โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกปลายจมูก ช่างเป็นความมหัศจรรย์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต

ท่านทราบหรือไม่ว่า การหายใจเป็นการทำงานของร่างกายเพียงแบบเดียว ที่สามารถสลับสับเปลี่ยนไปมา ระหว่างการควบคุมสั่งการอัตโนมัติของระบบประสาทส่วนกลาง กับการควบคุมสั่งการอย่างเต็มที่โดยจิตสำนึกของเรา

ในเวลานอนหลับไม่รู้สึกตัว ลมหายใจของเราก็ยังคงทำงานตามการสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง หรือในเวลาที่เราวุ่นวายอยู่กับการทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจกับลมหายใจ มันก็ยังคงทำงานต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหันกลับมาควบคุมลมหายใจ ลมหายใจก็จะแปรเปลี่ยนไปตามที่ใจเราสั่งการในทันที หรือแม้ว่าในบางครั้งที่จิตใจของเราเกิดความกลัว ลมหายใจที่ควรจะยาวตามปกติ ก็จะถูกตัดทอนให้เหลือสั้นลง การแทรกแซงและควบคุมโดยจิตสำนึกของเรานี่เองคือต้นเหตุแห่งความมหัศจรรย์ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

ภูมิปัญญาโบราณค้นพบความมหัศจรรย์ของลมหายใจมาแสนนาน และได้พัฒนาการฝึกฝนเกี่ยวกับลมหายใจต่างๆ เช่น อาณาปานสติ ปราณยามะ ทองเล็น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น วันนี้ผมจะเชิญชวนท่านมาร่วมกันดูแลลมหายใจโดยใช้จิตสำนึกของเราในอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า "การหายใจด้วยรัก" (Heart Breath) ซึ่งเป็นการนำเอาภูมิปัญญาโบราณมาผนวกเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ในเรื่อง Biofeedback หรือการตรวจวัดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกาย

ผมมีโอกาสรู้จักกับ "การหายใจด้วยรัก" ในโปรแกรมการฝึกฝนที่เรียกว่า Healing Rhythms (โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.wilddivine.com) โปรแกรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือฝึกสมาธิโดยใช้เทคโนโลยี Biofeedback ที่น่าสนใจมากที่สุดเครื่องหนึ่งในเวลานี้ ข้อค้นพบจากวิทยาการด้าน Biofeedback สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และคำนวณอัตราการแปรผันของการเต้นของหัวใจ (Heart rate variability) และคำนวณค่าความสอดคล้องกันของหัวใจ (Heart coherence) แสดงให้เห็นว่า คนที่หายใจเข้าออกเร็วและไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มักจะมีการเต้นหัวใจไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่นกัน ในขณะที่เมื่อเขาได้ดูแลลมหายใจเข้าออกช้า เงียบ และนุ่มนวล ในจังหวะที่สม่ำเสมอ เครื่องจะตรวจพบว่า หัวใจเต้นเป็นระเบียบ และสอดคล้องกันเป็นจังหวะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โปรแกรมดังกล่าวจะแสดงภาพบนหน้าจอเป็นรูปปีกผีเสื้อที่กระพืออย่างช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน สลับกันทุกๆ ๕ วินาที เพื่อให้เรากำหนดลมหายใจเข้าและออกตามปีกผีเสื้อ การทำเช่นนี้จะช่วยให้หัวใจของเราปรับเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย และมีจังหวะการเต้นเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผมเข้าใจว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเรียกชื่อการหายใจตามปีกผีเสื้อนี้ว่า Heart Breath
หลังจากที่ผมและภรรยาร่วมกันทดลองศึกษาเครื่องมือนี้ เราได้พากันสืบค้นไปกับเครื่อง Biofeedback เพิ่มเติมมากไปกว่าการหายใจช้า เงียบ และสม่ำเสมอ นั่นคือ การหายใจด้วยความรักความทะนุถนอม

