โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ภาวะอารมณ์ของผู้นำส่งผลต่ออารมณ์ขององค์กร หรือบรรยากาศการทำงาน หรือสนามพลังทางสังคม (social field) ที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คนมากกว่าที่คิดกัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับอิทธิพลของอารมณ์มากกว่าความคิดถึง ๒๔ ต่อ ๑ ส่วนเลยทีเดียว แม้ว่าเราจะพยายามอ้างอิงหลักการเหตุผลหรือหลักคิดมากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่อารมณ์มีต่อเราได้ ดังนั้น เราอาจถือได้ว่า อารมณ์ขององค์กรมีผลต่อระดับจิตใต้สำนึกของผู้คนไม่น้อยทีเดียว ก็เมื่อมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะแสดงผลหรือเปิดปิดตามใจชอบของเจ้านาย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสภาพบรรยากาศที่เหมาะสมในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่หวาดระแวงหรือวิตกกังวล องค์กรที่เห็นเช่นนี้ย่อมพยายามส่งเสริมพลัง หรืออารมณ์เชิงบวกในการริเริ่มและแสดงออกถึงศักยภาพภายใน

องค์กรที่มีชีวิตจะดำเนินไปในภาวะอารมณ์ ๒ ภาวะ คือ ปกติ หรือ ปกป้อง การเยียวยาองค์กรคือการช่วยเหลือให้องค์กรนั้นกลับมารู้เนื้อรู้ตัว และรู้จักตัวเอง ว่าอยู่ในสภาวะไหน แบบแผนพฤติกรรมอันเกิดขึ้นและดำเนินมาจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นแบบไหน เป็นสิ่งที่จำยอมหรือเป็นทางเลือกที่องค์กรได้เลือกแล้ว ประสบการณ์การทำงานกับโครงการพัฒนาองค์กรในรูปแบบหรือภายใต้ชื่อต่างๆ ทำให้เราเห็นว่าเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากกระบวนทัศน์เก่าไปสู่ใหม่ จากวัฒนธรรมและทัศนคติพื้นฐานเดิมไปสู่วัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติใหม่นั้นมีหลากหลาย แล้วแต่เงื่อนไขดั้งเดิมขององค์กร การสร้างพลังอันเกิดจากจิตร่วมนั้นอาศัยเวลา การลงแรงลงใจทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้นำเองที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอาจจะต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองเช่นกันว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในตัวเองนั้นคืออะไร เหมือนกับที่มีเพื่อนคนหนึ่งได้กล่าวว่า “องค์กรเป็นได้เท่ากับที่ผู้นำเป็น ไม่ใช่แค่ที่พูด”

ไม่ว่าองค์กรจะป่าวประกาศว่าต้องการสร้างตัวเองให้เป็น “องค์กรแห่งความสุข” หรือ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” หรือจะให้เก๋หน่อยก็ใช้ภาษาอังกฤษด้วย คือ “Living and working happily” รวมทั้งคำขวัญชวนฝันอันงดงามวิจิตรพิสดารและรณรงค์ให้ “รักกัน” “สมัครสมานปรองดอง” ติดป้ายไว้มากกว่าป้ายจราจรเสียอีก บางที่ก็พูดในการประชุมแทบทุกครั้ง เพื่อให้คน “ไม่ลืม” ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไรในการทำงาน

แม้กระนั้น ตราบใดที่ถ้อยคำวาจายังไม่แปลงมาเป็นวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง คำสวยงามเหล่านี้ก็จะค่อยๆ กลายเป็นเพียงดอกไม้พลาสติกไร้ชีวิตที่ถูกเมินและระอาไป ไม่ว่าเราจะเดินทางผ่านการสัมมนาหรือการฝึกอบรมบ่มเพาะจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติทำในรูปแบบใดๆ ที่เปรียบได้เพียงการเข้าค่ายฝึกซ้อมนักรบ หากในสมรภูมิการทำงานและการใช้ชีวิตจริง นักรบยังรีรอหรือปล่อยปละละเลยไม่นำพาสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติใช้จริง อาวุธยุทโธปกรณ์อันใดที่ได้มาก็ไร้แสนยานุภาพไปโดยปริยาย ดังที่นิยายกำลังภายในมักกล่าวว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” นั่นเอง เพราะตัวกระบี่เองจะเป็นอาวุธคู่กายที่มีพลังอำนาจได้ต้องอาศัยใจที่ทรงพลังกำกับใช้งานด้วย

