โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑

เมื่อคืนฉันมีปากเสียงกับคนข้างกาย ด้วยเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง หลับไปอย่างโกรธๆ แล้วคิดว่า “คอยดูนะ ฉันจะ ...” เช้าวันนี้ตื่นขึ้นมา หันไปเห็นคนข้างกายยังนอนสบาย นึกหมั่นไส้แต่ต้องไปทำงาน ก็เลยไม่มีเวลาตอแยด้วย อารมณ์ยังขุ่นมัวอยู่เลย นั่งแท็กซี่ไปก็คิดว่า “กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะก่อนเถอะ” เตรียมความพร้อมของใจก่อนไปทำงานอาสาสมัครในโครงการ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” ที่เสถียรธรรมสถาน ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ทุนของชีวิตคือจิตที่ไม่ขุ่นมัว ... คือคาถาก่อนทำงานวันนี้

พอไปถึงก็ทำนี่นั่นโน่น เลยลืมเรื่องที่คาใจไปโดยอัตโนมัติ เสียงเทศน์จากซีดีหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุลอยมา “ทำงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม ทำแล้วให้จิตเจริญขึ้น ไม่ใช่จมอยู่กับความเบื่อ เซ็ง โกรธที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำแล้วไม่ได้งานดีดั่งใจ” เออ! จริงเนอะ พอทำงานแล้วมันก็ดึงเรากลับมาอยู่กับการทำหน้าที่ในปัจจุบันจนลืมปรุงแต่งความโกรธ ถ้าวันนี้ไม่มาทำงานคงมีระเบิดลงอีกหลายลูก อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตกับการเอาถูกเอาผิดในเรื่องนิดเดียว การมาทำงานวันนี้ได้ทำให้พ่อแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กว่า ๔๐ คู่มีความสุขกลับไป และความประทับใจที่ได้รับกลับอยู่ที่การได้ร่วมทุกข์กับใครอีกหลายคน

ในหลายคนนั้น มีคนหนึ่งคืออาสาสมัครสาวน้อย สวยเพรียวตาคมผมยาว ใครเห็นก็ชื่นชมว่า “โถยังวัยรุ่นอยู่เลย รู้จักเข้าหาธรรมะ และยังมีใจอาสามาช่วยทำงานบุญอีก” แต่หารู้ไม่ว่า เธอมาเพื่อใช้งานบุญเยียวยาความทุกข์ใจจากการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในวัยเพียง ๒๐ ปี และเยียวยาความทุกข์กายจากโรคที่กำลังรอฟังผล

สองคนต่อมาเป็นแม่ท้องสองที่ต่างก็กำลังมีลูกวัยซน คนหนึ่งทำงานนอกบ้าน เครียดแสนเครียดจากการไม่มีเวลาให้ลูก ส่วนอีกคนเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านตามลำพัง เครียดแสนเครียดเพราะไม่มีเวลาให้ตัวเอง เธอทั้งสองเป็นเพื่อนกันจากการเข้าร่วมโครงการจิตประภัสสรฯ ตอนท้องแรกเมื่อ ๓ ปีก่อน แม้เครียดและเหนื่อย แต่วันนี้พวกเธอเลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกอยู่เฉพาะในโลกของตัวเอง เธอบอกว่า “เพียงได้รับฟังทุกข์สุขของคนอื่นบ้าง ก็กลับไปอย่างมีพลัง เพราะทุกข์น้อยลงทุกครั้ง”

ยังมีแม่อีกคนเลิกรากับสามี แต่กลับพบว่าได้ลูกในท้องติดมาเป็นสมบัติที่ไม่มีใครขอแบ่ง ด้เห็นเธอยิ้มทั้งน้ำตาตอนที่คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือ คุณยายจ๋า บอกว่า “แม่คือผู้เปิดประตูจิตวิญญาณของลูก นอกจากจะทำให้ลูกเกิดทางกายแล้ว ความมั่นคงในใจของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง จะทำให้ลูกได้เห็นตัวอย่างความกล้าหาญ เป็นการทำให้ลูกเกิดอีกครั้งทางจิตวิญญาณ”

ส่วนแม่อีกคนพาลูกมารับขวัญเมื่อเดือนก่อน หลังจากวันนั้น เธอประสบอุบัติเหตุทางรถจนต้องเข้าผ่าตัด แต่เธอก็รอดมาได้ ตลอดการรักษาตัวในโรงพยาบาลเธอได้เพื่อนที่มาร่วมในโครงการจิตประภัสสรฯ ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลนั้นคอยดูแล เพื่อนคนนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้จากเธอในวันที่เธออาสามาถ่ายทอดเรื่องราวการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมทั้งบ้านและพ่อของลูก แต่เธอมีใจที่พร้อมและมั่นคงว่า ... เธอจะไม่เป็นผู้ฆ่าอีกชีวิตหนึ่งซึ่งกำลังพึ่งพาลมหายใจของเธอ

และอีกเสียงสะอื้นมาทางโทรศัพท์เมื่อ ๓ วันก่อน “หนูอยู่หน้าห้องตรวจครรภ์ อยากขอคำปรึกษา”

