โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนของนิสิตปริญญาเอก ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหา เราได้เท้าความกันถึง ความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์อันเป็นแก่นของเนื้อหาวิชาในหมวดมนุษยศาสตร์ พวกเราได้แสดงความคิดเห็นกันว่า ศิลปะ เป็นหนึ่งในวิชาที่ช่วยเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลง “จิตเล็ก” ให้เป็น “จิตใหญ่” ศิลปะมีพลัง มีคุณูปการ ที่ทำให้จิตที่ขุ่นมัว มีฝุ่นธุลี ได้เบาจางไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายใน ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มีผู้พูดถึงศิลปะบางชิ้นที่คนรู้สึกว่าไม่สร้างสรรค์ บางชิ้นคนมองว่าเป็นอนาจาร บางชิ้นถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ลบหลู่ศาสนา สถานการณ์เช่นนี้จะยังสามารถพูดได้ว่า ศิลปะช่วยผดุงคุณค่าภายในอีกหรือไม่ จุดหมายของเรามิได้ต้องการจะตัดสินว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร หรือฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่เป็นโอกาสที่เหมาะสมให้ชั้นเรียนได้เห็นประเด็น “ความแตกต่างหลากหลาย” ของความคิดที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นและพบเห็นอยู่เสมอ

งานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่ละคนอาจให้คุณค่าต่างกัน ตามแต่จุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น จากมุมมองของศิลปินผู้นำเสนอภาพศิลปะนั้น ก็มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเนื้อความใดเนื้อความหนึ่ง ผ่านงานศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการส่ง “message” อะไร ไปถึงใคร เช่นนี้เป็นต้น แรงบันดาลใจในการรังสรรค์สร้างภาพ หรืองานศิลปะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ เหตุการณ์แวดล้อม อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ศิลปินนั้น ผลิตงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ออกมา

ถ้าเราเข้าใจได้เช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่า งานศิลปะนั้นเกิดขึ้นมาโดยมีศิลปินผู้ผลิตเป็นศูนย์กลาง ศิลปินเปรียบเสมือนผู้แต่งบทประพันธ์ เมื่อเราจะเข้าใจงานศิลปะของศิลปินนั้น เราจะต้องคำนึงถึงการตีความภาพศิลปะในทำนอง Author-centered interpretation

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ชมงานศิลปะ ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืน เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ และบริบทที่ต่างๆ กันไปอีกด้วย เช่น ผู้ชมงานศิลปะที่มีความรู้ทางศิลปะก็จะเข้าใจและชื่นชมงานนั้นสอดคล้องกับจุดยืนของตน ผู้มีความรู้ทางศาสนาก็อาจมองงานชิ้นเดียวกัน “แตกต่าง” ไปจากผู้ไม่ผ่านการเรียนรู้ทางศาสนา ผู้สนใจทางการเมือง หรือ ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะมองภาพศิลปะนั้น อยู่บนพื้นฐานของ “บริบท” ที่หล่อหลอมความเป็นบุคคลนั้น แม้กระทั่งความเป็น “เพศหญิง” “เพศชาย” ก็อาจทำให้มองงานนั้นแตกต่างออกไปได้เช่นกัน การมองงานศิลปะโดยมีตัวผู้ชมเป็นศูนย์กลาง (Reader-centered interpretation) ศิลปะภาพเดียวกันจึงได้รับการตีความต่างๆ กัน เป็นดีเป็นชั่ว เป็นสวย เป็นไม่สวย เป็นลบหลู่ เป็นศิลปะล้วนๆ ที่ไม่ลบหลู่ผู้ใดได้ตลอดเวลา

