โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มี “จิตวิวัฒน์ศึกษา” ขึ้นในการศึกษาระบบอุดมศึกษา ด้วยว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการสอนเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและยกระดับจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมการทำงานจึงมีแต่ความรู้ทางเทคนิคในศาสตร์ต่างๆ ทว่าไม่อาจรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตนกับสรรพสิ่ง

ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้ก่อเป็นรูปธรรม โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่นานมานี้ และคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เองก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกระแสความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของวงการศึกษาทั่วโลก ในชื่อต่างๆ อาทิ Contemplative Education หรือ Holistic Education

กระนั้นก็ตาม ผู้ทำงานผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังคงได้รับคำถามอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร บ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นการศึกษาว่าด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน โดยมีรูปแบบกระบวนการเป็นการประยุกต์ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา เช่น จัดให้นักศึกษาได้นั่งสมาธิ หรือส่งไปปฏิบัติธรรมยังวัดและสถานฝึกอบรมต่างๆ

ทว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพบว่ายังติดค้างอยู่ในใจ และตระหนักเห็นว่ามีประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษานั้น “เรียนอะไร?” และต้องศึกษา “วิชาอะไร” บ้าง?

เพราะฉับพลันทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาในทันใดมักกลายเป็นเรื่องที่บอกเล่าออกมาผ่าน ความทรงจำ ของผู้เขียน ไม่ว่าจะคำตอบจะบอกว่า เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งวิชาอย่างดิ่งเดี่ยว แต่น้อมนำเอาวิชาเข้ามาสู่ใจ หรือจะให้คำตอบว่า เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น กลับพบว่าคำตอบทั้งหมดนี้แม้จะมีส่วนถูกต้อง แต่ไม่ถึงขั้นออกมาจากใจและกลั่นออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนเองเลย คำถามจึงยังติดค้างไม่คลี่คลายแม้จะได้ให้คำตอบไปแล้ว

มองย้อนกลับไปในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาเองก็มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย หรือว่าเป็นหลักสูตรเหล่านี้เองที่อาจเป็นคำตอบตรงใจ และให้คำอธิบายแก่ผู้ถามได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) กับการเข้าใจตนเอง เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือแม้แต่เรื่องการเจริญสติวิปัสสนา

ครั้นทบทวนถึงการอบรมเรื่องนพลักษณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เราผู้ร่วมอบรมล้วนได้รับความรู้มากมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความคิด การมองโลกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง ๙ แบบ ผู้เข้าอบรมในครั้งแรกต่างได้ค้นพบรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนลักษณ์ไหน มีสิ่งใดเป็นแรงขับดันภายใน และเราจะสามารถปรับปรุงพัฒนาศักยภาพไปให้พ้นข้อจำกัดตามลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แต่ในระหว่างการอบรมครั้งที่สอง อาจเพราะด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกันทำให้บางคนที่ยังลังเลว่าตนเป็นคนลักษณ์อะไรตกเป็นฝ่ายถูกเพื่อนกระเซ้าเย้าแหย่ว่าน่าจะเป็นลักษณ์นั้นลักษณ์นี้ บ้างก็ปรารถนาดีเข้าไปช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ความเป็นลักษณ์ของเพื่อน กระทั่งคุณ Joan Ryan และนพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้เป็นกระบวนกรต้องกล่าวย้ำว่า กระบวนการสำคัญในการเรียนรู้นพลักษณ์คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง กระบวนการนั่งทำสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงจึงไม่ได้เป็นเพียงการทำให้สงบและผ่อนคลาย แต่ให้ผู้เรียนมีความนิ่งจนสังเกตเห็นความรู้สึก ความคิด คำพูดและการกระทำของตนเองได้ เมื่อสังเกตได้แล้วจึงจะรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

น่าประหลาดใจว่าสิ่งที่กระบวนกรนพลักษณ์ย้ำนี้กลับมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับการฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ หากเพียงใช้ชื่อเรียกชุดคำต่างออกไป ดังเช่นในการอบรมเรื่องวิธีคิดคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นั้น แม้จะมีเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้มากมายให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นระบบ ความแตกต่างของการมองเห็นปรากฏการณ์ ผ่านลงไปถึงแบบแผน และภาพจำลองความคิด แต่กิจกรรมสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือ การสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับการดำเนินวงพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยแนะนำและให้คำอธิบายแก่ผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ในเรื่องการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของการสนทนาไม่อาจจะก้าวข้ามสู่ระดับของการหลอมรวมและเพิ่มพูนความคิดใหม่ใดได้เลย หากผู้ร่วมสนทนามีความคาดหวัง หรือกำลังคาดเดาสิ่งที่ตนกำลังฟังอยู่ เสียงที่ได้ยินจะเป็นเพียงคำบรรยาย พร่ำบ่นซ้ำๆ ของคนอื่น ทั้งจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Dr. Jennifer Garvey Berger เพิ่งได้บรรยายเรื่อง Towards a New Consciousness: Using Developmental Theory to Observe and Map Our Transformations ในวงจิตวิวัฒน์ เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนจิตสำนึกไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อเราในฐานะผู้รู้ (Subject) รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่ง (Object) ผู้เขียนรู้สึกละม้ายคล้ายกันเหลือเกินกับสิ่งที่คุณแม่อมรา สาขากร และ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ได้แนะนำสั่งสอนให้หมั่นสังเกตดูตามดูจิตของเราเอง เพราะเมื่อเกิดรู้สึกไม่พอใจ เรามักรู้ว่าเราไม่พอใจด้วยสาเหตุใด อะไรทำให้เกิดความรู้สึกนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวของเราเองนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่พอใจไปแล้ว เราไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้เท่าทันจิตของเราเลย

สิ่งที่คลี่คลายออกจากคำถามที่ติดค้างในใจว่าเราเรียนอะไร? จึงไม่ใช่คำตอบว่าได้เรียนศาสตร์เรื่องอะไรและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน แต่การเรียนแบบจิตตปัญญาของเราเป็นการเรียนที่ต้องเกิดขึ้นในตัวของเราเอง นำเอาความคิดความรู้สึกให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หมั่นรับฟังและสะท้อนเสียงจากภายในนั้นออกมา

คำตอบต่อจิตตปัญญาศึกษาสำหรับผู้เขียนคงไม่ใช่แค่เรียนอะไร แต่เราเรียนให้เรารู้ตัวเราเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home