เราพบว่า การเต้นของหัวใจปรับเข้าสู่ความสอดคล้องกันอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงการปฏิบัติที่ผมเคยเรียนรู้มาจากหลวงปู่พุทธะอิสระเรื่อง "สมาธิพระโพธิสัตว์" หรือการฝึกเจริญสติกับลมหายใจตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ หรือการฝึกทองเล็นของทิเบตว่าด้วยการให้ความสุขและรับความทุกข์ผ่านลมหายใจ ในขณะที่ภรรยาผมฝึกมาในด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เธอใช้ท่าทีภายในของสภาวะการรับฟังและพูดคุยกับผู้รับบริการในการเดินลมหายใจ เราต่างก็พบเช่นเดียวกันว่า สามารถปรับการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ความสอดคล้องอย่างรวดเร็วได้

การร่วมกันสืบค้นเล็กๆ นี้ทำให้ผมประหลาดใจ พร้อมๆ กับแน่ใจว่า หนทางของการปฏิบัติไม่ได้ดำรงอยู่เพียงสายเดียวอย่างแน่นอน แต่ทั้งหมดต่างมีแก่นบางอย่างร่วมกัน และหนึ่งในแก่นที่ผมพบในครั้งนี้คือ “การหายใจด้วยรัก” เพียงแค่เราใส่ใจดูแลลมหายใจของเราด้วยความรัก ลมหายใจนั้นก็จะเข้าไปช่วยดูแลหัวใจของเราอีกทีหนึ่ง จากความรัก ... สู่ลมหายใจ จากลมหายใจ ... สู่หัวใจ ช่างเป็นความงามของการดูแลตามลำดับขั้นธรรมชาติ จากลำดับขั้นชั้นจิต สู่ลำดับขั้นชั้นปราณ และสู่ลำดับขั้นชั้นกาย

ผมขอฝากแบบฝึกหัดว่าด้วย "การหายใจด้วยรัก" ไว้สักเล็กน้อย แบบฝึกหัดนี้เป็นการน้อมนำเอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย มาเป็นกุศโลบายช่วยดูแลลมหายใจ เพื่อให้เราเดินลมหายใจตามอย่างเชื่องช้าและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

เริ่มต้นจาก นั่งหรือยืนตามแต่ถนัด ตั้งลำตัวให้ตรงโดยไม่ต้องออกแรงเกร็งหลัง ผ่อนคลายร่างกาย ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะสูงพอประมาณ หันฝ่ามือออก หายใจออกพร้อมวาดแขนลงมาด้านข้างลำตัว แล้วโอบฝ่ามือเข้าสู่กลางหัวใจ จากนั้นจึงหายใจเข้าพร้อมวาดมือย้อนกลับไปจนถึงเหนือศีรษะ ดุจดั่งผีเสื้อที่กำลังกระพือปีกบินอย่างเชื่องช้า ให้ทุกๆ วินาทีของการเคลื่อนไหวมือและลมหายใจเต็มไปด้วยความรักความใส่ใจ หายใจออกจากใจกลางหน้าอก อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความรัก นำเอาความรักมอบให้แด่ตัวเราเอง คนอื่น และโลก หายใจเข้าน้อมเอาความรักของสรรพสัตว์ไหลเข้ามาสัมผัสถึงฐานใจ

การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้ท่านเข้าเป็นไปหนึ่งเดียวกับความมหัศจรรย์ของลมหายใจ ความมหัศจรรย์ของความรัก และความมหัศจรรย์ของการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ

ผมขอเชิญชวนให้ท่านดูแลลมหายใจด้วยความรักที่มีอยู่แล้วภายในตัวท่าน หาเวลาในแต่ละวัน จะเป็นตอนไหนก็ได้ ดูแลลมหายใจเข้าออกอย่างใส่ใจ ด้วยความรัก และเนิ่นช้าสม่ำเสมอ อย่างน้อยหกถึงสิบนาที จำไว้นะครับว่า เมื่อท่านเริ่มต้นดูแลลมหายใจ ลมหายใจก็จะช่วยดูแลหัวใจให้กับท่าน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่านจะพบว่า ลมหายใจของเราก็สามารถเป็นกระจกสะท้อนจิตใจของเรา ให้เกิดปัญญาได้เข้ามาดูแลจิตใจต่อไปอีกเช่นกัน

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home