แล้วตัวงานศิลปะเองเล่า สามารถบอกกล่าวอะไรด้วยตัวของตัวเองได้หรือไม่ แต่เนื่องจากในชั้นเรียนนี้ ไม่ใช่ชั้นเรียนศิลปะนิพนธ์วิจารณ์ จึงไม่สามารถบอกกล่าวได้อย่างละเอียด เท่ากับผู้มีความรู้โดยตรง สิ่งที่พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ก็คือ ในงานศิลปะ เส้น สี แสง ลวดลาย รูปทรง และรูปร่างต่างๆ ประดามี ล้วน “สื่อ” ความหมายในตัวเองทั้งสิ้น ให้อารมณ์ความรู้สึก จินตนาการไปต่างๆ กัน ถ้าเราตัดตัวผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และตัวเราเองที่เป็นผู้มองภาพศิลปะ เราอาจได้รับ “ความหมาย” ที่ตัวงานศิลปะล้วนๆ ต้องการเล่าบอกให้ผู้ชมได้ทราบเป็นแน่ ถ้าเปรียบเทียบกับงานเขียน การตีความงานเขียน โดยให้งานเขียนที่ประกอบด้วยภาษา ไวยากรณ์ การใช้คำ การเรียงคำ เป็นตัวตั้ง เราก็จะสามารถเข้าใจ “เนื้อความ” จากข้อเขียนได้รูปแบบหนึ่ง (Text-centered interpretation) เช่นกัน

ในชั้นเรียนวันนั้น เราได้ข้อคิดเห็นตรงกันว่า ถ้าเรามองเหตุการณ์ใดๆ ด้วยใจเมตตา ไม่รีบตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด แล้วลองเปลี่ยนมุมมอง ไปยืนอยู่ในตำแหน่งของทั้งผู้ผลิตผลงานศิลปะ ผู้ชมผลงาน และตัวงานศิลปะเองแล้ว เราอาจได้เห็นภาพรวมทั้งหมด ที่มีเนื้อหาละเอียดชัดเจน เราจะเข้าใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่เป็น” มากขึ้น เราอาจไม่ต้องโต้เถียง แบ่งฝ่ายแพ้ชนะ ประท้วง เสียความรู้สึก หรือกลายเป็นคนละพวกกันไป “ความต่าง” ของจุดยืนเหล่านี้ อาจเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ เปิดโอกาส ให้เราได้ “สืบค้น” เรื่องราวได้มากขึ้น ขอเพียงมีใจเมตตา ให้โอกาสแต่ละฝ่าย ได้เล่าแจ้งแถลงเหตุผล และจุดยืนของตน โดยไม่ใช้อารมณ์ และตัดสินไว้ล่วงหน้า เราทั้งหลายจะได้ “ปัญญา” ใหม่ ได้ความสงบสุข “สันติภาพ” ของพวกเรา ก็จะปรากฏให้เห็น โดยไม่ต้องออกไปเรียกร้อง “สันติภาพ” จากภายนอกเลย

สำหรับชั้นเรียนในวันนั้น ดูเหมือนว่า เราได้ก้าวเข้าไปใช้หลักการของไดอะล็อก (Dialogue) ในการพูดถึงงานศิลปะ เพื่ออธิบายการพัฒนาคุณค่าด้านในโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นความคิดเห็นที่ “ต่าง” หรือ “ตรงกันข้าม” กันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ และกล่าวซ้ำ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิต และการทำงาน เพื่อเป็นข้อตระหนักเบื้องต้น ในการป้องกันความขัดแย้ง ดังเช่น กรณีการมองภาพศิลปะดังกล่าวข้างต้นที่มีวิธีเข้าใจได้ต่างๆ กัน เมื่อทุกฝ่ายยอมรับความต่าง ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ย่อมใช้ความต่างเป็นช่องทางให้ได้ “ฟังกันอย่างลึกซึ้ง” ด้วยเมตตา เพื่อปัญญาและสันติ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นสืบเนื่องว่า เมื่อมีความเห็นต่าง ต้องใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง บุคคลที่ไม่สามารถฟังได้ ก็ไม่สามารถทำไดอะล็อกได้ ประเด็นนี้ก็เป็นเหตุการณ์จริงในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้เรียนเป็นผู้พิการทางการได้ยิน การกล่าวถึงการฟังด้วยเมตตา จึงได้รับการอธิบายให้ครอบคลุม “ผู้นำไปใช้” คือ นักศึกษาผู้ไม่สามารถได้ยินด้วย กล่าวคือ การสื่อสารอาจมีหลายวิธี สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ใจ” ที่มีความเมตตา ไม่รวมตัดสินผิดถูกเสียก่อน เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงสามารถสื่อสารจุดยืนของตนที่ต่างได้ด้วย ภาษามือที่มีใจ ประกอบด้วยความรักผู้อื่น ประเด็นความต่าง จะไม่มีผลที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง เห็น “ต่าง” ก็ได้ จึงไม่เป็นไร ด้วยประการฉะนี้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home