โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐

บรรยากาศช่วงวันสุดท้ายของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณขั้นต้น สำหรับ ๒๘ ชีวิตซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้นอบอวลไปด้วยน้ำตาแห่งความปิติสุข ความเมตตา การให้อภัย ความคิดถึงและความอาลัยที่ต้องล่ำลาหลังจากผ่านการร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ระยะเวลาเพียงแค่ ๕ ครั้งๆ ละ ๔ วัน (ช่วงระหว่างพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๕๐) ทำไมหนอเราจึงผูกพันกันได้อย่างลึกซึ้งเพียงนี้? เป็นเสียงของผู้เข้าร่วมอบรมบอกเล่ากับเพื่อนๆ ที่เข้าอบรมด้วยกันระหว่างการกอดกันด้วยสัมผัสแห่งรักก่อนลาจาก

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมงานที่จัดกระบวนการและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับกลุ่มทั้ง ๕ ครั้ง สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและกลุ่มได้อย่างชัดเจนในด้านทักษะพื้นฐานของการเป็นวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณ(จะขอเรียกสั้นๆ ว่ากระบวนกร) คือ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดใจกว้างไม่ด่วนตัดสินถูกผิด การจับประเด็นทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ความรู้สึก การตั้งคำถามลงลึกต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างมีพลังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้หันกลับมาคิดใคร่ครวญภายในอย่างลึกซึ้ง การใช้กระบวนวิธีคิดที่เป็นระบบสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ เนื้อหา และกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง ในด้านพฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละท่านและความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ ความเชื่อมั่นว่าตนทำได้ อีกทั้งความไว้วางใจระหว่างกันในกลุ่ม การเกิดขึ้นของจิตสาธารณะหรือจิตใหญ่ของแต่ละคน การแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใครมาจากไหน การสะท้อนสิ่งที่เพื่อนควรปรับปรุงด้วยภาษาแห่งความกรุณา การให้อภัยเวลาผิดพลาดพลั้งเผลอ ในด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้นสังเกตได้ว่าแต่ละท่านมีความสงบนิ่ง มีสติเท่าทันกับสิ่งที่ตัวเองกระทำได้เร็วขึ้นถึงแม้บางครั้งจะผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์

นอกจากนี้ตัวผู้เขียนเองสัมผัสได้ถึงความสุข ความอิ่มเอิบใจ ความมั่นใจในตัวเอง และความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีมงานว่าเราทำได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแล ได้รับการรดน้ำพรวนดินอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงระดับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องรอการตอกย้ำด้วยการเอาไปใช้หรือพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตประจำวัน นี้แลการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืนจึงจะเริ่มเป็นจริง

ในสังคมปัจจุบันนั้นต้องการความรวดเร็วสำเร็จรูปและง่ายไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งการเรียนรู้หลายคนในสังคมก็คิดว่าการเรียนรู้จากการอบรมครั้งหรือสองครั้งก็น่าจะทำให้คนหรือองค์กรเปลี่ยนแปลงในทางที่ต้องการ เช่น คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมความคุ้นชินที่ไม่น่ารักให้น่ารักขึ้น คนในองค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กร หรือต้องการให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักกัน สามัคคีกันฯลฯ เมื่อหลังจากเสร็จสิ้นการอบรม สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยังต้องใช้เวลา เช่น ถ้าคุณกำลังเคลื่อนย้ายจากสภาพอากาศแบบหนึ่งไปอยู่ในสภาพอากาศอีกแบบ ร่างกายยังต้องใช้เวลาในการปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในทำนองเดียวกันการปรับจิตใจต้องใช้เวลา เพราะจิตมีความซับซ้อนมากซึ่งคุณต้องยอมรับและเผชิญกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรภายในอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการอันหลากหลายและทดลองทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนจิตใจเกิดความคุ้นเคยใหม่ซึ่งจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วนั้นยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งปัจจัยในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และหลังจากออกไปดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เขียนในการเปลี่ยนแปลงตนเองระหว่างการเรียนรู้ คือ ความไว้วางใจ ทั้งในตัวเราเองว่าเราทำได้ การได้รับความไว้วางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง มีหลายครั้งที่เราคิดว่าทำไม่ได้แต่พอได้รับกำลังใจและความไว้วางใจเราก็จะพยายามทำและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมกล้าที่จะเปิดใจยอมรับจุดเปราะบางของตัวเอง กล้าที่จะเผชิญกับเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาใจ ถูกเก็บงำมาตลอดชีวิตและยังไม่ได้คลี่คลาย กล้าแม้กระทั่งปล่อยให้น้ำตาไหลรินอาบแก้มในที่สาธารณะต่อหน้าผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกันซึ่งโดยปรกติหากเราไม่ได้ไว้วางใจกันมากพอเราคงไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมาให้คนอื่นเห็น สำหรับผู้เขียนการกล้าที่จะเผชิญกับตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสำคัญยิ่ง

ความไว้วางใจระหว่างผู้เรียนรู้ด้วยกันหรือกับกระบวนกรนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แต่ทุกคนในกระบวนการเรียนรู้ต้องร่วมกันสร้าง โดยเริ่มจากกระบวนกรเองต้องจัดกระบวนการที่หลากหลายง่ายต่อการเรียนรู้ปฏิบัติได้ไม่ซับซ้อน หากคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงก็จะทำให้เห็นแง่คิดและมุมมองได้ง่าย ได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน มีการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งไม่ด่วนตัดสินและการมีส่วนร่วมของทุกคนบนบรรยากาศเป็นกันเองเอื้ออาทรระหว่างกัน ส่วนตัวผู้ร่วมเรียนรู้เองก็ต้องเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย

ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงตนเองที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เมื่อจบการอบรมและออกไปดำเนินชีวิตประจำวันแล้วทำอย่างไรเราจะสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการทดลองใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาในระหว่างการอบรม เพราะหากเราไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้จริงอย่างสม่ำเสมอความคุ้นชินเดิมๆ ก็จะกลับเข้ามาหาเราอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการมีกลุ่มมีเพื่อนคอยช่วยเหลือให้กำลังใจคอยตักเตือนกันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย ต่างองค์กร ต่างอาชีพ และจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้น ผู้เขียนได้ตระหนักว่าการที่คนคนหนึ่งเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงก็คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ขณะนี้ แล้วเราจะได้พบกับพื้นที่แห่งความสุขที่กว้างใหญ่ไพศาล

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home