โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

การทำงานเฉพาะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว การมุ่งผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่จำนวนชิ้นงาน หรือการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไปที่ขาดความสมดุลทางกายและใจ คงจะตกกระแสสำหรับยุคปัจจุบันที่มาแรงในมิติด้านชีวิตจิตใจ หรือคุณภาพด้านใน ดังที่เราเห็นหรือได้ยินผ่านชุดคำต่างๆ เช่น การอยู่เย็นเป็นสุข สังคมสุขภาวะ ความรู้คู่คุณธรรม การพัฒนาจิตใจ คุณภาพชีวิต ความเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน ชีวิตที่พอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืน การยกระดับจิตใจ วิถีพุทธ อิสรภาพทางใจ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ดัชนีความสุข วิถีแห่งสุขภาพ Healthy การรวมพลังทำความดีเรื่องต่างๆ องค์กรแห่งความสุข เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหนึ่งให้เราได้เห็นได้ยินอยู่เนืองๆ และมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสื่อต่างๆ คือ กิจกรรมการอบรมที่มุ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ตนเอง การเข้าใจผู้อื่น การปรับสมดุลกายใจ หรือการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การเจริญสติภาวนาในการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ในสถานที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้กำลังเข้าสู่ความเป็นเรื่องปกติ (อาจเกิดปรากฏการณ์ใครไม่เคยปฏิบัติธรรม จะเชยมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้) หรือการแทรกซึมของชุดคำต่างๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นนามธรรมเข้าขั้นอุดมคติ ในยุทธศาสตร์ พันธกิจ เป้าหมายของหน่วยงาน ระเบียบวาระแห่งองค์กรเริ่มมีปรากฏให้เห็น เสมือนเป็นยุคแห่งการแสวงหา พยายามหาคำตอบให้กับชีวิตและมุ่งสู่อุดมคติของสังคมที่สุขแท้และดีงาม และเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตที่เขาว่ากันในปัจจุบันได้ โดยที่มีภาพคู่ขนานเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง อาชญากรรม

ผลการสำรวจในแง่ไม่พึงประสงค์ของผู้คนในเรื่องต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ไร้พรมแดน ช่วยชี้ชวนให้เราเห็นความสำคัญของเรื่องข้างต้น ซึ่งจะเป็นทิศทาง เป็นธงนำ เป็นหลักไมล์ เป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งสะกิดใจให้เราต้องค้นหาว่าควรจะประพฤติปฏิบัติ ควรจะทำแผน หรือวัดผลประเมินค่าอย่างไรถึงจะใช่ หรือสะท้อนคุณค่าความหมายนั้นได้ อีกทั้งแนวปฏิบัติ ต้นแบบ ตัวอย่างนำร่อง ต่างได้รับความสนใจ มีการศึกษา สำรวจ เผยแพร่ ร่วมชื่นชมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

แต่สำหรับใครบางคนสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อมูลข่าวสารอีกแบบที่ไหลบ่าท่วมท้น น่าสับสน ทำให้ลังเลสงสัยกับการทำงานหรือวิถีชีวิตประจำวันว่ามีความสุขแท้จริงหรือเปล่า มิติด้านในขาดแหว่งไปหรือไม่ ต้องตั้งคำถามที่ไม่เคยคิดจะตั้งมาก่อน

แล้วเราควรทำอย่างไร หรือคิดแบบใด พูดทำนองไหน จึงจะได้เข้าสู่วิถีทางนั้น รู้สึกว่าใช่ ไม่หลอกลวง ของจริงแท้ที่เรายอมรับได้อย่างสนิทใจ ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่ใช่ทำนองว่าพูดหรือเขียนอย่างหนึ่ง แต่รู้สึกหรือทำอีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่าหากถูกตั้งคำถามในการทำงานเพื่อสอบทานคุณภาพชีวิตด้านใน เช่น ทั้งตัวเราและผู้ร่วมงานสุขใจ เป็นปลื้มกับผลงานและความสำเร็จนั้นขนาดไหน รู้สึกร่วมกันอย่างไรต่อชิ้นงาน ต่อความสำเร็จนั้น บางคนอาจจะเกิดอาการอึ้ง งงงวย ขวยเขิน คิดไม่ตกว่าจะตอบอย่างไร และหากได้คำตอบ บางทีคำตอบนั้นอาจจะทำให้เสียกำลังใจ และฉุดรั้งความพยายามครั้งใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ หากไม่ยอมรับว่าเรารวมตัวกันทำงานด้วยความเชื่อพื้นฐาน ทัศนคติหรือประสบการณ์ของแต่ละคนที่ต่างกันตั้งแต่ต้น แต่ละคนอาจจะใช้ความรู้สึก ค่านิยมหรือหลักยึดของตนไปตีความพฤติกรรมคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเป็นไปไม่ได้ว่าจะได้ตามความคาดหวังของทุกคนทั้งหมด ความไม่พึงพอใจของเราต่อเขา หรือของเขาต่อเราจะพรั่งพรูออกมา และเสี่ยงต่อความเจ็บปวดและเสียใจ หากไม่สามารถเปิดใจรับและจิตใจไม่มั่นคงพอ ในที่สุดความขัดแย้งใหม่อาจจะเกิดขึ้น

