โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก” ซึ่งผู้เขียนประทับใจมากเป็นพิเศษ เป็นฉากที่นางเอก “ดิว” แสดงโดยคุณแอน ทองประสม เดินทางมาหาพระเอก “ต้น” (รับบทโดยคุณอรรถพร ธีมากร) เพื่อเยียวยาจิตใจหลังจากเธอได้สูญเสียเพื่อนรักจากเหตุฆาตกรรมโดยชายแปลกหน้าที่คบหาทางอินเตอร์เน็ต ดิวบอกกับต้นด้วยน้ำเสียงทุกข์ระทมว่าเป็นความผิดของเธอเองที่ไม่ยอมออกไปกับเพื่อนในคืนนั้น ความเห็นแก่ตัวของเธอทำให้เพื่อนต้องตาย

“ต้น” สัมผัสที่ต้นแขนของดิวเบาๆ ไม่มีคำพูดปลอบโยน มีแต่ดวงตาและหัวใจที่เปิดออกรับรู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ตัดสิน เป็นชั่วขณะซึ่งผู้เขียนรู้สึกตื้นตันใจมาก ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นดิวโผเข้ากอดต้นและปล่อยโฮอย่างเต็มที่ ความทุกข์ของเธอได้รับการปลดปล่อยและเป็นอิสระ เพียงเพราะมีคนๆ หนึ่งเข้ามารับรู้ความรู้สึกของเธอ มิตรภาพงอกงามขึ้นในใจของทั้งคู่และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันงดงามที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้แก่กัน

การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่ตัดสินเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาที่ช่วยให้คนที่กำลังมีความทุกข์รู้สึกว่าตนเองได้รับการโอบอุ้มดูแล ขณะเดียวกันก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนและเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น เคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลามีเรื่องไม่สบายใจ จะมีบางคนเท่านั้นที่เราอยากเล่าให้ฟัง ซึ่งคนเหล่านี้มักมีท่าทีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกได้ว่าเขาเข้าใจและยอมรับบางอย่างในตัวเรา

ท่าทีอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความนิ่งและความจริงใจของผู้ฟัง ที่ทำให้ผู้เล่ากล้าเปิดเผยเรื่องราวบางอย่างในใจอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดพื้นที่ของความเชื่อใจ ไว้วางใจ และพร้อมที่จะแบ่งปันสุขทุกข์ร่วมกัน

ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการทดลองเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วงแรกรู้สึกขัดเขินมากเวลาที่คนไข้และญาติส่งสายตาเป็นมิตรและขอบคุณมายังเรา หรือกล่าวยกย่องสรรเสริญเสียจนเราไม่กล้ารับ ที่อึดอัดใจมากก็คือ เวลาคนไข้ร้องไห้ต่อหน้าเรา สะอึกสะอื้นทั้งคนไข้และญาติ ในใจรู้สึกว้าวุ่นมาก ทำอะไรไม่ถูก หันซ้ายหันขวาอำพรางว่าตัวเองเข้มแข็ง ทั้งๆ ที่น้ำตาจวนจะหยด พยายามจะขวนขวายหยิบทิชชูให้เขาซับน้ำตา กล่าวคำพูดมากมายเพื่อปลอบโยนให้เขามีความหวัง ซึ่งผู้เขียนมาค้นพบภายหลังว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นเพียงเพราะไม่อยากเผชิญกับความเศร้า ไม่อยากเห็นภาพความทุกข์ระทมที่อยู่ตรงหน้า และหลายครั้งสิ่งที่ผู้เขียนแสดงออกด้วยเจตนาดีกลับทำให้คนไข้กลืนคำพูดและสิ่งที่เขาอยากระบายลงไป พร้อมกับมีม่านบางเบาขวางกั้นระหว่างเราเอาไว้อีกครั้ง

ผู้เขียนเพิ่งมาตระหนักเมื่อไม่นานมานี้เองว่า การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นอย่างจริงใจและอยู่กับเขาตรงนั้นจริงๆ สำคัญกว่าคำพูดมากมาย เรามักเลือกแสดงปฏิกิริยาตอบสนองตามความคุ้นชินจนปิดกั้นโอกาสในการฟังและรับรู้เรื่องราวลึกๆ ที่อยู่ภายใน

