โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐

หญิงสาวยืนเข้าคิวรอชำระค่าสินค้าที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทันสมัยใกล้ๆ ที่ทำงาน หลังจากเธอยื่นบัตรเครดิตและบัตรสมาชิกให้ในเวลาชั่วอึดใจ สิ่งของสารพันก็ถูกพนักงานจัดใส่ลงในถุง พร้อมยื่นใบเสร็จระบุรายการสินค้า จำนวนเงิน และข้อความว่า

“ขอบคุณค่ะ คุณวิลาสินี วันนี้คุณได้ประหยัดจากส่วนลด 12 บาท คะแนนสะสมของคุณคือ 650 คะแนน”

เย็นวันเดียวกันนั้น ชายหนุ่มยังนั่งเอาตัวสบายอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขากำลังดูเวบไซต์จำหน่ายหนังสือออนไลน์ บนจอภาพมีรายชื่อหนังสือแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่เขาสนใจ พร้อมข้อความต้อนรับว่า

“ยินดีต้อนรับ คุณสุปรีดา เราขอแนะนำแพ็คเกจทัวร์สุดคุ้ม และประกันเบี้ยต่ำสำหรับนักเดินทาง”

เขาและเธอทั้งสองคนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเราส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้พบเจอกันจนเป็นปกติและชินชาไปแล้ว ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันนำเสนอสินค้าและบริการอย่างดุเดือดในตลาดเสรี เหล่าธุรกิจใหญ่น้อยนับแต่บรรษัทข้ามชาติจนถึงบริษัทขนาดเล็กในประเทศต่างพากันหาหนทางเข้าถึงลูกค้าและชักจูงใจให้เขามาซื้อสินค้ามาใช้บริการของตนให้จงได้ ดูเหมือนลำพังตัวสินค้าและงบโฆษณาจะไม่มีผลมากพออีกต่อไป

องค์กรน้อยใหญ่หันมาเข้าหาลูกค้าด้วยกลยุทธใหม่ชื่อ CRM ย่อจากชื่อเต็มๆ ว่า Customer Relationship Management ด้วยสมมติฐานว่าหากรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าแต่ละราย จะทำให้สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ณ เวลานั้นได้มากที่สุด ได้ดีที่สุด สิ่งที่ตามมาคือระบบการจัดเก็บข้อมูลการจับจ่ายไว้ประเมินทำนายความชอบและนิสัยการซื้อ เกิดการสำรวจทัศนคติความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการ มีการฝึกอบรมให้บุคลากรของตนตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วทันใจและถูกต้องไม่ผิดพลาด

รับประกันได้เลยว่าพนักงานจะเอ่ยทักทายชื่อลูกค้าได้ถูกต้อง เสนอของที่ลูกค้าชอบ และมีโปรโมชั่นที่โดนใจ ทั้งหมดนี้เพียงแค่มองดูจอคอมพิวเตอร์

แต่สิ่งที่เราพบคือ ใบหน้าที่เรียบเฉยของเขา ข้อมูลส่วนตัวของเราบนจอภาพ รายการสินค้าบริการเกินความต้องการ และทั้งหมดเป็นแค่อีกเรื่องในชีวิตที่ผ่านเลยไป

อะไรที่ออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี มีระบบ เป็นเหตุเป็นผล เหมาะเจาะเหมาะสมกับคนในวัยและระดับการศึกษาของเรา น่าจะทำให้เรารับรู้ ประทับใจ เข้าใจและยอมรับ ไม่ใช่หรือ?


ชายชาวแคนาดาวัย 20 ปีผู้หนึ่งซึ่งไม่นับถือศาสนาใด เชื่อมั่นในการโต้เถียงด้วยหลักการและเหตุผล เขาได้พบสุภาพสตรีวัยกลางคนผู้ยิ้มแย้มและมุ่งมั่นคนหนึ่ง เธอมายืนกดออดประตูหน้าบ้าน บอกว่าเป็นอาสาสมัครมาแนะนำเรื่องจิตวิญญาณให้ เขาแสนจะดีใจเมื่อได้โต้เถียงเอาชนะเธอด้วยหลักการทางศีลธรรม ปรัชญา ศาสนาในเวลาเพียง 15 นาที

