โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐

ผมได้มีโอกาสดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง Fireflies: River of Light เป็นหนังทำออกมาสื่อง่ายๆ ถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนสำนึกภายในของเด็กนักเรียน จะว่าเป็น Dead Poets Society ฉบับญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพียงแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องและวิธีการนำเสนอต่างกัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่เด็กนักเรียนถามครูของพวกเขาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ครูอ้ำอึ้งสักครู่แล้วก็ตอบว่า ครูไม่รู้เหมือนกันแต่สัญญาว่าจะค้นคำตอบมาคุยให้ฟัง เด็กคนหนึ่งสวนขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ครูไม่รู้ได้ไง ครูเจออย่างนี้ก็ชักจะมีอารมณ์ เด็กคนนั้นจึงพูดดักคอต่ออีกว่า ครูโกรธเหรอ ถึงตอนนี้ครูเลยนิ่งแบบอึ้งๆ ไป ภายหลังจากนี้เรื่องระหว่างครูกับเด็กก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ครูเองก็ยอมรับได้อย่างจริงใจว่า ตนเองได้เรียนรู้จากเด็กนักเรียนมากมาย ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็กลับรักนับถือครูคนนี้ด้วยใจจริง

ผมดูถึงตอนนี้ของเรื่องก็รู้สึกสะกิดใจมาก เพราะเดิมผมก็คาดหวังสูงมากกับครูหรือกระบวนกรว่าจะต้องรู้จริงรู้ลึกในสิ่งที่เขาสอน และเมื่อถามหรือแลกเปลี่ยนกันเขาต้องให้คำตอบที่แจ่มแจ้งเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเชื่อมั่นได้ แต่ตอนนี้ผมชักจะไม่มองอย่างนั้น และมีข้อสังเกตชวนให้ใคร่ครวญร่วมกันก็คือ อันแรก ผมยังคงเห็นว่า ครูหรือกระบวนกรที่จัดการเรียนรู้เรื่องใดควรรู้เรื่องนั้นดีพอ เพื่อจะทำให้การเรียนรู้เกิดบทเรียนที่ลึกซึ้งถึงแก่นของเนื้อหาได้ แต่หากไปไม่ถึงแก่นของเรื่องหรือบทเรียนไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เขาเองก็ควรยอมรับได้ และช่วยทำให้กลุ่มเกิดบรรยากาศอยากตั้งประเด็นหรือคำถามเพื่อร่วมแสวงหาความรู้ความจริงที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่สำคัญก็คือขณะที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ หากครูหรือกระบวนกรรู้สึกว่า สิ่งใดที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ และกล้าขอบคุณผู้เรียนที่ทำให้รู้ตัวว่ามีบางเรื่อง (และคงอีกหลายเรื่อง) ที่สอนแต่ยังไม่รู้ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากความคาดหวังของผู้เรียนว่าจะต้องรู้ดีรู้จริงในเรื่องที่สอนก็ตาม ในแง่นี้จะดีกว่าไหมหากผู้เรียนเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ครูหรือกระบวนกรถึงจะเก่งจะศึกษามามากเพียงใดก็ย่อมมีอีกหลายแง่มุมที่เขาเองก็ยังไม่รู้ และกำลังอยู่ในเส้นทางของการเสาะแสวงหาความรู้ความจริงอย่างไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ก็เพราะโลกของการแสวงหาความรู้ความจริงแทบทุกศาสตร์ทุกแขนงยังไม่มีบทสรุปที่เด็ดขาดตายตัวเลย แต่กลับเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อใช้อธิบายความจริงของชีวิตและโครงสร้างสังคมรวมถึงสรรพสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน

ดังนั้นผู้เรียนก็ควรมองครูหรือกระบวนกรอย่างไม่กดดันคาดหวังจนเกินจริงเกินงามไป และจะดียิ่งขึ้นหากทั้งสองฝ่ายต่างมองและปฏิบัติต่อกันว่า เราเป็นกลุ่มเพื่อนที่เสมอบ่าเสมอไหล่ในการร่วมแสวงหาความรู้ความจริงไปด้วยกัน คอยสนับสนุนหรือเรียนรู้จากกันและกันเป็นหลัก แทนที่จะเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากฝ่ายหนึ่งไปสู่ฝ่ายหนึ่งอย่างผูกขาด