แต่ว่าหากจะบอกว่าตั้งคำถามเช่นนั้นได้อย่างไร? เพราะถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นดำเนินและลุล่วงไปตามธรรมชาติด้วยเหตุ-ปัจจัยที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ยากจะหยั่งรู้ หรือควบคุมได้ จะสุขหรือทุกข์ ชื่นชมหรือไม่ จะคิดว่าเป็นความสำเร็จของคุณ ของฉันหรือของเรา มันจะแปลกตรงไหน เรามาเรียนรู้และยอมรับความต่างดีกว่า พวกเราแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่และยังอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน มาเสริมสร้างกำลังใจกันตลอดเส้นทางเดินไม่ดีกว่าหรือ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสคิดดังๆ เราทุกคนมีศักยภาพและสามารถจะตระหนักรู้ถึงความถูกต้อง ความผิดพลาด ความเหมาะสม ความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราจริงๆ และเราทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิม แต่เราต้องไม่ละเลยที่จะใส่ใจ ให้เวลากับตัวเองและผู้อื่นในการซึมซับสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน และพร้อมจะนำไปสู่การแปลงที่ดีกว่าในทางปฏิบัติ

หากใจเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อความสุขที่แท้และยั่งยืนตามที่ว่ากันอยู่นั้น และไม่รู้จะเริ่มดำเนินการจริงจังหรือตั้งหลักอย่างไรเพื่อไม่ตกกระแสยุคปฏิรูปสุขภาพใจ ผู้เขียนคิดถึงตัวช่วยหนึ่งเพื่อการประคองใจเรา ไม่ให้หลงไปในความคิดไม่ดีที่มีต่อตนเอง บุคคลใกล้ชิด เพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมทางชีวิต จะได้ทำให้เราสามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างปกติเรียบร้อย นั่นคือการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนิชํานาญ ในการคิดเรื่องชื่นใจหรืออบอุ่นใจในอดีตของบุคคลเหล่านั้นหรือระหว่างเรา เพื่อใจที่สุขสงบ เบิกบาน ไม่ขุ่นมัว และอาจจะทำให้เราพร้อมที่จะขอโทษหรือให้อภัยกับเหตุแห่งความไม่พอใจทั้งหลาย

ตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่งที่จะลองหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องของหลานตัวน้อยในวัยเด็ก ที่เห็นตุ๊กแกเกาะอยู่บนฝาบ้าน แล้วพูดขึ้นว่า “จิ้งจกบ้านเราตัวใหญ่จัง” ... ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการกระตุ้นเราให้แอบยิ้มกับหลาน จิตใจอ่อนโยน เกิดความรู้สึกเอ็นดูหลานเรา และจะดำรงอยู่ได้หากหวนคิดถึงทุกครั้ง ถึงแม้หลานน้อยจะเติบโตและเปลี่ยนไป โดยที่เราเองรู้สึกอยู่ว่าที่น่าชังนั้นมากกว่าน่ารักนิดหน่อยเสียแล้ว

สักวันหนึ่ง “จิตตปัญญาศึกษา” อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการและปฏิบัติการที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และน้อมนำสิ่งที่เกิดจากการกระทำหรือการได้พบเห็นมาพินิจพิจารณา โดยจะเป็นวิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสม ทำให้เกิดความจัดเจนจากประสบการณ์เพื่อรังสรรค์สิ่งที่ดีกว่า

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home