เธอตั้งครรภ์เดือนที่ ๘ และไปตรวจครรภ์เพื่อเตรียมคลอดตามปกติ แต่กลับพบว่า “หัวใจลูกมีโพรงขนาดใหญ่ และอาจไม่มีกระเพาะอาหาร” พ่อแม่คู่นี้กำลังไปตายเอาดาบหน้าเพื่อหาโรงพยาบาลที่พร้อมทั้งการคลอดและการผ่าตัดให้ลูกหลังคลอด ขณะที่เหมือนหนทางตัน ฉันต่อสายให้เธอคุยกับพยาบาลอาสาสมัครที่ปวารณาตัวเป็นคุณป้าของเด็กๆ ในโครงการจิตประภัสสรฯ แม้สุดท้ายคุณหมอเจ้าของไข้จะบอกให้เธอทำใจเพราะอย่างไรคงช่วยเด็กไว้ไม่ได้ แต่วันนี้เธอบอกว่า “กลับมาอยู่กับปัจจุบันแล้ว ใช้เวลาที่ลูกยังอยู่ในท้องพาเขาทำกุศลทุกวันเหมือนที่คุณยายจ๋าสอน” ... ทำหน้าที่แม่ผู้เปิดประตูจิตวิญญาณให้ลูกจนวาระสุดท้าย วันนี้เรื่องของเธอทำให้ประจักษ์ว่า การมีชุมชนที่เกื้อกูลกันเป็นวงศาคณาญาตินั้น ทำให้พ่อแม่คนหนึ่งที่กำลังจะสูญเสียลูกไม่ต้องจมทุกข์อยู่ลำพัง

กิจกรรมช่วงสุดท้ายของวันนี้ คือการอธิษฐานจิตที่ห้องพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งคุณยายจ๋าสอนว่า “ชีวิตนั้นเราได้การเกิดมาพร้อมกับความตาย ไม่มีใครเกิดโดยไม่ตาย และความทุกข์ ๓ อย่างที่พ่อแม่ลูกทำแทนกันไม่ได้ คือ แก่ เจ็บ ตาย ... พ่อแม่ที่มีลูกในครรภ์กำลังดีใจที่ลูกจะเกิด แต่อย่าประมาทกับความตาย ไม่ว่าของเราหรือของใคร ใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ทุกขณะจิต ให้การเกิดของลูกเป็นการเกิดเพื่อให้ครอบครัวได้เรียนรู้การพ้นทุกข์ร่วมกัน ไม่ใช่มาสร้างเวรกันต่อไป และที่สำคัญ อย่าใช้ชีวิตที่มีอย่างคนที่ตายทั้งเป็น คร่าชีวิตตัวเองไปวันๆ ด้วยการเป็นเหยื่อของอารมณ์”

เมื่อฟังเรื่องความตาย จึงทำให้นึกถึงเมื่อครึ่งเดือนก่อน คุณแม่ผู้แข็งแรงของฉันก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องผ่าตัดสมองด่วนหลังจากถึงโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะ เพราะเพียง ๒ ชั่วโมงท่านก็เริ่มไม่รู้สึกตัวและผลสแกนสมองบอกว่า สมองบวมมาจนเบียดแกนสมองที่ควบคุมการหายใจและการเคลื่อนไหว หากไม่ผ่าตัดทันที คุณแม่ที่เตรียมตัวจะไปเที่ยวเวียดนามกับเราทั้งครอบครัวในวันรุ่งขึ้นก็อาจกลายเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้

สามวันผ่านไปในห้องไอซียู คุณแม่ฟื้นขึ้นมาพูดจากันได้ ท่านบอกว่า “พระให้แม่มาเกิดใหม่เพื่อทำความดี แม่ไม่กล้าโกรธเกลียดใครอีกแล้ว แม่จะไปขอขมาทุกคน แม้แต่คนที่แม่ตั้งใจว่าจะไม่ไปเผาผี เพราะแม่รู้แล้วว่า จิตแรกที่ฟื้นขึ้นมานั้นมันผูกพันอยู่กับคนที่เราเกลียดที่สุด อยากจะไปคืนดีกับเขา ไม่อยากตายไปอย่างจองเวรกันต่อไป” บางทีอาจไม่ใช่คนที่รักที่สุดนะที่นึกถึงเมื่อจะตาย

ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเรียนรู้ “เคล็ดลับคลายทุกข์” ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของการทำงานอาสาสมัคร “เพียงเดินออกจากโลกอันคับแคบของเรา แล้วร่วมทุกข์กับเพื่อนมนุษย์ ความทุกข์ที่เรารู้สึกว่าใหญ่ก็เล็กลง” ... แต่เราก็มักจะลืมเคล็ดลับนี้

หนทางหนึ่งของโอกาสในเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในที่เรียกว่า “จิตตปัญญาศึกษา” คือ การทำงานอาสาสมัคร ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่การนั่งลงและรับฟังทุกข์สุขของใครสักคนอย่างเปิดใจกว้างและวางอคติ เพราะการรับฟังอย่างเพื่อนร่วมทุกข์นี่แหละ คือการเยียวยาความทุกข์ได้ชะงัดนัก และตัวเราจะเกิดปัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจากการ “เป็นทุกข์” สู่ความสิ้นทุกข์เพราะ “เห็นทุกข์” เป็นธรรมดาของชีวิตที่มีเพื่อเรียนรู้เท่านั้นเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home