นักศึกษาแพทย์ ปี 2 คนหนึ่งเล่าว่า เจอคนไข้ผู้หญิงวัยกลางคนรายหนึ่ง คุณหมอเพิ่งแจ้งข่าวว่าเธอเป็นโรคมะเร็ง หลังจากนั้นเธอก็ไม่ยอมพูดจากับใคร นักศึกษาแพทย์เดินเข้าไปใกล้ๆ พยายามส่งยิ้มและทักทาย แต่คนไข้หันหลังไม่ยอมพูดด้วย

“ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูก ก็เลยนั่งลงข้างเตียงจนกระทั่งได้เวลาต้องไปเรียนจึงลากลับ”

วันที่ 2 และวันที่ 3 คนไข้ก็ยังไม่ยอมพูดด้วย แต่นักศึกษารายนี้ไม่คิดมาก ยังคงไปเยี่ยมคนไข้อย่างสม่ำเสมอ

ย่างเข้าวันที่ 4 ปรากฏว่าคราวนี้คนไข้ยอมหันมาคุยด้วย ประโยคแรกที่คนไข้พูดก็คือ “หนูนี่ดีนะ ไม่ถือสาคนแก่” หลังจากนั้นคนไข้ก็ระบายความทุกข์ใจจากการรับรู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งให้นักศึกษาแพทย์ฟัง

“ผมไม่รู้จะพูดปลอบโยนป้าแกยังไง ก็เลยนั่งฟังเฉยๆ”

ผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง จนได้เวลาต้องกลับไปเรียนหนังสือ นักศึกษาแพทย์จึงขอลากลับ คนไข้กล่าวขอบคุณนักศึกษาแพทย์มากมาย

“ป้าขอบคุณผมทำไม ผมยังไม่ได้ทำอะไรให้คุณป้าเลย” นักศึกษาแพทย์บอก

“ขอบคุณที่หนูสนใจป้าไง ตอนนี้ป้าสบายใจแล้ว” คนไข้ยกมือให้ศีลให้พรยกใหญ่ก่อนที่นักศึกษาแพทย์จะเดินจากไปอย่างงงๆ

“มาถึงวันนี้ผมเพิ่งเข้าใจว่า บางทีคนไข้ก็ไม่ได้ต้องการอะไรจากเราเลย นอกจากรับฟังเขาอย่างใส่ใจ รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและอยู่กับเขาตรงนั้น” เป็นคำกล่าวของนักศึกษาแพทย์

การรับฟังอย่างใส่ใจช่วยให้เรารับรู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้าได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ ตีความ หรือมุ่งค้นหาคำตอบ เพียงแค่ฟังเฉยๆ พยาบาลหลายคนบอกว่า “การฟังเฉยๆ เนี่ยแหละยากที่สุด” เพราะเรามักมีคำตอบให้กับสิ่งที่เราได้ยินเสมอ และบ่อยครั้งที่เรามักจะยัดเยียดคำตอบของตัวเราให้กับคนไข้เพราะคิดว่าดีที่สุด แต่ลืมไปว่า “ดีที่สุดสำหรับเรา อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา”

การฝึกรับรู้ความรู้สึกจึงต้องเริ่มต้นจากการฟังให้เป็นหรือฟังอย่างใส่ใจ ให้สิ่งที่ได้ยินค่อยๆ ซึมซาบเข้ามาอยู่ในตัวเราในหัวใจของเราโดยไม่เร่งร้อน ไม่บีบคั้น ไม่ต้องคิดและคาดหวังว่าจะต้องตอบสนองอย่างไร ปล่อยให้สมองของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าชั่วครู่ ให้ความเป็นธรรมชาติในตัวเราและจิตวิญญาณที่ซุกซ่อนอยู่ภายในได้ทำงานอย่างเงียบๆ และนี่เองคือโอสถวิเศษที่เยียวยาทั้งเราและเขา ... หาใช่คำพูดไม่

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home