที่มี “ชีวิต” ของมันเอง และความเป็นทั้งหมดที่ประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวฉัน” คือ “สหชีวิต” ที่แต่ละส่วนต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน


ฐานกาย เป็นฐานแห่งพลังความมุ่งมั่นและการลงมือกระทำ มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น ระบบการเยียวยาตัวเอง ระบบการรักษาสมดุลอุณหภูมิ และระบบการแลกเปลี่ยนอาหารกับธรรมชาติ เป็นต้น ฐานใจ เป็นฐานแห่งความรัก ความใส่ใจ และการเชื่อมโยงสัมพันธ์ มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น กลไกการป้องกันตนเอง (Defense mechanism) การตั้งมั่นจดจ่อเป็นสมาธิ และการแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกกับเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น ฐานปัญญา เป็นฐานแห่งการตื่นรู้ ก้าวข้าม และปล่อยวาง มีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เช่น การใคร่ครวญพินิจพิจารณา ความรู้สึกตัว (awareness)


ทัศน์ของฉัน มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการรู้สึกจากภายในจิตใจของเราเอง โดยมีตัวเราเองเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ ทัศน์ของคนอื่น มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการพูดคุยสนทนากับบุคคลอื่น เพื่อร่วมรู้สึกและเข้าใจมุมมองของเขา โดยเอาบุคคลอื่นเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ ทัศน์ของกระบวนการ มีกระบวนการเข้าถึงด้วยการสังเกต ศึกษา และวิเคราะห์วิจัย โดยเอาระบบหรือกระบวนการเป็นตัวตั้งของความใส่ใจ เช่น การวางแผนระบบการทำงาน การเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การวางระบบการประเมินผล เป็นต้น


เราทุกคนในฐานะมนุษย์ต่างมีกระบวนการเหล่านี้ดำรงอยู่แล้ว แต่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เรากลับไม่เคยนึกถึงและใส่ใจถามตัวเองว่า กิจกรรมที่เราทำ กำลังขัดแย้งกับกระบวนการอันเป็นธรรมชาติอยู่บ้างหรือไม่ เรากำลังทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดความป่วยไข้หรือเสียหายชำรุด หรือเรากำลังทำให้เกิดภาวะติดขัดในกระบวนการใดอยู่บ้าง จนทำให้กระบวนการเหล่านี้ทำงานอย่างผิดปกติ ไม่ไหลลื่น


ทั้งนี้เนื่องด้วยองค์รวมชีวิตคือการพึ่งพิงอิงอาศัยซึ่งกันและกันของสหชีวิตในสามฐาน สามทัศน์ การฝึกฝนปฏิบัติอย่างเหมาะสมและบูรณาการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในเบื้องต้นเราอาจพิจารณาการปฏิบัติเหล่านี้ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต


การฝึกปฏิบัติในฐานกาย ได้แก่ การออกกำลังกาย เช่น ชี่กง โยคะ ยกน้ำหนัก แอโรบิค วิ่งจ๊อกกิ่ง ว่ายน้ำ การเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด และปลอดภัย การผ่อนคลายร่างกาย เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่าง การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (total relaxation) เป็นต้น การฝึกปฏิบัติในฐานใจ เช่น การทบทวนความรู้สึกของตนเอง การฝึกสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย (อย่างผ่อนคลาย) การเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เป็นต้น การฝึกปฏิบัติในฐานปัญญา เช่น การใคร่ครวญอย่างรอบคอบแยบคาย การเจริญสติ ฝึกความรู้สึกตัว เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าการฝึกปฏิบัติข้างต้นส่วนใหญ่เป็นการฝึกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงมุมมองของฉันเป็นส่วนใหญ่ แต่การปฏิบัติเช่นนี้อาจทำให้เกิดภาวะติดขัดอยู่ภายในมุมมองเดียว หากขาดการเปิดมุมมองของคนอื่น และมุมมองของกระบวนการด้วย


ดังนั้น การเข้าถึงมุมมองของคนอื่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขยายโลกทัศน์ให้กว้างออกไปพ้นจากตัวเอง ไปสู่คนในครอบครัว ไปสู่เพื่อนร่วมงาน ไปสู่เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ การฝึกปฏิบัติอย่างง่ายๆ คือ การฟังอย่างใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพื่อนบ่นถึงความทุกข์ที่เขากำลังประสบ โดยไม่รีบตัดสินและแทรกด้วยความเห็นของเรา หลักการคือการเอาคนอื่นเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลาง


