โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐

--------------------------------------------------------------

สืบเนื่องมาจากการตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนเรียนรู้ที่มุ่งทั้งความสัมฤทธิผลทางวิชาการและการเรียนรู้ที่ผ่านการใคร่ครวญจากภายในของผู้เรียนในทุกสาขาวิชา เพื่อเสริมสร้างให้บัณฑิตเป็นผู้มีความสามารถทั้งวิชาการและเป็นผู้มีคุณธรรม มีสติ เป็นคนดี สามารถชื่นชมความงามของความสัมพันธ์โยงใยของสรรพสิ่ง และเป็นผู้มีความสุขที่เห็นคุณค่า ความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงมีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดลในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป และการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโท สาขาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

มีคำถามเกิดขึ้นว่าควรจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร และการเรียนการสอนตามแนวจิตตปัญญาศึกษานั้นสามารถเกิดขึ้นในวิชาทั่วๆ ไปได้หรือไม่ ผู้เขียนจึงใคร่ขอแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน วิชาเทววิทยาคริสต์ศาสนา ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนการสอน

ผู้เรียนทั้งหมดในชั้นเรียนนี้เป็นชาวพุทธ ทั้งพระภิกษุและฆราวาส หัวข้อที่เรียน คือ Theodicy ซึ่งเป็นการศึกษาที่พยายามอธิบายความเข้าใจว่า พระเจ้าผู้ทรงมหิตานุภาพ ทรงเป็นสัพพัญญู ที่มีความรัก และเมตตาต่อมนุษย์ ทำไมจึงยังมีเหตุการณ์ทุกข์ยาก และความเลวร้ายเกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ทั้งเด็กและผู้หญิง เช่นการตายด้วยระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น นักเทววิทยาที่สำคัญชาวคริสต์หลายท่านต่างได้นำเสนอทฤษฎีที่น่าสนใจหลายทฤษฎี เพื่ออธิบายตีความคำสอนให้คริสตชนเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของศาสนาของตนมากขึ้น

ในฐานะผู้เรียนเป็นชาวพุทธผู้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่การเรียนเกี่ยวกับศาสนาอื่น นักศึกษาได้รับคำแนะนำให้ศึกษาด้วยท่าทีแบบ ภาวนิยม (Objective) คือศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อ และคำอธิบาย ตามสภาวะของศาสนานั้นๆ นักศึกษาหลายรูปและหลายคน ยังไม่สามารถคล้อยตามคำอธิบายของทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ จึงจำเป็นที่จะใช้กระบวนการ Dialogue (สานเสวนา หรือ สุนทรียสนทนา) ซึ่งเป็นการฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเมตตา ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ด้วยการไม่ตัดสินไว้ก่อน เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อให้นักศึกษาได้ “ตระหนักรู้” และ “มีสติ” ให้มี “การไตร่ตรองและพิจารณาอย่างใคร่ครวญ” คำถามที่นักศึกษาต้องให้ความสำคัญ คือ ให้ทุกคนสังเกต และสะท้อน “สภาวะจิต” ของตนขณะเรียนสิ่งที่ต่างจากความเชื่อของตนว่ารู้สึกอย่างไร เพื่อตั้งสติก่อนใช้การให้คุณค่าของตนตัดสินผู้อื่น

เมื่อนักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาและจิตใจของตนผ่านกระบวนการ Dialogue นี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนการสอนด้วยวิธีการเช่นนี้ได้ก้าวมาสู่วิถีทางแบบจิตตปัญญาศึกษาในวิชาเทววิทยาคริสต์ศาสนาแล้วเช่นกัน
ตัวอย่างต่อไปเกิดขึ้นในการวางแผนการจัดการสอนวิชาศึกษาทั่วไป ที่ต้องการให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ได้ จึงเน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากที่สุด โดยออกแบบวางแผนจัดการศึกษาในลักษณะแบ่งกลุ่ม ให้นักศึกษาทำงานกลุ่มร่วมกันในการวิเคราะห์วิจารณ์บทเรียน

แต่เนื่องจากนักศึกษาปริญญาตรีมีจำนวนมาก การใช้วิธีแบ่งกลุ่มทำงานทำให้มีจำนวนกลุ่มมาก และในแต่ละกลุ่มก็จะมีจำนวนนักศึกษามากเช่นกัน ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาทุกคนได้ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้นักศึกษาทุกกลุ่มได้นำเสนอผลงานเท่าเทียมกัน และจะทำอย่างไรให้นักศึกษาทุกคนยังคงเห็นความสำคัญในการรับผิดชอบ ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการสุ่มขึ้นมานำเสนอผลงานก็ตาม

ทางออกอาจกระทำได้โดยการวางกติกาให้นักศึกษาทุกกลุ่มได้ฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยการจัดวางกติกาให้ทุกคนต้องฟังอย่างใคร่ครวญกับการแสดงความคิดเห็นของเพื่อน ขณะฟังต้องตั้งใจด้วยความอดทนที่จะไม่ตัดสินความคิดเห็นของเพื่อนที่อาจต่างกัน หัดใจกว้างในการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ฝึกความรับผิดชอบในการจะต้องมี “ส่วนร่วม” ในการทำงานของกลุ่มให้สำเร็จ และเมื่อสุ่มให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มขึ้นมานำเสนอ ทุกคนในกลุ่มก็ต้องพร้อมและสามารถนำเสนอได้ เพราะทุกคนได้ผ่านการทำงานโดยการฟังอย่างลึกซึ้งในทุกขั้นตอนของการทำงานในกระบวนการ Dialogue

การฝึกให้นักศึกษาได้มีความสามารถในการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ได้รับมอบหมายนี้ เท่ากับนักศึกษาได้ผ่านการทำงานภายนอก (Outer Work) ขณะเดียวกันก็ได้ฝึกงานภายใน (Inner Work) หลายๆ ประการดังที่ได้กล่าวมาขั้นต้น กล่าวโดยสรุป คือ การศึกษาโดยวิธีการแบบจิตตปัญญาศึกษาสามารถจัดให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็น “ปกติ” และ เป็น “ตามธรรมชาติ” ในวิชาต่างๆ ด้วยการพัฒนาการเรียนที่เน้นทั้งความรู้ที่เป็น “ฐานหัว” “ฐานกาย” “ฐานใจ” ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home