โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐

-----------------------

เมื่อวานผมได้มีโอกาสพาครอบครัวไปกินข้าวเย็นกัน แม่ได้ให้แง่คิดในการใช้ชีวิตที่ดีมากๆ ที่ผมอาจละเลยมาเสมอ หรือไม่ทันได้คิดคือแนวทางของการอยู่ร่วมกัน แม่บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะประสบกับสิ่งที่ตัวเองพอใจและไม่พอใจ ซึ่งบางทีเป็นเพียงประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาเพียงชั่วขณะ ส่วนมากอารมณ์ที่พอใจก็จะผ่านไป ส่วนที่ไม่พอใจนั้นมักไม่ยอมให้ผ่าน และพยายาม “คิด” เพื่อทำความเข้าใจกับมัน เช่นว่า

“เอ..เขาทำอย่างนี้เป็นเพราะเขาไม่ชอบใจอะไรในตัวฉันหรือเปล่า” หรือ “ฉันไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจหรือเปล่า” หรือ “ช่วงนี้ชีวิตเขาคงประสบกับข้อจำกัดในตัวเองบางอย่างมั้ง เขาเลยมีพฤติกรรมเช่นนี้” หรือ “เขาต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ที่ทำให้เป็นเช่นนี้” หรือ “เอ...หรือฉันเองนั่นแหละที่เป็นปัญหา”

ไม่ว่าจะคิดไปในทางที่ “เขาคงมีปัญหาในตัวเอง” หรือ “ฉันคงมีปัญหาที่ฉันไม่รู้” ก็เป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นมาจากสิ่งที่แม่เรียกว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว”

แต่โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะคิดถึงคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ และพยายามคิดว่าเขามีปัญหาอะไร และหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้คิดถึงเขาเพื่อจะประทุษร้าย หรือ คิดลบ แต่ด้วยความรักและห่วงใยดีๆ นี่เองที่ทำให้เราพยายามคิดแล้วคิดอีก เราอาจเรียกว่า เป็นการวิเคราะห์อย่างกรุณาหรือด้วยความหวังดีก็ได้

ไม่เท่านั้นเรายังพยายามช่วยกันคิดอีก เพราะคิดคนเดียวอาจไม่รอบด้านพอ เราเลยชักชวนผู้คนผู้คนให้มาช่วยกันคิด ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าที่ละเอียดลึกซึ้งลงไปว่า เขาคนนั้น “มีปัญหา” อะไร และอะไรทำให้เขาต้องเป็นเช่นนั้น

ยิ่งคิดและคุยกันไป “เขา” ผู้นี้ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ มีรายละเอียดมากขึ้น และเราอาจเชื่อว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่รอบด้าน แม่นยำและใกล้เคียงความเป็นจริงเข้าไปทุกที เราอาจคิดว่าการคิดร่วมกันถือเป็นปัญญาร่วมอย่างหนึ่งที่สังคมกำลังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง การที่ได้มาร่วมกันและช่วยกันสืบค้นให้ลงลึกถึงทุกแง่ทุกมุมของความเป็นเขานั้น อาจทำให้เราค้นพบ “คำตอบ” หรือ “ทางออก” ให้เขาได้ แต่ยิ่งช่วยคิด ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ความคิดกลายเป็นความจริง ที่เรามักปักใจเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างไม่ตั้งใจ หรืออาจเรียกว่าตั้งใจคิดแต่ไม่ตั้งใจทำให้มันเป็นมายาภาพแห่งความจริง แล้วความจริงตามมุมมองของเราก็เริ่มแปรรูปเป็นความจริงทั้งหมด สมบูรณ์เข้มแข็งขึ้น ยิ่งได้รับการถ่ายทอดบอกต่อกันต่อไปเรื่อยๆ ภาพแห่งความจริงนี้ก็แพร่กระจายหรือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ปักใจทุกดวงให้ยอมรับไปตามๆ กันว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรเสียหายที่จะคิด แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะไม่คิดเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด เพราะบางทีอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นนั้นมันอาจไม่ได้มีที่มาจากเจตนาร้าย หรือเจตนาที่เป็นลบใดๆ เลย เป็นเพียงน้ำผึ้งหนึ่งหยด ที่หยาดลงมากลางใจเราเพียงชั่ววูบเดียว เมื่อไม่เช็ดให้สะอาด ปล่อยทิ้งไว้ และด้วยความอนุมัติของเรา เหล่าแมลงวันแมลงหวี่ก็เข้ามาตอมน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวในใจเราจนโกลาหลวุ่นวายไปหมด ความรู้สึกไม่ปลอดภัยก็อาจลุกลามเข้าไปใหญ่จนต้องหาพรรคหาพวกมาสนับสนุนความถูกต้องของเราเอง

บางทีการที่เราจะเข้าใจน้ำผึ้งหยดเดียวได้ก็ด้วยการไม่คิด ไม่ต้องวิเคราะห์ ไม่ต้องช่วยกันคิดหรือช่วยกันสื่อสารบทวิเคราะห์ที่มักมีความเชิงลบ ที่โดยทั่วไปอาจไม่มีคำเรียก เพราะคำว่านินทาอาจแรงไปนิด คือการสื่อสารแบบให้ร้าย แต่คิดว่าการนินทาแบบอ่อนๆ ก็มี คือการพยายามวิเคราะห์ข้อจำกัดของคนอื่นนั่นเอง

