โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑

เวลาสร้างสนามกอล์ฟนั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ๆ ซึ่งจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็จะแตกต่างกันไปตามแปลนของสนาม เพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับเส้นทางของเกมกอล์ฟตามที่คนออกแบบสนามกำหนดมา

โดยเผินๆ คนทั่วไปก็จะมองไม่ออกหรอกครับว่า ต้นไม้ต้นไหนเป็นต้นที่ย้ายมา ต้นไหนเป็นต้นดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพราะดูเผินๆ ก็จะเป็นต้นไม้เหมือนๆ กัน กระจายอยู่ทั่วไปในสนามกอล์ฟ ต่อเมื่อมีพายุใหญ่พัดเข้ามา เราจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าต้นไม้ต้นไหนเป็นต้นที่ย้ายมา เพราะต้นที่ย้ายมานั้นจะเป็น “ต้นไม้ที่ไม่มีราก”

“ต้นที่ไม่มีราก” หยั่งลึกนั้นจะล้มระเนระนาดเต็มไปหมดเวลาเจอพายุใหญ่

ในเวิร์คช็อพ ผมให้ผู้เข้าร่วมสองคนยืนข้างๆ กัน แล้วผลัดกันอ้อมมือไปแต่ที่กระดูกหน้าอกของอีกคนหนึ่ง ค่อยๆ ออกแรงดันที่มือและสังเกตแรงที่ใช้ในการดันให้ลำตัวของเพื่อนโยกไปด้านหลัง จากนั้นผมก็จะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกับ “การมีราก” ด้วยการสอน “กราวดิ้ง” คราวนี้เมื่อให้ผู้เข้าร่วมออกแรงดันในขณะที่ “ยืนแบบมีราก” ทุกคนก็จะพบความแตกต่างระหว่างการยืนสองแบบอย่างชัดเจน

มนุษย์ในสังคมปัจจุบันก็คล้ายกันมากกับต้นไม้ครับ ดูเผินๆ ก็ดูไม่ออกหรอกนะครับว่า คนไหนมีรากหรือคนไหนไม่มีราก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ก็มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดี ให้ผู้ที่มารับบริการเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด แต่พอทำงานไปสักพัก มีหลายๆ เรื่องที่พัดแรงเข้ามาในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดความกดดันจากการทำงาน เรื่องสามสิบบาท เรื่องประกันคุณภาพ เรื่องฟ้องร้องหรือเรื่องใดๆ ก็ตาม “คนที่มีราก” ก็จะยังคงสามารถมั่นคงกับการทำงานเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี

“ไม่ใช่ทำงานเพียงเพื่อให้สถานบริการทางสาธารณสุขดูดี”

“คนรากลอย” จะหลงประเด็นว่าตัวเองกำลังทำงานอะไรอยู่ หลงไปทำงานเพียงเพื่อให้สถานบริการดูดีหรือมีคุณภาพ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจว่า คนที่มารับบริการจะมีสุขภาพดีขึ้นตามจุดประสงค์ของการตั้งโรงพยาบาลหรือสถานบริการแห่งนั้นขึ้นมาหรือไม่

เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ตั้งระบบอีเอ็มเอสขึ้นมา จุดประสงค์หลักเพื่อให้คนรับจดหมายหรือพัสดุได้รับของที่ส่งทางไปรษณีย์ได้ “รวดเร็วที่สุด” เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่มีราก ก็จะมั่นคงกับการส่งของให้ถึงมือผู้รับได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด เช่น ถ้ารอบนั้นของการส่งพัสดุมาส่งแล้วบ้านผู้รับของยังปิดอยู่หรือไม่มีใครอยู่บ้านก็จะยังคงพยายามวนเวียนส่งพัสดุอยู่หลายๆ รอบ หรืออาจจะฝากไว้กับคนข้างบ้านแล้วจะยังคงแวะเวียนมาตรวจสอบดูว่าเจ้าของบ้านเปิดหรือยัง

เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่ไม่มีรากก็อาจจะลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของอีเอ็มเอสว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร เพียงแค่ขอให้ตัวเองทำงานเสร็จ หมดหน้าที่ตรงนั้นของตัวเอง ก็เลือกที่เขียนเป็น “ใบรับของ” ทิ้งไว้ให้ การทิ้งใบรับของไว้ให้นั้นเพียงทำให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้รู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่ได้รวดเร็วตรงตามเวลาทั้งๆ ที่คนรับพัสดุยังไม่ได้รับของ

