โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

-----------------

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การเจริญสติวิปัสสนา ร่วมกับผู้ป่วยใน “โครงการรักษาใจยามเจ็บป่วย” ของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโครงการที่แพทย์และพยาบาลร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางใจ แม้ร่างกายกำลังเจ็บป่วย โดยตอนต้นของกิจกรรมนั้น เป็นการพูดคุยระหว่างอาจารย์หมอ ศาสตราจารย์ พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ และผู้ป่วย โดยต่างเล่าถึงอาการทางกายและใจในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการนำเอาการฝึกสติไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางกรณี การฝึกสตินั้น สามารถช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลาลงได้ แต่บางกรณี แม้ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่จิตใจกลับไม่ทุกข์ตามโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้เขียนได้ไปนั่งเรียนรู้ท่ามกลางผู้ป่วยเหล่านั้น รู้สึกว่าท่านทั้งหลายมีความสุข อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เจ็บป่วยหลายคนด้วยซ้ำ

หลังจากที่คุณหมอและผู้เข้าร่วมได้สนทนากันสักพัก ก็เปลี่ยนเป็นการฝึกสติตามอิริยาบถการก้าวย่าง ฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย การเท่าทันความคิดและอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก้าวย่างนั้น รวมถึงการฝึกนั่งสมาธิ การเฝ้าดูการหายใจและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายอย่างเป็นปัจจุบัน ซึ่งทั้งอาจารย์หมอและคุณพยาบาลจะเน้นเรื่อง “การรับรู้ตามความเป็นจริง” เช่น เมื่อคิด รู้ว่าคิด ได้ยิน รู้ว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้ว่าได้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ผ่านเข้ามา เสียง สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป “เป็นจริง” ตามที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น

โดยปกติความคิดของคนแต่ละคนจะแว้บไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เร็วมาก อารมณ์ความรู้สึกก็เร็วไม่แพ้กัน สติจะระลึกรู้ตามไป บางครั้งเมื่อสติตามรู้ว่าแว้บไปแล้ว เครียดไปแล้ว มักจะเปลี่ยนเป็นไม่อยากเครียด โกรธ อยากหาย อารมณ์ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเร็ว การฝึกสติ ก็จะตามรู้ตามเข้าใจไปเช่นนั้น ในที่สุดจะเข้าใจ “ความจริง” ของการเปลี่ยนแปลง

การฝึกการเดินจงกรม หรือการเดินก้าวย่างอย่างมีสติ รวมทั้งการนั่งสมาธิ โดยเน้นการจัดวางร่างกายให้ลงนั่งอย่างเชื่องช้านั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง การชะลออิริยาบถทางร่างกายให้ช้าลง จะทำให้เห็นอิริยาบถทางใจได้ชัด ว่าจิตใจไม่ได้ช้าตามเลย บังคับก็ไม่ได้ และเมื่อใจเผลอไปคิดแว้บหนึ่ง ก็จะลืมอิริยาบถที่กำลังปฏิบัติไปแว้บหนึ่งเช่นกัน ก็รู้ว่าลืม ตั้งต้นใหม่ ให้อภัยตนเอง ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ทั้งยังเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะเท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น วางจิต วางใจ ได้อย่างเป็นกลาง ท่ามกลางความเป็นปัจจุบัน ความจำได้หมายรู้จะบอกทางต่อ ว่านับจังหวะไปถึงไหนแล้ว ความจำได้หมายรู้ในทางบังคับจะบอกหนทางหนึ่ง ความจำได้ในทางเผลอก็บอกอีกทางหนึ่ง เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก ตามดูตามรู้แทบไม่ทัน และใจก็หลอกตัวเองว่าไม่หลง ไม่เผลอสักหน่อย นับได้จนครบ แต่แท้ที่จริงหลงกับเผลอไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ผู้เขียนรับรองว่าการฝึกเช่นนี้จะทำให้มีโอกาสให้อภัยตนเองนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเมตตาภาวนาได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เกิดความรักตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าคนเรามีสิทธิ์เดินผิดพลาดได้ เมื่อผิดได้ก็แก้ไขได้ สติเกิดขึ้น กลับมาสู่ปัจจุบัน แล้วสติก็หายไปบ้าง แล้วก็กลับมาใหม่ ความเผลอก็หายไปต่อหน้าต่อตาได้เช่นกัน แล้วก็เดินหน้าต่อไปได้

ผู้เขียนรู้สึกว่าการฝึกวิปัสสนาร่วมกับแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถเข้าใจความเป็นจริงประการหนึ่ง ว่าสิ่งทั้งหลายบนโลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งชีวิต ร่างกาย และจิตใจให้เที่ยงได้ วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความจริงบนพื้นฐานของการสมมติ (สมมติสัจจะ; Relative Truth) เท่าที่จะประดิษฐ์ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ของความคิด จินตนาการบนโลกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่กระบวนการสร้างปัญญาสำหรับบุคคลๆ หนึ่งให้เข้าถึงความจริงที่แท้ ในระดับที่สูงขึ้น น่าจะตั้งอยู่บนการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายและใจของตัวมนุษย์เอง ซึ่งมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นปกติ ธรรมดาธรรมชาติที่ไม่ต่างกัน น่าจะเรียนรู้ร่วมกันได้ และในที่สุด สามารถนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไปช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากกองทุกข์ได้จริงๆ สมควรเป็นวิชาที่มนุษย์ทุกคนน่าจะได้ฝึกฝนเรียนรู้ และถ่ายทอดออกเป็นภาษาที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถเข้าใจได้ ตามบริบท ตามจริตและวิถีชีวิต แม้นชุดภาษานั้น จะเป็นเพียงสมมติสัจจะก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ย่อมต้องการการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงความรู้ภายในของแต่ละคน ให้ปรากฏออกมา ง่ายต่อการเข้าใจร่วมกัน และเมื่อนั้น มนุษย์แต่ละคนก็จะสามารถน้อมนำความรู้ของกันและกันไปเรียนรู้และปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป ดังที่อาจารย์หมอได้เพียรพยายามพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกคน ก่อนและหลังการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ป่วยที่มาฝึกปฏิบัตินั้น เข้าใจหลักการได้ไม่ยาก และท่านเหล่านั้นก็ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างยิ่ง หลังจากการฝึกเดินและนั่งอย่างมีสติร่วมกัน ผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า พลังกลุ่ม พลังความเป็นเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรนั้น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการฝึกไม่มากก็น้อย นึกถึงผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่น่าจะมีโอกาสได้รักษาใจยามเจ็บป่วย หรือคนที่ยังไม่ป่วยกายแต่ป่วยใจก็มีมากมาย หวังว่าท่านเหล่านั้นจะยังไม่ท้อแท้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ว่าท่านกำลังประสบพบเจอเหตุการณ์ใดที่ทำให้ทุกข์แสนสาหัส ขอมอบเรื่องราวข้างต้นไว้เป็นกำลังใจ อย่าเพิ่งท้อแท้ วันหนึ่งประสบการณ์ของท่านอาจสามารถช่วยผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยากได้อย่างดีเยี่ยม ดังเช่น แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมกันเยียวยาหัวใจของกันและกัน อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดเท่าที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้...

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home