หากเราได้เฝ้ามองภาชนะที่รองรับความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกอีกทีว่าเมื่อถูกกระทบนั้นสิ่งแรกที่เข้ามาให้สมองคืออะไร เช่น “นายคนนี้ไม่ชอบฉันหรืองัยนะ” นี่แหละน้ำผึ้งหยดแรก หยดมาแล้ว ถ้าอยากหาคำตอบ ก็อาจต้องสื่อสารอย่างกรุณาและถามไถ่อย่างซื่อตรง แทนที่จะมานั่งวิเคราะห์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือไม่ก็นิ่งไว้ก่อนแล้วเฝ้ามองดูปฏิกิริยาของตัวเองไปสักพัก ถ้าไม่สลักสำคัญอะไรความรู้สึกแย่ๆนี้ก็อาจหายไปเอง

บางทีการดูแลสัมพันธภาพนั้นอาศัยการลงไม้ลงมือทางกายมากกว่าการใช้เวลาในการคิด เช่นการกินข้าวด้วยกัน หรือออกไปจ่ายตลาดด้วยกันบ้าง หรือเดินเล่นร่วมกันและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันไป หรือบางครั้งไม่ต้องอาศัยการสนทนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ทำงานกับสมองส่วนกลาง หรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ทำหน้าที่ในการสัมผัสสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ เป็นการสัมผัสตรงและให้กระบวนการของจิตไร้สำนึกทำหน้าที่ค้นหาการเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างไม่ต้องใส่บทคิดหรือพรรณนาใดๆ ให้กับตัวเองก็เป็นได้

ไมตรีจิตที่เรามีต่อผู้คนหรือคนที่เรารู้สึกไม่พอใจ และช่วยรับประกัน “ความอยู่รอด” หรือความรู้สึก “ปลอดภัย” และปกติให้เขาเหล่านั้น อาจทำให้ความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจอันเกิดจากการคิดค่อยๆ จางคลายหายไปในตัวเราและคนอื่นด้วย

เมื่อเราใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เราก็อาจค่อยๆ เห็นโลกใบใหม่ปรากฏขึ้นในโลกใบเดิม ความรู้ในสิ่งต่างๆ หรือผู้คนต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสเชื่อมโยงตรงอย่างปราศจากเงาแห่งความคิดหรือความกลัว เพราะเรามักรับรู้ไปตามสิ่งที่เราเป็นและตามความสัมพันธ์ที่เรามีกับสิ่งนั้น หากเป็นความสัมพันธ์ที่แบ่งแยกเราออกจากสิ่งใด เราย่อมไม่มีทางเข้าถึงหรือเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามจริงได้ ผมเชื่อว่าความรู้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความรัก เพราะความรักทำให้เราเปิดใจรับรู้สิ่งต่างๆอย่างตรงไปตรงมา แต่ความกลัวทำให้หัวใจเราปิด ดังนั้นถ้ายังรู้สึกไม่รักหรือกลัวอยู่ก็อย่าแอบอ้างว่าเข้าใจเลย

แม้กระนั้นความรักหรือความเปิดรับอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายได้อย่างที่เป็น แต่อาศัยการเฝ้ามองและใคร่ครวญอย่างเนิ่นนาน โดยเฉพาะการเฝ้ามองดูตัวเราเองในฐานะที่เป็นประธานแห่งการรับรู้และตีความ หากเราเข้าใจอดีตของเรา ที่มักแสดงตัวผ่านอารมณ์และความรู้สึกทางกายในแต่ละปัจจุบันขณะ ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสแห่งการเรียนรู้ได้จักโลกภายในของเราเองได้มากขึ้น

อย่างน้อยการยอมรับว่า “เราไม่ชอบสิ่งที่เธอทำ” (แทนที่จะเป็นไม่ชอบเธอ) หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฉันไม่พอใจ และรบกวนจิตใจฉัน จนทำให้หัวใจฉันปิดลง” ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ซื่อตรงที่สุดในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เข้ามากระทบในชีวิต เป็นการจัดการน้ำผึ้งหยดแรกก่อนด้วยการยอมรับ ก่อนที่แมลงวันจะมาตอม แมลงวันคือความคิดหลังจากเกิดอารมณ์กระทบ แล้วการสืบค้นกับตัวเองและคนที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมาก็อาจช่วยให้น้ำผึ้งนั้นแปรเปลี่ยนเป็นการค้นพบกันและกัน หล่อเลี้ยงมิตรภาพให้แน่นแฟ้นที่จะ “อยู่ร่วม” กันได้ด้วยการยอมรับความแตกต่าง รักกันได้แม้ปราศจากความเข้าใจในเรื่องราวทั้งหมด รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความกลัวใดๆ และนี่เป็นสิ่งที่ผม “คิดไม่ถึง” และเป็นปัญญาปฏิบัติที่น้อมรับมาจากแม่ผู้ที่ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น “นักคิด”

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home