แต่กระนั้นการฝึกอยู่กับมุมมองคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เลยหลงไปกับความสัมพันธ์จนอาจทำให้ตัวเราประสบแต่ความทุกข์และท้อแท้ได้ เพราะเรื่องราวของคนอื่นมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด การใช้มุมมองของกระบวนการจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนอยู่ในกระบวนการใด ตัวอย่างเช่น เรากำลังให้คำปรึกษาแก่เพื่อน และเราโศกเศร้าไปกับเขาเสียจนไม่สามารถหลุดออกจากมันได้ เราอาจจำเป็นต้องใช้การใคร่ครวญพินิจพิจารณา หรือความรู้สึกตัว ต่อตัวเรา และตัวเขา ด้วยว่า ณ ขณะนี้ กระบวนการภายในของเรากำลังติดอยู่กับฐานใจ โดยไม่สามารถหลุดออกไปได้ ทำให้ฐานกายและฐานปัญญาขาดพร่อง เพียงแค่เราสังเกตได้เท่าทันว่าเรากำลังติดอยู่กับกระบวนการอะไร นั่นก็คือการเริ่มมีมุมมองของกระบวนการแล้ว หลังจากนั้นหากเราชำนาญเพียงพอ ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อทำให้พลังที่ติดอยู่กับฐานใจไหลเคลื่อนไปสู่ฐานกายหรือฐานปัญญา ทั้งในตัวเราและตัวเพื่อนได้เช่นกัน


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการเริ่มทำความรู้จักกับส่วนต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์รวมชีวิต ไม่มีส่วนใดเลยที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวฉัน” เป็นเพียงการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของกระบวนการที่มีชีวิตของมันเองในส่วนต่างๆ กรอบสามฐาน สามทัศน์ ทำหน้าที่ในขั้นต้นเป็นเครื่องเตือนให้เราไม่หลงลืมต่อแง่มุมที่สำคัญๆ ของมนุษย์ เมื่อเริ่มเปิดทัศนะแบบองค์รวมเช่นนี้ แล้วแยกแยะส่วนต่างๆ เพื่อร่วมปฏิบัติอย่างบูรณาการ ก็จะสามารถนำไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ได้ในแต่ละวัน แต่ละช่วงชีวิต และตลอดไป

1 Comment:

  1. Anonymous said...
    ด้วยความเคารพอย่างสูงใความกรุณาที่แสวงหาแนวคิดที่หลากหลายเพื่อช่วยแต่ละบุคคลในการพัฒนาการ"การคิด"
    ขอแสดงความคิดเห็น...อันเป็นความคิดส่วนตัวซึ่งมีพื้นฐานมากจากการมองโลกในแง่ร้าย
    ด้วยอ่านคร่าวๆแล้วรู้สึกว่าความคิดเห็นเป็นการพยายามมองและแยกแยะให้เป็นระบบอย่างวิทยาศาสตร์คือแยกเป็นส่วนๆ เป็นกระบวนการที่แยกความคิดบางเรื่องออกจากกันเป็น 3 ด้าน
    ซึ่งผมคิดว่าแต่ก่อน ซึ่งอาจจะเป็นความคิดของแต่ปัจเจกบุคคลอันอาจคิดและตระหนักได้ ถึงความสำคัญของการคิดเพื่อให้ได้สิ่งที่เดียวกันคงไม่ได้มีการแยกออกเป็นส่วนๆเช่นนี้
    ในทางกลับกันการแยกส่วนเป็นข้อดีของการผลิตซ้ำแต่ผมกลับรู้สึกว่ามันได้ทำลายความสามารถในการคิดของคนไป เป็นต้นว่าในแต่ละฐานที่ได้แยกไว้ ถ้าเราคิดทีละฐานเราก็จะติดอยู่กับกรอบของเรื่องนั้น ซึ่งเราอาจจะคิดต่อไปได้อีกถ้าเราไม่ได้ยึดกรอบฐานนั้นไว้ ผมคิดว่าความคิดนั้นต่อเนื่องและไม่ควรแยกเป็นระบบให้มากจนเกินไป แต่ควรจะยึดในการไตร่ตรองอย่างมีสติ เพราะมันจะสัมพันธ์ไปกับฐานความคิดและวัตถุทางความคิดที่สะสมมาจากประสบการณ์ต่างๆ และการไตร่ตรองย่อมกระชับความสัมพันธ์ของแต่ละอย่างเองโดยไม่ต้องอาศัยกฎของการแยกทัศน์เลย
    ยิ่งตอนท้ายๆอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นส่วนที่ "ก็มีส่วนถูก" เช่น เรื่องที่ว่าการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นนั้น เห็นว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น แต่เป็นการให้เกียรติใคความรู้สึกของคนอื่นและความอยากที่จะเข้าใจความรู้สึกต่างหากที่สำคัญ
    ซึ่งหลายๆสิ่งที่กล่าวมาเจ้าของบทความอาจเข้าใจดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผมยังใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินบทความข้างต้นโดยให้ความสำคัญกับบางสิ่งเป็นพิเศษเท่านั้น และต้องขอโทษสำหรับภาษาที่อาจวกวนอ่านไม่รู้เรื่องของผมด้วยครับ
    nang21@yahoo.com

Post a Comment



Newer Post Older Post Home