โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เราเคยได้ยินเสียงเหล่านี้ในใจเราไหม “คนอะไร พูดจาไม่ถนอมน้ำใจใครเลย” “คิดได้ไง (ว่ะ) ทำงานไม่รับผิดชอบซะเลย คนพรรค์นี้” “เนี่ยเหรอ จะให้สร้างสรรค์ เอาแต่สั่งๆ แล้วใครจะคิดอะไรได้” “ทำไมคน (เด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม) สมัยนี้ เห็น
แก่ตัวจริงๆ” และเสียงอื่นๆ ที่บ่นต่อว่า อาจจะก่นด่าผู้คนที่เราต้องพบปะเจอะเจอ

ในชีวิตประจำวันไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นนักศึกษา คนทำงานอยู่บ้านหรือที่ทำงาน หรือแม้พักผ่อนหย่อนใจอยู่ในบ้าน เรามักพบประสบกับผู้คนที่จุดชนวนให้อารมณ์ของเราปะทุ นับแต่หงุดหงิดเล็กน้อย จนโมโหโกรธา หรือน้อยอกน้อยใจ จนเศร้าสร้อยซึมเซา ขัดอกขัดใจบ้าง จนถึงขั้นเกลียดชังไม่เผาผี

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เราได้เจอพวกเขาผู้กวนใจเหล่านั้น เสียงอีกเสียงหนึ่งก็จะค่อยดังขึ้นในใจเรา “ทำมาย ทำไม คนดีดีอย่างเราถึงต้องเจอกับคน .....ๆ อย่างนั้น”

บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงตอบว่า “คนเราก็มีทั้งดีและไม่ดีก็เป็นอย่างนี้แหละ”

“คนเราก็แตกต่าง ก็เท่านั้นเอง” “นึกว่าซวยไปแล้วกัน” “อยู่กันไม่ได้ก็แยกกันอยู่” “คนเรามันก็นิสัยและสัน……เป็นอย่างนี้ทำใจซะ ไปเปลี่ยนมันไม่ได้หรอก” แล้วเราก็พบว่าเสียงอธิบายต่างๆ ที่ฟังเผินๆ ดูสมเหตุสมผลน่าจะน้อมนำมาทำมาปฏิบัติ เผื่ออาการกระอักกระอ่วนป่วนใจจากอารมณ์ที่กำลังปะทุของเราจะทุเลาลงบ้าง ในบางครั้งฟังเสียงดังกล่าวแล้วทำตาม อารมณ์เราก็เพลาลง แต่บ่อยครั้งก็ยังพลุ่งพล่านเกินกว่าจะอยู่ได้เป็นปกติสุข และแม้นจะเบาลงก็ชั่วครู่ชั่วคราว เมื่อได้เจอหน้าคู่กรณีเดิมอาการเดิมก็กำเริบ เจอใหม่อีกคนแต่ทำอะไรคล้ายๆ กับคนเดิม อารมณ์ก็ปะทุจนเกือบปะทะ

“ทำใจซะ ไปเปลี่ยนเขาหรือเธอไม่ได้หรอก”

เสียงนี้เป็นเสียงแนะนำ หรือเสียงซ้ำเติมหนอ จะเปลี่ยนให้คู่กรณีเลิกกวนใจเลิกจุดชนวนในตัวเราก็เปลี่ยนไม่ได้ ครั้นจะ “ทำใจ” ก็ยังทำไม่ได้ แล้วถ้าจะทำใจต้องทำอย่างไร ก็คงต้องเป็นเราที่ทำใจเรา แล้วจะทำได้อย่างไร ในเมื่อใจเราก็รุ่มร้อน ขัดเคือง ปะทุราวกับภูเขาไฟอยู่เช่นนั้น

เมื่อคนเราเดินหน้าทำใจไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงกลับใจใครๆ ที่ปะทุใจเราก็ไม่ได้ อาการกระอักกระอ่วนป่วนใจ ขัดข้องหมองใจ เบื่อๆ เซ็งๆ ก็คลุกเคล้าอยู่ในตัวในเราเสมอๆ รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม

อาจารย์อมรา ตัณฑ์สมบุญเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “คนที่เดินเข้ามาในชีวิตเราเปรียบเสมือนกระจกเงา ที่เขาส่องให้เห็นใจของเรา” แต่ส่วนใหญ่ไม่ทันที่จะส่องให้เห็นอะไร เราก็อาจกระโดดถีบหรือทุบกระจกแตกไปเสียก่อน และบ่อยครั้งกระจกเงาบานนั้นก็แตกยับเยินเกินซ่อมแซม และบานใหม่ก็เริ่มร้าวราน อาการปะทุนี้จะเป็นบทเรียนอะไรให้เรากับเราได้บ้าง เราสามารถหยิบฉวยเอาความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเครื่องนำทางให้เราได้เรียนรู้ที่จะ “ทำใจ”ได้อย่างไร

