โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐

-------------------------------------------------------------------------

แปลกจริงที่พักนี้ในหัวผมคิดวนเวียนเรื่องก้อนนุ่มๆ ตรงบั้นท้ายที่หลายคนนั่งทับมันอยู่บ่อยๆ ด้วยว่าช่วงนี้ผมได้เกี่ยวข้อง พบเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยน และลองใช้เจ้าก้อนนุ่มๆ นี่อยู่หลายครั้ง

ตัวอย่างเช่น เมื่อคราวที่ผมติดตามอุปัฏฐากพระอาจารย์ท่านไปเยี่ยมชม Shambala Mountain Center ซึ่งเป็นสถานภาวนาของศาสนาพุทธในสายวัชรยาน ที่เมืองโบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา ผมเห็นฝรั่งเวลานั่งสมาธิภาวนาเขามักจะนั่งบนเบาะหรือใช้หมอนหนุน แล้วก็มีทั้งคนที่นั่งแบบขัดสมาธิอย่างเราท่านนั่งกันส่วนใหญ่ แต่ใช้หมอนค่อนข้างสูงหนุนไว้ตรงก้น หรือบ้างก็นั่งคุกเข่าคร่อมบนหมอน (ซึ่งสูงมาก) เลยก็มี

พระอาจารย์ท่านมีทีท่าว่าออกจะขำๆ กับการนั่งของฝรั่ง ถึงขนาดรุ่นน้องของผมที่เป็นนักศึกษาชาวไทยที่นั่นเอ่ยถามท่านด้วยความสนใจใคร่รู้ว่า “แล้วคนนั่งภาวนาบนเบาะบรรลุธรรมได้ไหมครับ?”

ท่านตอบว่า "มันเป็นภาคติดสบาย เอาแบบไม่ปวดไม่เมื่อยมากนัก พอให้จิตสงบ เป็นสมาธิ แต่ไม่ใช่ภาคฆ่ากิเลส"

เราพบว่าวัดอื่นๆ ที่ได้ไปแวะเยี่ยมล้วนแล้วแต่มีเจ้าเบาะรองนั่งก้อนกลมๆ บ้าง ก้อนสี่เหลี่ยมบ้างทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธเถรวาท ทั้งธรรมยุติและมหานิกาย มหายาน หรือวัชรยาน เรียกว่าเป็นของคู่วัดเลยก็ว่าได้
ผมว่าน่าเห็นใจนะครับ เพราะชาวตะวันตกเหล่านี้เกิดและโตในวัฒนธรรมนั่งเก้าอี้ ไม่ค่อยได้นั่งพื้น หลายคนพอนั่งกับพื้นก็จะขัดสมาธิ คือคู้หรือพับขาเข้ามาเฉยๆ ทำทั้งสองข้างยังไม่ได้เลย การมีเบาะรองก็ช่วยทำให้เขานั่งได้ ไม่ทรมานเกินไปนัก แต่ก็คงไม่เฉพาะชาวตะวันตกเท่านั้น เดี๋ยวนี้เด็กตะวันออกและเด็กไทยจำนวนมากก็นั่งพื้นกันไม่ค่อยเป็นเหมือนกัน

ในเมืองไทยของเราช่วงนี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวคราวการเดินทางมาของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เพราะเป็นที่พูดถึงกันไม่น้อย คนที่คุ้นเคยกับกิจกรรมของท่านและหมู่บ้านพลัมก็อาจนึกถึงการเจริญสติด้วยการเดินในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การร้องเพลง (“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน...”) หรือการนั่งภาวนา ซึ่งพบว่ามักจะมีเบาะอยู่ด้วย เพราะลูกศิษย์ลูกหาของท่านนั้นเป็นชาวตะวันตกจำนวนมาก

เมื่อครั้งผมได้ฟังท่านบรรยายที่ลินคอล์นเซนเตอร์ ที่มหานครนิวยอร์ก ในหอประชุมได้จัดเตรียมเบาะกลมๆ วางเรียงสลอนเหมือนยานอวกาศลำน้อยๆ เต็มไปหมด คาดว่าในงานปาฐกถาธรรมและงานอบรมภาวนาขณะท่านอยู่เมืองไทย ระหว่าง ๑๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นี้ เราคงจะพบเห็นเจ้าก้อนๆ นี้ไม่มากก็น้อย
อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีเรื่องที่ทำให้นึกถึงเบาะได้อีก เพราะผมไปเข้าร่วมงานจิตตปัญญาเสวนา ครั้งที่ ๔ ณ วัดญาณเวศกวัน ซึ่งจัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล การเสวนาครั้งนี้มีคุณหมอธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นผู้บรรยาย เรื่อง Spirituality in the Modern World แม้หัวเรื่องจะชื่อว่าจิตวิญญาณแต่คุณหมอกลับพูดเรื่องการพัฒนาหรือฝึกกาย (Body) และจิต (Mind) ในโลกสมัยใหม่เป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่าเรื่องจิตวิญญาณ (Spirituality) เป็นการรับรู้และเข้าใจพ้นจากประสาทสัมผัส ทั้งอยู่นอกเหนือในมิติของเวลาและสถานที่ จึงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะใช้ภาษาพูดสื่อสารทำความเข้าใจกันได้

