โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐

ช่วงชีวิตประมาณ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำหน้าที่ ซึ่งในชีวิตไม่เคยคิดฝันว่าจะทำ คือการเป็น “ครู” ของเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะจัดการได้ยากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพราะเขามีช่องทางการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ความแตกต่างนี้บางคนก็ระบุคำเรียกให้เขาว่าเป็น “เด็กพิเศษ”

เมื่อผู้เขียนแนะนำตัวเองว่าเป็นครูครั้งใด มักมีคนถามตามมาทันทีว่า “สอนอะไร” “สอนคนค่ะ” เป็นประโยคที่ผู้เขียนตอบไปโดยไม่มีเจตนาที่จะยียวนใดใด หากถ้าย้อนนึกไปถึงการสอนวิชา ภาพนั้นจะไม่ชัดเท่ากับกระบวนการปลดล็อค ๒ ประการ ประการแรกคือ ปลดล็อคเด็ก ด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งการจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ การจัดกิจกรรมแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อปลุกกระตุ้นเตือนให้เด็กกลุ่มนี้ “รู้สึกตัว” ในข้อที่เขาอาจลืมไปนานแล้วว่า เขาเองก็มีศักดิ์ศรีเทียบเทียมมนุษย์คนหนึ่ง มีศักยภาพ มีแง่งามที่สามารถฝึกฝนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ประการที่สองคือ ปลดล็อคตัวเอง โดยย้อนกลับมาตั้งต้นที่ “การยอมรับและเชื่อมั่นด้วยหัวใจ” ว่าเด็กก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ตัวเราจึงต้องหัดที่จะรับฟังและเรียนรู้จากเด็กแต่ละคน เพราะการเรียนรู้จะเกิดได้นั้นก็ต่อเมื่อ บุคคลนำเอาความคิด ความสามารถที่แท้ในตนเองออกมา การศึกษาจึงควรทำหน้าที่ เปิดเผยศักยภาพเด็ก แล้วนำทางให้เขารู้จักดึงศักยภาพของตนเองขึ้นมาใช้ ไม่ใช่ป้อนเอาความรู้ใส่ปากเขาแล้วคาดหวังว่าความรู้นั้นอาจจะทำให้เขาพึ่งพิงตนเองได้

สองเหตุผลข้างต้นจึงประกอบกันเป็นความเชื่อ เป็นทัศนคติเบื้องต้น ที่ตัวครูต้องย้อนกลับมาตั้งหลักที่ใจ ก่อนที่จะเริ่มลงไปปรับที่แผนและกระบวนการสอน การสร้างพื้นที่ความไว้วางใจระหว่างครูและศิษย์ การลดช่องว่างและปลดระวางเงื่อนไขที่สังคมสร้างขึ้นเป็นพันธนาการทางความคิดยึดติดว่า “เด็กเป็นผู้ไม่รู้ และครูเป็นผู้รู้มากกว่า” วิธีการในช่วงเริ่มต้นนี้ คือครูต้องใช้สติคอยกำกับ หมั่นตรวจสอบตัวเองว่า เรา “ยอมรับ” “วางใจ” “เปิดโอกาส” “เปิดพื้นที่” “รอคอย” “มองให้เห็น และฟังให้ได้ยิน” แง่งามในตัวลูกศิษย์ที่มีความแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแต่ละคนแล้วหรือยัง

โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มที่ถูกสังคมให้คำจำกัดความไว้ดังข้างต้น เด็กกลุ่มนี้ถูกระบุปัญหาและ “ถูกแก้ไข” ด้วยวิธีการมากมายจนแทบหมดสิ้นความไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง กล่าวโทษตัวเองว่าเป็น “ตัวปัญหา” “เป็นภาระ” ของครู ของพ่อแม่ “เป็นตัวป่วน” ของเพื่อนๆ พฤติกรรมของเขาจึงขึ้นอยู่กับอาการและท่าทีจากคนรอบข้างซึ่งเป็นเหมือนคำสั่งที่คอยตัดสินและชี้ระบุความเป็นตัวเขาเอาไว้เสร็จสรรพ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะขีดกรอบจำกัดความสามารถของตน ปลีกตัวเองออกจากคนอื่นตามวิธีการของเขาบางคนก็เพียงนอนรอคนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา ด้วยเหตุเพราะเขาถูกกดทับด้วย “ความทุกข์” อันเกิดจากการถูกสังคมตัดสินตีตราประทับเขาเอาไว้ ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาของครูสำหรับเด็กกลุ่มนี้ อาจไม่ใช่แค่การปรับวิธีการสอนเนื้อหา แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นเรื่องหลักคือการช่วยให้เขาระบายและปลดทุกข์ที่กดทับเขาไว้ออกจากใจเสียก่อน จากนั้นกระบวนการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ก็จะดำเนินไปได้เอง