การเข้าใจถึง “รากหรือแก่น” ของการทำงานแต่ละชนิดแต่ละอย่างจึงมีความสำคัญมาก ที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงอาการเริ่มต้นของการไม่มีราก ถ้าอาการหนักหนาสาหัสมากขึ้น

เช่น เรามักจะเกิดคำถามขึ้นมาเสมอๆ ว่า เอ๊ะ ทำไม คนๆ หนึ่งที่เราเคยคิดว่าเขาเป็นคนดี หรือเป็นคนเสียสละที่ทำอะไรเพื่อสังคม แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เขาเติบโตมีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งที่การงานที่ก้าวหน้าแล้ว อยู่ๆ “เขาก็เปลี่ยนไป” กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน หรือทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือบางคนบางองค์กรแต่เดิมก็ทำงานกันอย่างดีๆ เพียงแค่เริ่มมีผลประโยชน์มีเงินมีทองมีสรรเสริญ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เริ่มมองเห็นแก่ผลประโยชน์มองเห็นแก่ลาภยศสรรเสริญเหล่านั้น มากกว่างานดีๆ ที่ได้กระทำมา

เราก็จะเกิด “ความผิดหวัง” แบบนี้เสมอๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า กับคนแล้วคนเล่า

บางทีนอกจากการที่เราจะต้องฝึกหัด “การไม่ตัดสิน” ผู้คนแล้ว เรายังอาจจะต้องมาตั้งสมมติฐานกันใหม่หรือเปล่าว่า “เออ...บางทีเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกนะ เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้นเองแต่เราเข้าใจพวกเขาผิดไปเอง?”

เขียนแบบนี้ไม่ได้มีเจตนาจะให้ซ้ำเติมตัวเราเองประมาณว่า “โง่” ที่ไปเข้าใจอย่างนั้นเองนะครับ แต่เขียนเพื่อให้ลองกลับมาทบทวนอะไรบางอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวเราเองในการทำความเข้าใจกับผู้คนและอาจจะเป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อให้เกิดสังคมดีงามในอนาคตด้วยก็คือ “บางที อาจจะเป็นเพราะคนเหล่านี้ ‘ไม่มีราก’”

โลกใหญ่ใบนี้คือ “แหล่งพลังงาน” ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ทุกผิวสัมผัสของร่างกายของเราที่มีต่อโลกใบนี้ คือการตอบรับถ่ายเทพลังงานมหาศาลระหว่างร่างกายของเรากับโลกใบนี้ ในการเดินและการยืนนั้น ฝ่าเท้าของเราจะเป็นจุดสัมผัสกับแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น เวลาที่เราล้มตัวลงนอนแผ่นหลังและทุกส่วนของร่างกายที่สัมผัสพื้น คือจุดสัมผัสกับแหล่งพลังงานเหล่านั้น

ถ้าเราไม่สามารถ “เปิดการรับรู้” ถึงแหล่งพลังงานจากผืนโลกใบนี้ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราก็จะเปรียบเสมือน “ต้นไม้ที่ไม่มีราก” ที่ล้มหรือ “ปลิว” ได้ง่ายเหลือเกิน

ในภาคปฏิบัติจริง “การมีราก” คือ “การกราวดิ้ง” ซึ่งก็คือการเปิดการรับรู้ต่อโลกใบนี้ เป็นการสื่อสารระหว่างร่างกายของเรากับโลกใบนี้ เป็นการตอบรับต้อนรับดูดซับพลังงานที่สดใสจากโลกใบนี้ให้ผ่านเข้าสู่ร่างกายของเราและเป็นการถ่ายเทพลังงานด้านลบของเราให้ออกจากร่างกายถ่ายเทลงสู่โลกใบนี้ ด้วยความรู้สึกที่ศิโรราบ อ่อนน้อมและรู้คุณ

“คนที่มีราก” จะรู้ดีและมั่นคงถึง “เจตจำนง” ของชีวิตว่า “คุณเป็นใคร” และ “เกิดมาทำไมในโลกใบนี้”

“คนที่มีราก” ก็จะเข้าใจคำพูดกึ่งคำถามที่ออตโต ชาร์มเมอร์เคยบอกไว้ในหนังสือทฤษฎียูของเขาว่า “What life calls you to do?”

ใช่ครับ เราต้องถามตัวเราเองบ่อยๆ ครับว่า “What life calls me to do?”

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home