Drs. Hal และ Sidra Stone ได้ริเริ่มและก่อตั้งกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Voice Dialogue Work (VDW) หรือการสนทนากับเสียงด้านใน หรือเรียกให้สั้นลงไปอีกว่า สนทนาด้านใน โดย J’aime ona Pangaia (เจมี่) ศิษย์คนสำคัญของทั้งสองได้เปรียบคนเราเอาไว้ว่า แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพความสามารถทางจิตเหมือนไพ่ครบสำรับทั้งห้าสิบสองใบ

ในวัยเด็ก เราเรียนรู้ที่จะให้คนรอบข้างยอมรับและยกย่อง เพื่อจะเป็นเด็กดีน่ารักของพ่อแม่ เป็นเด็กเอาไหนของครูบาอาจารย์ เป็นเด็กเชื่อฟังของพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นพลเมืองดีของชาติ และเป็นคนที่รู้จักเอาใจเพื่อน และเพื่อจะอยู่รอดปลอดภัยร่วมกับใครต่อใคร เราต้องทิ้งไพ่บางใบ ทิ้งศักยภาพบางอย่างของเราเพื่อให้อยู่และเข้ากับเขาเหล่านั้นให้ได้ แล้วตัวเราเองก็เติบโตด้วยศักยภาพด้วยไพ่บางใบเท่านั้นที่เหลืออยู่ในมือเรา และไพ่เหล่านั้นก็เป็นตัวตนกำเนิดเสียงด้านในของเรา คอยบอกเราว่า “เราต้องพูดจาดีดีกับใครต่อใคร” “เราต้องรู้จักรับผิดชอบ” “เราต้องเป็นตัวของเราเอง” “เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”และต้องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่มีประโยชน์ ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งในชีวิต เป็นเสียงของพระเอกนางเอกในชีวิตเราที่ส่งเสริมให้เรามีวันนี้ที่ดี ดร. สโตนเรียกตัวเอกนี้ว่า Primary Self

แต่ในขณะที่เรายึดถือเสียงของตัวเอกเป็นเครื่องนำทาง เราก็ปฏิเสธโละทิ้งหรือหันหลังให้กับตัวตนหรือเสียงที่ตรงกันข้ามกับเสียงตัวเอกเหล่านี้ เมื่อเราเก็บไพ่อะไรก็ตามไว้ในมือ เราจะทิ้งไพ่ที่แตกต่างตรงกันข้ามไปเสมอๆ ไม่มีข้อยกเว้น ไพ่ที่ทิ้งไป ตัวตนที่เราปฏิเสธและเนรเทศไปจากชีวิตเราทั้งถาวรและชั่วคราว ดร. สโตนเรียกว่า Disowned Self และเหตุที่เราทิ้งเสียงของตัวตนเหล่านี้ไป เพราะเมื่อเราทำตามเสียงเหล่านี้แล้ว หรือมีประสบการณ์กับเสียงเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอับอาย ไม่ปลอดภัย เจ็บใจรวมทั้งเจ็บตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏว่าเราไม่สามารถทิ้งตัวตนของเราไปได้โดยสิ้นเชิง เราอาจจะตัดแขนตัดขาแล้วงอกขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่ตัวตนหรือไพ่ที่เราทิ้งไปนั้น ยังฝังอยู่ ยังทรงอิทธิพลอยู่ในตัวเรา เป็นพลังที่ถูกเก็บกัก กั้นไว้ เรารู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

และหากมาวันหนึ่ง เราจำต้องพบปะผู้คนที่เขาถือไพ่ใบที่เราทิ้งไป มีตัวตนของเขาที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกเรา วันนั้นพลังที่ถูกเก็บกักกลับปะทุ ความทรงจำเดิมๆ ที่เคยประสบที่ทำให้เราเจ็บใจเจ็บตัวอับอายกลับฉายขึ้นมาในใจ ในจิตที่ไร้สำนึกอีกครั้ง ความขุ่นข้องหมองใจและอารมณ์ต่างๆ ที่เคยฝังไว้กลับมาเยือน ให้เราสะท้านสะเทือนใจ

เราฟังดูใครสักคนพูดจาไม่ถนอมน้ำใจคนเลย อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่า “คนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร”

และถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้ ... ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม”

เมื่อนั้นพื้นที่ใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ โอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้รวมทั้งศักยภาพที่เคยสูญหายไปของเรา อาจจะเริ่มปรากฏให้เราได้เห็น ได้สัมผัส และที่สำคัญได้ยินได้รับฟังจริงๆอีกครั้ง

และเป็นไปได้ไหมว่า เราอาจจะพอ “ทำใจ” ให้รอยยิ้มที่หายไปกับอารมณ์ที่ปะทุได้คืนกลับมา

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home