ใจคืออาวุธ ใจที่เหมาะสมจะใช้กระบี่ก็คือ ใจที่รู้จักกระบี่ เป็นใจที่รู้กาย หรือรู้ตัว นั่นคือมีสตินั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในภาวะปกติหรือปกป้อง อารมณ์ลบหรือบวกนั้น มันสำคัญที่ว่าเรารู้ตัวหรือไม่ ไม่เช่นนั้น เราจะไปสร้างจารีตหรือกรอบตัดสินขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เหมือนการถือเสียงข้างเดียว คือพรรคอารมณ์ดีมีสุข สงบสมหวัง เพราะโดยธรรมชาติเราก็มีแนวโน้มจะชอบ “ความปกติ” มากกว่า “การปกป้อง” ชอบ “อารมณ์ดี” มากกว่า “อารมณ์เสีย” แน่นอน พอๆ กับที่เรา “ชอบ” และ “ไม่ชอบ” อีกหลายๆ อย่าง ทั้งที่เป็นสิ่งของหรือนิสัยผู้คน

ปัญหาของการจัดการอารมณ์นั้นเกี่ยวข้องกับทัศนคติที่เรามีต่ออารมณ์เหล่านี้ เพราะหากเราไปสร้างอุดมคติไว้ให้เลอเลิศ เราก็จะไม่มีวันทำได้ เพราะมันทำไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายหรืออุดมคติเสียใหม่ แทนที่จะเป็นความสงบเย็น ไม่มีทุกข์เลย ก็เอาแค่ว่าสามารถรู้เท่าทันและทำร้ายตัวเองและคนอื่นให้น้อยที่สุดและน้อยลงไปเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนว่าประเด็นหลักหรือแนวทางออกไม่ใช่การห้ามหรือกดข่มอารมณ์เหล่านี้ไว้ แต่ทำอย่างไรที่เราจะมีสติรับรู้เท่าทันอารมณ์ลบทั้งหลายที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงโอกาสในการเปลี่ยนพลังหรืออารมณ์ตรงหน้าได้อย่างกรุณา เรามีทางเลือกเสมอ ทางเลือกที่จะแปรรูปพลังแห่งอารมณ์เหล่านี้ จากพลังทำลายล้างมาเป็นพลังสร้างสรรค์ หรือกลับกันไปกลับกันมาได้ เพราะการส่งเสริมหรือหล่อเลี้ยงอารมณ์ลบเหล่านี้เป็นการสร้างวงจรสมองหรือร่องอารมณ์ให้แน่นหนาและลึกลงไปเรื่อยๆ จนเรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตกร่องอารมณ์ได้อย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นโทสานุมัติที่เราตั้งโปรแกรมไว้ให้กับบุคคล หรือสถานที่ หรือเรื่องราวบางเรื่องราวเป็นการจำเพาะเจาะจงลงไป

ดังนั้น ในฐานะของผู้นำองค์กร การนำพาให้องค์กรมีบรรยากาศการทำงานที่ดี มีอารมณ์บวกมากกว่าอารมณ์ลบนั้น มักต้องเริ่มจากการดูแลพลังชีวิตและอารมณ์ของตัวเอง เพราะทั้งสองเกี่ยวพันกันอย่างแทบจะแยกกันไม่ออก การที่พลังชีวิตดีไม่ได้หมายความว่าไร้โรคภัยไข้เจ็บ หลายคนดูแลตัวเองให้เผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยอย่างเป็นปกติได้อย่างน่าทึ่งมากๆ และเมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาสติแตก คือยอมให้ตัวเองบันดาลโทสะ หรือแสดงอารมณ์ลบๆ ออกมา ก็ขอให้ถือว่าเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาความรู้ตัว ผมไม่เชื่อว่าเราจะไม่รู้ตัว แต่เราเลือกที่จะไม่ใส่ใจในทางเลือกอื่นที่เรามี นอกจากทางเลือกที่เราคุ้นเคย และมักมีข้ออ้างภายหลังว่า “ไม่มีทางเลือก”

ผมคิดว่าเราอาจต้องหันกลับมาเฝ้าดูอารมณ์ลบๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรกระตุ้นหรือสร้างให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่เฝ้ามองมันอย่างกรุณาไม่ผลักไสหรือใฝ่หา โดยถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ความโกรธเป็นโอกาสที่เราจะค้นพบความกลัวและการให้อภัย เมื่อเราอยากหรือโลภ โอกาสแห่งการให้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ความวุ่นวายมาพร้อมกับโอกาสแห่งความสงบเสมอ อารมณ์ลบๆ ทั้งหลายมาพร้อมกับศักยภาพของอารมณ์บวกที่พร้อมจะถือกำเนิด ณ วินาทีที่เราเลือก

เมื่อผู้นำสามารถยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเองทั้งสองด้านได้ ความขัดแย้งภายใจตัวเองก็จะน้อยลง และพร้อมจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ร่วมทีมงานเดียวกันได้อย่างเท่าเทียม เมื่อนั้นเกราะกำบังภาพลักษณ์ทั้งหลายที่ต้องแบกหามกันไว้ป้องกันตนก็อาจไม่ต้องเป็นภาระให้หอบหิ้วกันหนักอึ้งอีกต่อไป การทำงานเป็นทีมของเหล่าสามัญชนก็อาจช่วยให้ค้นพบสุขในการร่วมทุกข์ พบความกล้าในความกลัว ความหวังในความสิ้นหวังได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home