กลับมาที่ครูหรือกระบวนกรเอง หากผู้เรียนทำให้เรารู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเรื่องที่เดิมคิดว่า เรารู้และชำนาญแล้ว ก็ควรกล้ายอมรับเพราะว่าเขาได้ชี้ขุมทรัพย์อันสุดยอดให้เราได้ฝึกฝนลดละตัวกูของกูลง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าตัวเองแน่ เพราะผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถือหรือประสบความสำเร็จในความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็มักจะรู้สึกได้ง่ายว่าตัวเองแน่ วิเศษกว่าคนอื่น พอคนอื่นเห็นต่างหรือแย้งขึ้นมา หรือถูกตั้งคำถามกับสิ่งที่สอนเข้าก็ออกอาการง่าย ปกป้องความคิดความเชื่อตัวเองด้วยวิธีการสารพัด

นอกจากนี้ ความรู้สึกว่าตนเองยังไม่รู้อะไรอีกมากย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่ประมาทไม่ชะล่าใจต่อความรู้ความจริง เพราะหากรู้สึกว่าเรารู้จริงรู้ลึกแล้วก็มักจะหยุดการทบทวนใคร่ครวญ หยุดเรียนรู้รวมถึงหยุดการทดลองปฏิบัติเพื่อตรวจสอบความรู้ความจริงที่เราเชื่อมั่น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ความรู้สึกว่ามีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกมากมายมันทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเราเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ ขณะที่เราเป็นครูหรือกระบวนกรแต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องพร้อมเสมอที่จะเป็นนักเรียนได้ทุกขณะ โดยเฉพาะสามารถเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์ตัวเองได้ด้วย

ความพร้อมจะเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์นั้น ไม่ควรเป็นเพียงคำพูดสวยหรูหรือได้แต่คิดเท่านั้น แต่จะทำได้จริงก็ต่อเมื่อเราเชื่อมั่นไว้วางใจว่าผู้เรียนต่างมีความสามารถภายในที่จะเรียนรู้และเข้าถึงความลึกซึ้งของเรื่องที่เรียน เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน หรือเร็วช้าต่างกันเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผมจึงยอมรับนับถือครูหรือกระบวนกรคนที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองไม่รู้ ได้มากกว่าคนที่ตอบคำถามหรืออธิบายอะไรๆ ได้หมดอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อตรงต่อความรู้ความจริงและต่อผู้เรียน

การเรียนรู้ที่จะไปได้กว้างไกลและลึกซึ้งนั้น ครูหรือกระบวนกรจำเป็นต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นความเชื่อเดิม กล้าที่จะฉีกวิธีคิดหรือทฤษฎีเดิมบางแง่มุมหรือทั้งหมด หากพิสูจน์ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่า มันไม่ใช่หรือมีจุดอ่อน ความกล้าหาญในแง่นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจกว้างเชื้อเชิญหรือเปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างรวมถึงคนที่ท้าทายความเชื่อเราได้แสดงจุดยืนหรือความเชื่อของเขาอย่างเต็มที่ พร้อมกับรับฟังใคร่ครวญอย่างลงลึกได้ หากขณะที่รับฟังความเห็นต่างหรือถูกท้าทายความเชื่อจากผู้อื่นกำลังทำให้เราหวั่นไหวภายในก็สามารถรู้ทันปฏิกิริยาภายในก่อนจะด่วนปิดกั้นหรือโต้ตอบออกไปอย่างฉับพลันทันที

ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย หรือแม้แต่การตั้งคำถามท้าทายต่อความคิดเห็นความเชื่อ มักจะทำให้เราต้องตรวจสอบใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราเชื่ออยู่เสมอ ทำให้เราไม่ติดกรอบอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่กลับจะช่วยทำให้เราปรับตัวยืดหยุ่นได้สูง และฝึกให้เราใจกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างออกไป ใจกว้างกับคนที่เชื่อหรือมีวิถีทางของการเรียนรู้บางอย่างที่ต่างไปจากเรา ที่สำคัญมันอาจทำให้เราเรียนรู้อะไรได้ใหม่และลึกซึ้งจากสิ่งที่แตกต่าง และบางคราวก็อาจเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนรู้ร่วมกับคนที่คิดเห็นหรือเชื่อคล้ายๆ กับเราเสียด้วยซ้ำ เพราะหากเราข้องแวะเฉพาะอยู่ในแวดวงของผู้ที่เชื่อหรือคิดเห็นคล้ายๆ กันตลอดเวลา มักจะทำให้ประมาทชะล่าใจต่อความรู้ความจริงที่เราเชื่อ ซึ่งมักจะทำให้ยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย ดังนั้น การมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะปะทะสังสรรค์ร่วมกับคนที่เห็นแตกต่างด้วยท่าทีที่มุ่งเรียนรู้จากกันและกัน ย่อมทำให้การเรียนรู้ของเราเจริญงอกงามมากขึ้นเรื่อยๆ

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home