เด็กเป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่ ตัวเราเองไม่ได้ต่างจากเขาเท่าใดนัก ทุกวันนี้เราพยายามระบุว่า เราคือใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไร ทำอาชีพอะไร เป็นพวกไหน กลุ่มไหน สมาคมไหน และมักจะล้อมกรอบตัวเองด้วยคำจำกัดความว่าเป็น “ตัวฉัน” ดังนั้น ตัวฉันจึงพอใจที่จะรับรู้และเรียนรู้ในบางเรื่อง และตัวฉันก็จะปฏิเสธในการทำความเข้าใจ และพยายามทำบางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในข่ายที่ใกล้เคียงความเป็นตัวฉัน ดูแล้วตัวฉันจึงไม่น่าจะทำได้ เพราะเหตุนี้เอง ทุกวันนี้จึงไม่ค่อยเห็นผู้พิพากษาที่เผยรอยยิ้มในศาลและแม้กระทั่งนอกศาล ไม่ค่อยเห็นหมอลุกขึ้นมาวาดสีน้ำหรือปั้นดินทำงานศิลปะ ไม่ค่อยเห็นศิลปินเข้ามาแตะต้องงานด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด เราไม่ค่อยเห็นใครคนใด บทบาทหน้าที่ อาชีพใดในสังคมที่จะ “มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน” แง่มุมที่ดีของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มักไปเพ่งข้อผิดพลาด และใช้ความพยายามมากเหลือเกินในการถกเถียงกันเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น เช่นเดียวกับ การศึกษา ที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องคน ด้วยการแก้ที่การสอนและการให้เด็กฝึกฝนทักษะ แต่ไม่ค่อยมีวิธีไหนบอกให้ครูทำหน้าที่สังเกตอย่างละเอียด เงี่ยหูฟัง ความดี ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กแต่ละคน เพื่อให้เขานำจุดนั้นออกมาเป็นที่พึ่งของตนเองได้

หลายครั้ง ผู้เขียนมองลึกเข้าไปในดวงตาของเด็กนักเรียน บางทีในเวลาที่เขาเผลอไผล ไม่ตั้งท่า เขาจะหลุดออกจากกรอบคำบอกกล่าวของสังคมที่ชี้ระบุเขาอย่างไม่ตั้งใจ แล้วมักจะแอบเผยอะไรบางอย่างออกมาให้เห็น หลายครั้งหากเราได้จังหวะบอกกล่าวข้อดีที่สังเกตเห็น แม้เขาอาจทำท่าเหมือนปฏิเสธ แต่ความรู้สึกภาคภูมิใจต่อตนเองจะเปล่งประกายสดใสในแววอย่างตาเห็นได้ชัด ครูคนใดได้สัมผัสกับห้วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะรู้สึกเหมือนมีปฏิกิริยาเคมีบางอย่างที่เข้ามาเชื่อมหัวใจครูกับลูกศิษย์เอาไว้ด้วยกัน ครูเองก็พลอยหัวใจพองโตแทบทุกครั้งเมื่อสังเกตเห็นการเติบโตของศิษย์แม้เพียงเล็กน้อย และพลอยอดอมยิ้มไม่ได้เมื่อย้อนนึกถึงช่วงเวลาแรกผลิของเด็กแต่ละคน

ผู้เขียนจำคำพูดหนึ่งประทับอยู่ในใจอย่างแม่นยำ ของเด็กคนหนึ่งที่ใครๆ ก็ส่ายหน้าหนีเพราะว่าเขาเป็นเด็กเกเรและก้าวร้าวที่สุดในโรงเรียน เขาถามผู้เขียนว่า “ครูรำคาญผมไหม?” ผู้เขียนตอบไปอย่างไม่ได้คิดว่าไม่รู้สึกรำคาญอะไร เขาเดินเข้ามานั่งใกล้ๆ เอามือเกาะแขน ท่าทางเขาตอนนั้น จากใครที่ว่าเป็นลูกเสือก็ดูเหมือนลูกแมว แววตาของเขาอ่อนโยน มองตาครูแล้วบอกว่า “ผมดีใจที่ครูคุยกับผมรู้เรื่อง ไม่หาว่าผมบ้า พูดจาไร้สาระ ขอบคุณที่ครูไม่ทิ้งผม ยังเห็นว่าผมเป็นคนอยู่ ผมกลัวมาก กลัวว่าครูจะทิ้งผม ไม่เอาผมแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นภาระใคร ผมรู้สึกไม่ดีที่ต้องให้ใครมาทำอะไรเพื่อผม แต่จริงๆ แล้ว การที่ได้รู้ว่าครูทำงานหนักเพื่อพวกผม ผมดีใจมาก”

อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยเล่าถึงการทดลองหนึ่งของฟรานซิสโก เวเรลา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ที่ได้ทดลองผูกหลังแมวแรกเกิดสองตัวไว้ด้วยกันเพียงสามวัน จะมีแมวตัวหนึ่งแบกอีกตัวหนึ่งไว้บนหลัง เมื่อแมวเริ่มลืมตา ตัวที่อยู่กับผืนดินก็จะพาแมวตัวบนหลังไปทำกิจกรรมตามปกติ แมวตัวที่อยู่บนหลังก็ได้รับการดูแลเรื่องอาหารเหมือนตัวอื่นๆ แต่เมื่อสามวันให้หลัง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แมวตัวที่อยู่ข้างบนตาบอดตาใส หรือพิการทางสายตาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีการตามธรรมชาติที่หากอวัยวะใดไม่ถูกใช้งาน อวัยวะนั้นก็จะถูกลดบทบาทลง จนในที่สุดก็ใช้การไม่ได้

การที่เราจะฝึกฝนตนเองหรือจะสอนลูกศิษย์ให้งอกงามและเติบโตขึ้น อาจเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง ออกจากความเคยชินกับการเพ่งเล็งข้อบกพร่อง แล้วพยายามหาทางแก้ ซึ่งบ่อยครั้งวิธีการแก้นั้นก็ย้อนกลับกลายมาสร้างปัญหาเพิ่มอีกไม่รู้จบ เราอาจเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งก็แค่เพียง เปิดตา เปิดใจ รับรู้และหมั่นดึงเอาธรรมชาติด้านดีออกมาใช้ให้เป็น แล้วด้านดีนั้นจะค่อยๆ มาแทนข้อเสียไปเอง ดีกว่าปล่อยทิ้งความดีที่นอนรออยู่ในตัวให้บอดใบ้ไปตามวิธีการแห่งธรรมชาติ เหมือนกับตาของลูกแมวที่ถูกผูกติดอยู่บนหลังตัวนั้น

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home