แต่เธอกลับไม่ยอมแพ้ บอกว่าการช่วยเหลือคนอื่นยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเธอ ตัวเธอนั้นเคยเจอทุกข์มามากจนได้พบความสงบและมีความสุขมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น เธอยืนยันขอพาผู้มีประสบการณ์มากกว่ามาหาเขา

เขาตอบรับด้วยความยินดีและพบว่าในอีกอาทิตย์ต่อมา เพื่อนบัณฑิตผู้นั้นของเธอที่มีความรู้มากกว่าก็พลาดพลั้งเปิดช่องโหว่ให้เขาตีโต้จนพ่ายแพ้ แม้กระนั้นเธอก็ยังไม่ท้อ ขอพาผู้อาวุโสที่สุดในองค์กรมาพบ

เมื่อถึงวันนัด เป็นวันพายุหิมะพัดแรงจัด เขาพบว่าคนที่เธอพามานั้นช่างเป็นคนลวงโลก มีแต่ตั้งใจจะเรี่ยไรเงินบริจาค ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้ในเรื่องศีลธรรมและจิตวิญญาณ เขาประณามชายผู้นี้ต่อหน้าเธอว่าเป็นคนลวงโลกและไม่มีความรู้ เขาได้ความสะใจและดีใจในชัยชนะ

แต่เมื่อเธอลากลับ วินาทีนั้นที่เขาได้เห็นใบหน้าที่บ่งบอกความล้มเหลวสิ้นหวัง สายตาวิงวอนและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เขาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรตอบแทนความพยายามในการเตรียมตัวหลายอาทิตย์ของเธอเพียงเพื่อจะช่วยไถ่จิตวิญญาณแก่เขา ไม่มีแม้คำขอบคุณและสำนึกในน้ำใจ

หลังจากนี้อีก ๔๐ ปีต่อมา เขาต้องการบอกสุภาพสตรีคนนั้นให้รู้ว่า เธอได้บรรลุภารกิจเปลี่ยนจิตใจเขา โทนี บูซาน ผู้นี้ให้ได้พบว่ามีอะไรที่สำคัญกว่าเหตุผล และหันมาสนใจเรื่องจิตวิญญาณนับแต่นั้นมา


ความพยายามของบริษัทที่ได้รวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรื่องของชายคนนี้ แต่ต่างกันตรงไม่มีสิ่งที่ถ่ายทอดออกจากใจให้เข้าถึงใจ ลูกค้าไม่เคยรู้สึกถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันอย่างเพื่อนมนุษย์พึงมีให้กันของคนขาย เห็นก็แต่เพียงระบบที่ละเอียดถูกต้อง จำข้อมูลได้แม่นยำ และก็เท่านั้น รับรู้ เข้าใจ แต่ไม่เข้าถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่ประทับใจ และไม่ยอมรับ

การศึกษาก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพื่อประกอบอาชีพหรือเพื่อพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา ดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาก็ตาม เราอาจจัดคู่มือการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ มีอุปกรณ์เครื่องมือเอกสารประกอบการสอนพร้อมสรรพ มีระบบวัดประเมินผลการศึกษาอย่างรอบด้าน ตระเตรียมเค้าโครงเนื้อหาล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีไว้ได้

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเป็นหลักประกันได้เลยว่าผู้เรียนจะสามารถรับเอาไปพัฒนาตนเองอย่างสมดุลทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ หรือใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

เพราะความรู้ที่ส่งผ่านไปสู่ผู้เรียนนั้น ไม่ว่าวิชาไหน ว่าด้วยเรื่องราวหัวข้ออะไร หากขาดไร้ความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยจริงใจ และเป็นกัลยาณมิตรที่ปรารถนาดีต่อกันเสียแล้ว ความรู้นั้นก็เป็นแค่ข้อมูลไปยังผู้เรียนให้รับรู้ได้ ทำความรู้จักเข้าใจ จำข้อมูลนั้นได้ แต่ไม่ถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่เกิดความประทับใจ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงจิตใจของเธอและเขาได้อย่างแน่นอน

1 Comment:

  1. อัญชลี อุชชิน said...
    เห็นด้วยอย่างยิ่ง
    การจะเรียนรู้อะไร ต้องทะลุผ่านเปลือกไปให้ได้ก่อน แล้วรู้ไปถึงแก่นของเรื่องนั้น รวมถึงเข้าไปอยู่ในใจตนเองผู้เรียนรู้ด้วย

Post a Comment



Newer Post Older Post Home