โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสลองทำกิจกรรม “สนทนากับเสียงภายใน” (Voice Dialogue) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคุณฮาล และซิดรา สโตน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Voice Dialogue เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงภายในของตนเองชัดขึ้น เป็นการมองอีกด้านของเหรียญว่า สิ่งเดียวกันที่เรามองเห็นตัวเอง หรือมองเห็นในตัวผู้อื่น หากเรามองอีกด้านอาจจะเห็น กลับตาลปัตรไปได้มากมาย กิจกรรมดังกล่าวนี้ อาจารย์ วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้เป็นกระบวนกร ช่วยนำพาการเดินทางการมองโลกทั้งด้านในและด้านนอก และได้ช่วยให้ผู้เขียนได้มองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น ในเวลาอันสั้น

อาจารย์วิศิษฐ์ ชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น คืออะไร ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนได้ออกมา คือ ไม่ชอบคนฟุ่มเฟือย จากนั้น อาจารย์ชวนให้เรามองตัวเองต่อว่า แล้วในมุมกลับกัน ความเป็นตัวเราเองที่ตรงข้ามกับสิ่งนี้ล่ะ คืออะไร ผู้เขียนได้คำตอบที่ไม่ยากเย็นนักว่า คือการรู้จักประหยัด สมถะในการใช้จ่ายหรือบริโภค

คำถามต่อมาที่อาจารย์ชวนให้มอง คือ แล้วถ้าเราจะมองสิ่งนี้ที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น แต่จากมุมมองของเขา เขาจะเรียกหรืออธิบายสิ่งที่เขาทำว่าอย่างไร ผู้เขียนต้องลองมองสิ่งนั้นในเชิงบวกอย่างสุดขั้วดู ในช่วงนี้กระบวนกรจะให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการถามความเห็นกันได้ เพื่อหาคำที่น่าจะเป็นไปได้ หรือน่าจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งเราโดยลำพังอาจจะไม่กล้าคิดไปถึง และผู้เขียนก็พบว่าเขาคงจะมองตัวเขาเองว่า “ชื่นชมชีวิต” เห็นความน่ารื่นรมย์ในสิ่งต่างๆ และต้องการไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอย่างชื่นชม

จากนั้น อาจารย์ ชวนให้เราเดินทางต่อไปยังอีกด้านของเหรียญที่ค่อนข้างยาก คือ แล้วในสิ่งที่เราชื่นชมเกี่ยวกับตัวเราเอง ถ้าในมุมที่กลับกันคนอื่นเขาจะมองเห็นสิ่งนั้นในแง่ลบว่าอย่างไร กระบวนการในช่วงนี้ เราต้องอาศัยเพื่อนๆ ที่ร่วมทำกระบวนการด้วยกันช่วยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้คำที่เป็นไปได้ และอาจจะไปไกลเกินกว่าที่เราจะยอมรับเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งผู้เขียนก็ได้พบคำว่า ตระหนี่ถี่เหนียว ออกมาจากคำแนะนำของเพื่อนๆ

อย่างไรก็ตาม คำที่ผู้เขียนสะดุดใจเหลือเกิน กลับเป็นคำที่มองเชิงบวกต่อผู้ที่บริโภคหรือเสพอย่างฟุ่มเฟือย ว่าเป็นการ “ชื่นชมชีวิต” อาจารย์วิศิษฐ์อธิบายว่า สิ่งที่เราเลือกที่จะไม่ทำ และไม่ชอบในตัวคนอื่นด้วย บางทีก็เป็น “ไพ่ที่เราทิ้งไป” เราไม่ยอมถือไว้ในมือด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะด้วยคำสอนทางปรัชญาที่เรายึดถือศรัทธา แต่ในอีกด้านของเหรียญ มันคือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของเรา เป็น “เงา” (Shadow) ที่เราไม่ได้สังเกตเห็น ตระหนักรู้ หรือยอมรับ การทำกิจกรรม Voice Dialogue จึงช่วยเปิดไพ่ใบนี้ออกมา และช่วยให้เราไม่ตัดสินคนอื่นหรือตัวเองอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆ เรื่องเดียวกันมันมองได้หลายด้าน จากคนที่มองอยู่ซึ่งต่างกันหลายคน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเลือกที่จะทิ้งไพ่ใบไหน หรือถือไพ่ใบไหนไว้เท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับการประหยัด สมถะในการบริโภค ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ดี น่าภาคภูมิใจ ที่เรามีวินัยในตัวเอง สามารถจะกระทำได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็ไม่ได้หมายถึงว่า เราจะต้องไปไกลถึงขั้นละเลยไม่ชื่นชมชีวิตและความสวยงามต่างๆ รอบตัว

