โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑

คุณเคยบ้างหรือไม่ ที่อยู่ๆ ก็พูดต่อว่าต่อขานใครออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว ภาษาหรือคำพูดที่เราจับโยนใส่คนอื่น มันไม่ใช่ภาษาของเรา เหมือนกับว่ามีใครมาพูดแทนเราอย่างนั้นแหละ ไม่ใช่แค่นั้นนะ บางทีเราอาจแสดงท่าทีบางอย่างที่ปกติเราไม่ค่อยแสดง แต่วันดีคืนดี เราก็แสดงท่าทีอย่างนั้นออกมาราวกับว่าเป็นคนอีกคนหนึ่ง ถ้าเคย คุณรู้หรือไม่ว่าคุณกำลังถูก...ผีสิง

ผีล่องลอยอยู่ในภพน้อยภพใหญ่กลางใจของเรานั่นเอง บางครั้งผีเปรตก็เข้ามาสิงสู่เราให้ทะยานอยากได้โน่นได้นี่ บางครั้งผียักษ์ก็เข้ามาสิงสู่เราให้ระเบิดความโกรธทำลายข้าวของ บางครั้งผีอสูรกายก็เข้ามาสิงเราให้กลัวหัวซุกหัวซุน “ผี” เหล่านี้ทำงานอยู่ในมุมมืดภายในจิตใจของเรา

“ผี” ที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ ตัวตนภายในที่เราไม่ยอมรับ ตัวตนภายในที่เราปฏิเสธออกไป แต่เขาไม่ได้หายไปไหน เขาซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดภายในจิตใจ พร้อมที่จะออกมาครอบงำจิตใจเราได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะยามที่จิตใจของเราถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันแห่งความหลง ผีเหล่านี้ก็จะเข้าครอบงำจิตใจของเราได้โดยง่ายดาย ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งไม่ยอมรับตัวตนของ “เด็กที่ถูกทอดทิ้ง” ที่ดำรงอยู่ภายใน ตัวตนนี้จึงกลายเป็น “ผีเด็ก” ยามขาดสติ ผีตนนี้ก็อาจเข้าสิงจิตใจ ทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่เอาแต่ใจตัวเอง เรียกร้องความสนใจ และขี้โวยวาย กลายเป็นเด็กในร่างของผู้ใหญ่ไปในทันที

คุณคิดว่าเมื่อ “ผีเด็ก” เข้าสิงร่างของผู้ใหญ่ จะมีผลกระทบอย่างไร? ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง และต่อสังคมโดยรวม

คุณเคยมี “ผีเด็ก” เข้าสิงตัวคุณหรือไม่? หรือขณะนี้ “ผี” ตนไหนกำลังสิงตัวคุณอยู่?

ความลับของจักรวาลคือ เราสามารถแปรเปลี่ยน “ผี” ให้กลายเป็น “เพื่อน” ได้ และนี่คือเคล็ดลับของการปลดปล่อยศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวคุณออกมาอย่างเหลือเชื่อ

แล้วเราจะแปรเปลี่ยนจาก “ผี” สู่ “เพื่อน” อย่างไร?

ก่อนอื่น ผมขอชวนให้พิจารณาอย่างใคร่ครวญกันสักนิดว่า “ความเป็นผี” หรือ “ความเป็นเพื่อน” เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อ “ตัวตน” ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับตัวตนภายในเป็นไปตาม “ความสัมพันธ์แบบผีสิง” หรือ “ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน” ความสัมพันธ์แบบผีสิง เป็นแบบแผนของความสัมพันธ์เดิมๆ ที่เรามักจะพบอยู่เป็นประจำในหมู่คนทั่วไป การถูกครอบงำด้วยตัวตนที่ซ่อนอยู่ในมุมมืด แล้วเราก็ไม่สามารถผละตัวออกไปได้นอกจากตกเป็นทาสของตัวตนนั้น นี่คือแบบแผนความสัมพันธ์อันเป็นปกติทั่วไป แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์แบบเดียว ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเป็นอีกรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ เป็นมิตรภาพระหว่างเรากับตัวตนต่างๆ ฟังกันและกัน เข้าอกเข้าใจกันและกัน และร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน ร่วมกันนำพาองค์รวมที่เรียกว่า “ฉัน” นี้ให้เดินไปด้วยกันบนเส้นทางชีวิต

แต่ทว่าการจัดความสัมพันธ์ใหม่นี้เราสร้างขึ้นไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม

