โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐

เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของการทดลองชื่อ อีพีอาร์ พาราดอกส์ (EPR Paradox) ที่ตัวเขาเองและทีมงานของเขาได้จำลองขึ้นเพื่อค้านทฤษฎีโครงสร้างอะตอมของนีลส์ บอห์ร แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการสนับสนุนทฤษฎีโครงสร้างอะตอมมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น เขาพบว่า อนุภาคอิเล็คตรอน 2 ตัว ที่อยู่ตรงข้ามกัน และไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันในเชิงพลังงาน แต่เมื่อมีแรงมากระทบอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีผลกระทบเท่าๆ กันด้วย ซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใด ๆ สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ จนมีคนขนานนามปรากฎการณ์นี้ว่า ผีในอะตอม (The Ghost in the Atom)

จากปรากฎการณ์นี้ สามารถสรุปได้ว่า แม้อนุภาคทั้งสองจะอยู่คนละที่ หรือ คนละฟากฝั่งของจักรวาล หากตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงพลังงาน ลักษณะการเคลื่อนไหวหรือวิถีเส้นทาง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยว่า แล้วอนุภาค 2 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการส่งข้อมูลบางอย่างระหว่างอนุภาคทั้งสองนี้ที่รวดเร็วกว่าความเร็วของแสง ที่ 186,000 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน

จากการทดลองข้างต้น ก็เกิดคำพูดหยอกล้อกันระหว่างไอน์ไสต์กับนีลส์ บอห์ร เนื่องจากไอน์สไตน์ยังเชื่อว่าฟิสิกส์น่าจะสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทุกอย่างที่เกิดจากสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นได้ โดยกล่าวว่า “God does not play dice.” (พระเจ้าไม่ได้ทอยลูกเต๋า) “God is subtle but not malicious.” (พระเจ้าฉลาดเจ้าเล่ห์แสนกลแต่ไม่มีเจตนาร้าย) แล้วนีลส์ บอห์รก็โต้ตอบกลับไปว่า “Einstein, stop telling God what to do! ” (ไอน์สไตน์หยุดบอกพระเจ้าว่าต้องทำอะไรเสียที) และนั่นย่อมหมายถึง ยังมีความรู้อีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และสุดท้ายก็ไม่ต้องไปอธิบายเสียทั้งหมดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของปรากฏการณ์อีพีอาร์ พาราดอกส์ ของไอน์สไตน์ก็คือ การบอกให้เรารู้ว่า สิ่งสองสิ่ง แม้ไปคนละทิศทางกันโดยสิ้นเชิง แต่หากสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกสิ่งก็จะเปลี่ยนด้วย ถึงแม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็สามารถบอกได้ว่า หากจะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงนี้เสียก่อน ในทางวิทยาศาสตร์จะเรียกคู่ตรงข้ามนี้ว่า local (สมุฏฐาน) กับ non-local (นอกสมุฏฐาน)

ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์นี้ ตรงกับ แนวความคิดของจิตตปัญญาศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เริ่มจากภายในตนเอง จากบทความ ณ พรมแดนแห่งความรู้ เรื่อง “ชื่นชมชีวิต” ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ของดร. ชลลดา ทองทวี ในเรื่อง เงา (Shadow) สอดคล้องกับปรากฎการณ์พาราดอกส์ (Paradox) ที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลกแล้ว กระแสความคิดในสมองมนุษย์ ก็เกิดจากการไหลของอิเล็คตรอน ฉันใด ก็ ฉันนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดความคิดใดๆ ขึ้นในสมอง ย่อมจะมีความคิดในทางตรงข้ามเกิดขึ้นเสมอ หากเราเรียนรู้ที่จะเห็นความคิดตรงข้ามในตัวเอง ก็จะพบความจริง ของความเป็นเช่นนั้นเอง และสามารถวางใจเป็นกลาง แต่หากเราเห็นความคิดในตัวเราด้านเดียว ความคิดตรงข้ามย่อมไปเกิดที่อื่น หรือในคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นของสิ่งหนึ่ง เกิดความรู้สึก ชอบใจ ของสิ่งนั้นอย่างมาก และไม่เห็นความ ไม่ชอบใจ ตรงไหนเลย สักวันหนึ่งเราอาจจะพบคนที่ ไม่ชอบใจ ของสิ่งนั้นมากพอๆ กับเรา และเขาผู้นั้นก็ไม่สามารถเห็นความ ชอบใจ สิ่งของดังกล่าวได้เลยเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า พาราดอกส์ (Paradox) หรือ ที่อาจารย์ชลลดาเขียนถึงเรื่อง เงา (Shadow) นั่นเอง

ส่วนกระบวนการที่นอกเหนือจากการพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ย่อมมีวิธีที่ทำให้คนเราประจักษ์ชัดถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่แตกต่างสองสิ่งอย่างเป็นธรรมดา ธรรมชาติ อาจารย์ชลลดาเขียนถึงวอยส์ ไดอะล็อค (Voice Dialogue) ที่เป็นการฟังตนเองอย่างลึกซึ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพบางอย่างที่ตนอาจละเลยไป ไม่ใส่ใจมาก่อน กลับได้ตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลด้วยตนเอง ส่วนผศ. ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา ก็ใช้วิธีไดอะล็อค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นประเด็น “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” โดยเรียนรู้ผ่านการไดอะล็อคกับผู้อื่น และใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งหมายรวมถึงการฟังตัวเอง การฟังผู้อื่น และการฟังความเงียบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านใน สามารถยอมรับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้ หลังจากที่ไม่เคยยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะมีความเห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ และเกิดความสุขในการเห็นความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา คนเราสามารถแตกต่างได้ แต่ไม่ต้องแตกแยก โดยอาจารย์ปาริชาดท่านใช้ประเด็นนี้ในการเผยแพร่เรื่อง สันติวิธี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรเน้นย้ำก็คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มจากตัวเอง เช่น หากเราเปลี่ยน โลกทั้งใบก็จะเปลี่ยน คราใดที่เราเห็นว่าสังคมมีปัญหา โลกมีปัญหา หรือคนรอบข้างมีปัญหา สิ่งที่เราควรจะทำก่อนที่จะลุกไปเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็คือ อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง การฟังเช่นนี้ต้องใช้สติสัมปชัญญะ เห็นความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้น และเมื่อสามารถเท่าทันความคิดของตนได้ ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดาของปริมาณความคิดที่มากมาย ไม่ต้องไปคาดโทษความคิดใดๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราห้ามหรือสั่งให้เกิดไม่ได้ และย่อมจะเห็นว่า ไม่ว่าความคิดที่เราชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นมานั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นปัญหา เมื่อเรียนรู้ฝึกฝนไปบ่อยๆ อะไรต่ออะไรก็ง่ายขึ้น ฟังคนอื่นก็เข้าใจง่ายขึ้น เห็นสังคมก็เข้าใจง่ายขึ้น เป็นลำดับๆ ไป จนในที่สุดโลกทั้งใบอาจเปลี่ยนแปลงไปหมดเลยก็เป็นไปได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home