ทำอย่างไรเราจึงจะโอบกอดชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ โดยยังคงไม่เสพจนฟุ่มเฟือย และไม่ตัดสินการบริโภคหรือการเสพไปเสียหมดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากว่ายังอยู่ในขอบเขตของการสัมผัสและชื่นชมแง่งามของชีวิต โดยไม่เบียดเบียนเดือดร้อนต่อตนเอง ผู้อื่น โลก และธรรมชาติ ทั้งนี้ เป็นเพราะการมีความรักความเมตตาให้แก่ตนเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องมี ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า “When you love yourself, you can love others.” เมื่อเรารักตัวเอง เราก็จะสามารถรักคนอื่นได้ด้วย

สิ่งที่น่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับการมองเห็นเหรียญเพียงด้านเดียว คือ การตัดสิน ซึ่งมันหมายถึงการตัดอีกด้านที่เป็นไปได้ ของชีวิตให้ขาดหายไปด้วย การใช้ชีวิตเพียงครึ่งเดียว ภายใต้กรอบการมองผ่านแว่นที่จำกัด ทำให้ชีวิตของเราขาดความเป็นธรรมดา ที่เป็นธรรมชาติ และนั่นหมายถึง เราไม่ได้สัมผัสเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ตามที่มันเป็น แต่อยู่กับ “ความคิดเห็น” (opinion) ที่เราพร่ำบอกตัวเอง ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น อย่างนี้ การมองโลกที่บิดเบือน ย่อมจะทำให้ชีวิตของเราบิดเบี้ยวไปด้วย และจิตใจของเรา ก็ไม่มีความสุข เพราะมันบิดเบี้ยวบิดเบือนไปจากสภาวะที่ควรจะเป็น คือ การมองทุกสิ่ง อย่างที่เป็นจริงๆ เผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมา

ที่จริงแล้ว การเดินทางในชีวิตทุกย่างก้าว มีสภาวะที่สดและใหม่ของปัจจุบันขณะอยู่เสมอ หากจะใช้กรอบเดิมๆ กรอบเดียว มากำหนดการก้าวเดินทุกก้าว คงจะเป็นการละเลยการยอมรับความเป็นจริงตามสภาพ

การศิโรราบต่อสภาวะชีวิตอย่างที่เป็น ความพอเหมาะพอดีของแต่ละจังหวะก้าวย่างในชีวิต ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของแต่ละขณะนั้น ว่าควรสละละวางการบริโภคแค่ไหน หรือชื่นชมชีวิตมากน้อยเพียงใด และอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หากเราเปิดใจเฝ้าดู จะสามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ไม่ยากว่า แค่ไหน คือสิ่งที่พอดี พอเหมาะสำหรับตน

ความกล้าหาญที่จะเผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมาดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในสภาวะปรกติ แต่กระบวนการดีๆ เช่น กระบวนการ Voice Dialogue เป็นกระบวนการเชิงจิตตปัญญา (contemplation) ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ที่จะมองตัวเองและผู้อื่น ด้วยใจ อย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการที่ช่วยเปิดไพ่ที่ทิ้งไปและคว่ำไว้ ใบนั้นออกมา ช่วยให้เราได้มองเห็นตัวเองและผู้อื่นอย่างเต็มตาและเต็มใจ

การเห็นมากขึ้น ช่วยให้เราเดินทางต่อไปในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น การเปิดตาและเปิดใจ ที่จะมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ๆ อีกด้าน แม้จะยากเย็น แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้เรามองเห็นทางที่ผ่านมา ที่กำลังก้าวเดินอยู่ และที่อยู่เบื้องหน้า เห็นก้อนหิน และหลุมร่อง ไม่ล้มไม่พลาดตกร่องเดิมๆ อยู่ซ้ำๆ แต่สามารถปรับก้าวย่าง ให้สมดุล พอเหมาะพอควรแก่เหตุปัจจัย และเดินได้อย่างมีความสุข ด้วยความรื่นรมย์และชื่นชมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home