เหตุปัจจัยที่จะได้อธิบายต่อในที่นี้คือ การขยาย “ทัศน์” หรือ “มุมมอง” (perspective) ให้ครบทั้ง ๔ ด้าน อันประกอบด้วย ๑. เรามองตัวตนนั้นเป็นคนนอก ๒. เรามองตัวตนนั้นเป็นคนใน ๓. เราเข้าไปเป็นคนในของตัวตนนั้น และ ๔. ตัวตนนั้นมองย้อนกลับมาที่ตัวตนเดิมของเรา

กล่าวคือ ความสัมพันธ์แบบผีสิงเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยคือ การมีมุมมองเพียงทัศน์เดียว ว่า “เรามองตัวตนนั้นเป็นคนนอก” เพราะลึกๆ แล้วเราไม่ยอมรับตัวตนนั้น ดังนั้นเขาจึงย้อนกลับมาสัมพันธ์กับเราแบบเข้าครอบงำ ตัวอย่างเช่น เราปฏิเสธตัวความโกรธว่าไม่ใช่เรา คนอื่นนั่นแหละที่โกรธ ไม่ใช่ฉัน คุณคิดว่าคนต่อว่าต่อขานคนอื่นว่า “แกนั่นแหละที่โกรธ” ขณะนั้นเขากำลังถูกครอบงำด้วยตัวความโกรธหรือไม่

การขยายทัศน์ไปสู่ “เรามองตัวตนนั้นเป็นคนใน” เป็นการสร้างเหตุปัจจัยเพิ่มเติม โดยการเริ่มยอมรับว่าตัวตนที่เราปฏิเสธไปนั้น แท้จริงแล้วก็ดำรงอยู่ภายในจิตใจของเราเอง ยอมรับว่าเขาก็เป็นตัวตนๆ หนึ่งในใจ ด้วยเหตุปัจจัยที่ใกล้ตัวเราเข้ามามากขึ้น เราจึงเริ่มพัฒนาคาดหวังต่อตัวตนนั้น ว่าเขาน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกับความคาดหวัง ส่วนใหญ่แล้วคนที่สนใจพัฒนาจิตใจของตนเองจะเข้ามาได้ถึงจุดนี้ เช่น การเห็นตัวความโกรธภายในจิตใจแล้วก็พยายามกดข่มมันไว้ หวังว่าตัวความโกรธนั้นจะหายไป หรืออย่างน้อยก็ทำตัวให้ดีๆ หน่อย แต่นั่นยังเป็นเหตุปัจจัยที่ไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงความจริงของตัวความโกรธ

การสร้างเหตุปัจจัยเพิ่มโดยการขยายทัศน์ไปสู่ “เราเข้าไปเป็นคนในของตัวตนนั้น” จะทำให้เราเข้าใจถึงความจริงของตัวตนนั้นอย่างเต็มเปี่ยม กล่าวคือ เราสามารถพูดอย่างที่เขาพูด รู้สึกอย่างที่เขารู้สึก โกรธอย่างที่เขาโกรธ ความโกรธนั้นคือตัวเรา ตัวเราก็คือความโกรธ เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแนบสนิท

แต่แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่า เราเป็นหนึ่งเดียวกับความโกรธ แล้วเหตุใดความโกรธจึงทวีคูณไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะไม่คาดหวังแล้วว่า ความโกรธจะต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นอะไร และยอมรับความจริงของความโกรธอย่างเต็มอก แต่ทำไมความโกรธนั้นจึงขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การสร้างเหตุปัจจัยสุดท้ายคือ การขยายทัศน์ไปสู่ “ตัวตนนั้นมองย้อนกลับมาที่ตัวตนเดิมของเรา” เป็นการมองผ่านสายตาของความโกรธ ที่สะท้อนกลับไปยังตัวตนเดิมที่เคยดำรงมาก่อนนี้ ว่าแท้จริงแล้ว ตัวตนเดิมนั้นก็เป็นเพียงตัวตนแห่งความขลาดกลัวณ จุดนี้เอง ที่เปิดโอกาสให้ตัวความโกรธและตัวความกลัวมีพื้นที่ยืนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์อะไรกัน และไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน เคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน และสามารสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนขึ้นมาใหม่ได้เอง

กระบวนการขยายทัศน์ข้างต้นนี้เรียกว่า “กระบวนการใจสะท้อนใจ” (Insider-Outsider Process) เป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างเหตุปัจจัยที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง “ความสัมพันธ์แบบผีสิง” ไปสู่ “ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน” การเปลี่ยนแปลงจาก “ผี” ให้กลายเป็น “เพื่อน” คือการปลุกเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคุณออกมาใช้อย่างเต็มที่ คุณจะมีเพื่อนมากมายที่ดำรงอยู่ในใจคอยเป็นกองหนุนให้สามารถเผชิญกับโลกได้อย่างเต็มความสามารถ นำไปสู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งภายในและภายนอก มีความสุข และสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home