คุณหมอธีระเกียรติพูดเรื่องการจัดวางตำแหน่งของร่างกายหรือท่าทางในชีวิตประจำวันและสำหรับการภาวนาไม่น้อย บอกว่าคนเราควรจะฝึกยืน เดิน และนั่งให้ตรง ให้น้ำหนักของร่างกายตกลงแนวดิ่งผ่านศูนย์กลางของร่างกายพอดี เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบางมัดต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา

การจัดวางท่าทางของเราสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับมีผู้บอกว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากได้หญ้าคา ๘ กำที่โสตถิยะพราหมณ์ ถวายให้ระหว่างทาง ไปยังต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ไกลจากแม่น้ำเนรัญชรา เอาไว้ปูรองนั่ง

ยามนั่งสมาธิภาวนาอาจลองเอาหมอนเล็กๆ หนุนใต้ก้น เพื่อยกกระดูกก้นกบให้สูงขึ้น เพราะมีผู้ศึกษาวิจัยแล้วว่าท่านั่งที่กระดูกก้นกบอยู่สูงกว่าเข่านั้น จะช่วยให้ร่างกายของเราสามารถตั้งตรงและไม่เกร็งได้ง่ายขึ้น คุณหมอยืนยันว่าความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งดีๆ ที่โลกสมัยใหม่มีไว้ให้ เทคนิควิธีการใหม่ๆ ที่ค้นพบได้ช่วยเสริมความรู้ที่มีมาแต่เดิม แม้แต่การนั่งภาวนา

ฟังแล้วทำให้ผมนึกถึงเรื่องเบาะรองนั่งขึ้นมาอีก ผมนึกเปรียบเทียบว่าการปฏิบัติภาวนามันเหมือนกับการออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่ง ส่วนรองเท้าแม้จะเป็นอุปกรณ์สำคัญช่วยให้เราเดินได้สะดวกขึ้น แต่หากเรามัวคร่ำเคร่งเลือกว่าจะเป็นรองเท้าแตะเพราะโปร่งสบาย รองเท้าผ้าใบเพราะกระชับแน่น หรือจะเป็นแบบหุ้มข้อเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิกก็ตาม การณ์จะกลับกลายเป็นว่าเรามัวแต่เลือก พลอยแต่วุ่นอยู่กับการคิดระดมความเห็น บานปลายไปจนจัดประชุมสัมมนา อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิจัยค้นหารองเท้าที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทางไป เช่นนี้แล้วก็คงไม่ได้ออกเดินทางไปถึงไหนสักที มัวแต่เกี่ยงว่าต้องใช้เบาะแบบไหนก็เลยไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที

การปฏิบัติภาวนานั้นต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หากเรามัวกังวลหรือสนใจเลือกเบาะรองนั่งมากไปหรือยึดติดกับการสรรหาเบาะที่ช่วยให้นั่งได้สบายขึ้น ระวังจะเป็นอย่างนักสะสมเครื่องออกกำลังกายชั้นดีราคาแพงแต่กลับไม่ค่อยได้เอาออกไปใช้จริงจัง

สำหรับผมแล้ว การปฏิบัติภาวนานั้นจะใช้เบาะใช้หมอนหรือไม่ใช้ก็ได้ครับ หากว่าเราใช้แล้วรู้สึกดีก็ใช้ไปเถอะ หากใช้แล้วเก้ๆ กังๆ ก็ไม่ต้องใช้ เท่านั้นเอง ถือเสียว่าเป็นสิ่งช่วยเสริมการเดินทางของเราที่จะเลือกเป็นตัวช่วยหรือไม่ก็ได้

แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะวุ่นวายสับสน มีเรื่องราวรายรอบตัวที่ดึงดูดความสนใจ และหันเหพาเราออกไปจากการปฏิบัติ แต่ก็ให้เราได้ความรู้ที่ว่ายกก้นขึ้นหน่อยแล้วสามารถ "นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า" อย่างที่ควรทำได้ง่าย เราจะได้แต้มต่อสักหน่อยในการปฏิบัติ ชดเชยกับการต้องอยู่ในสภาพปัจจุบันก็คงไม่เห็นเป็นไรนัก จริงไหม!

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home