โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑

ทุกวันนี้เวลาเราดูข่าว เราจะเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมของสังคมทั้งในและนอกประเทศไทย คงไม่เกินความเป็นจริงที่จะกล่าวว่า ความรุนแรงกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ปรากฏออกมาให้สังคมภายนอกรับรู้ได้และอยู่ในซอกหลืบที่สังคมไม่เคยได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในเด็ก ในวัยรุ่น และคนหนุ่มสาว ความรุนแรงที่ผ่านออกมาทางสื่อต่างๆ การขยายตัวของความรุนแรงในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส และปัตตานี) และความรุนแรงระหว่างชนชาติในธิเบต จีน ขณะนี้

สาเหตุของความขัดแย้ง จนถึงขั้นขยายตัวจนก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นมีด้วยกันหลายเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน ผู้เขียนจะขอพูดถึงสาเหตุที่อยู่ใกล้ตัวก่อน คือเรื่องการตกร่องหรือการยึดติดกับพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ บางครั้งเรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้หากปล่อยปละละเลยก็จะสะสมเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอยู่ทุกๆ วัน

ที่ผ่านมาเราเคยได้เปิดสมุดบันทึกชีวิตของเราขึ้นมาอ่านทบทวนกันบ้างไหม โดยเฉพาะในเรื่องการยึดติดกับร่องพฤติกรรมการแสดงออกบางอย่างของตัวเรา อีกทั้งได้เคยลองเฝ้าสังเกตสมุดบันทึกชีวิตร่องพฤติกรรมการแสดงออกของผู้คนรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ เพื่อนร่วมงานในหน่วยงาน ในองค์กร หรือคนในชุมชน ในสังคมที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราเคยมีความรู้สึกต่อการยึดติดกับร่องพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นอย่างไรบ้าง หรือเราเคยตั้งคำถามกันบ้างไหมว่าทำไมคนเรานั้นจึงมีร่องพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งๆ ที่บางครั้งฝาแฝดเกิดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูมาก็ไม่ต่างกันมากนักแต่ทำไมจึงมีร่องพฤติกรรมการแสดงออกแตกต่างกัน จนบางครั้งการยึดติดกับร่องพฤติกรรมการแสดงออกเหล่านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้ยาก และหากสะสมเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน (เพราะเราต้องสัมพันธ์กันอย่างหลีกหนีไม่ได้ เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน หัวหน้ากับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน เป็นต้น) โดยที่เราเองก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะแสวงหาทางคลี่คลายหรือทำความเข้าใจระหว่างกัน ก็จะทำให้เริ่มเกิดเป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจ จนถึงเกิดเป็นความขัดแย้ง ระหว่างบุคคล ขยายไปที่กลุ่มคน จนถึงขั้นก่อตัวขยายออกไปสู่องค์กรชุมชน และสังคมจนเป็นการแบ่งข้างแบ่งฝ่าย และสร้างความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นได้ในที่สุด

จะขอยกตัวอย่างความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจที่สะสมขึ้นบ่อยๆ จนบางครั้งถึงกับรู้สึกได้ถึงความขัดแย้งทั้งที่แสดงออกมาให้เห็นและเก็บซ่อนไว้ในใจ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง ผู้เขียนค้นพบว่าตัวเองเป็นคนมีบุคลิกลักษณะไม่ชอบที่จะสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึก หรืออาจจะบอกได้ว่าไม่ค่อยได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและผู้อื่นมากนัก เวลาเกิดอารมณ์ความรู้สึกก็จะหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้หรือพิจารณาอย่างถ่องแท้จริงจัง หากต้องร่วมงานกับคนที่ใส่ใจต่ออารมณ์ความรู้สึกมากๆ จนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจในตนเอง ลังเลวิตกกังวล ขี้เกรงใจจนไม่กล้าที่จะพูดอะไรอย่างตรงไปตรงมา (ในความรู้สึกของเรา) เพราะเขากลัวเสียความสัมพันธ์และอาจทำให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น มันจะเร็วมากที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยพอใจ และตามมาด้วยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะเราสามารถที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วโดยไม่ลังเล มั่นใจตัวเองพอสมควร บุกตะลุย กล้าได้กล้าเสีย รักอิสระ เปิดเผย พูดจาตรงไปตรงมาจนบางครั้งก็ไม่กลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์

ผู้เขียนมักจะมีโครงการใหม่ๆ มาเสนอเพื่อนร่วมงานเสมอ ชอบที่จะคิดนอกกรอบและสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทาย บางครั้งไม่ลงรายละเอียด ไม่รอบคอบ มีความยืดหยุ่นสูงพอสมควร ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าข้อมูล เมื่อเกิดปัญหามักจะไม่จำนนต่ออุปสรรคสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับหลักการ รักการเรียนรู้แบบกว้างๆ หลากหลายแต่ก็รู้ไม่ลึก เบื่อง่ายไม่ค่อยมีวินัยในตัวเอง ขาดความอดทน เราก็มักจะเห็นแย้งกับเพื่อนที่มีลักษณะไม่ค่อยยืดหยุ่น ยึดติดในหลักการสูง คิดในกรอบ ตัดสินใจช้า คาดหวังสูง กลัวความผิดพลาด รอบคอบจนเกินไปในความรู้สึกของเรา ลงรายละเอียด มีหลักการ มีขั้นตอนชอบวิเคราะห์

บุคลิกต่างๆ เหล่านี้ที่ผู้เขียนใช้แสดงออกบ่อยๆ จนคุ้นชินจนเป็นนิสัย และเมื่อต้องร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกที่แตกต่างออกไปจากเรา หากไม่เราเท่าทันหรือรู้ตัวเองพอ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ถึงอาการขัดอกขัดใจ ไม่พอใจ จนบางครั้งสะสมเป็นความขัดแย้งอยู่บ่อยๆ

จากประสบการณ์พบว่าเมื่อลองสำรวจลงไปลึกๆ แล้วการที่คนเราแสดงออกต่างกันนั้นจริงๆ แล้วคนเรามีความต้องการหรือแรงจูงใจในการกระทำการแสดงออกเหมือนกันมากกว่าแตกต่างกัน เช่น เราต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตพื้นฐาน ต้องการความสุข ต้องการความมั่นคง ต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการอิสรภาพและทางเลือก ต้องการความเข้าใจ ต้องการเรียนรู้ ต้องการความสงบและสันติ ต้องการความเคารพซึ่งกันและกัน ต้องการเป้าหมายในชีวิต ต้องการความร่วมมือ ต้องการกำลังใจและการดูแลเอาใจใส่ ต้องการความไว้ใจ เป็นต้น แต่การแสดงออกหรือวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความต้องการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามความถนัด ความสามารถหรือความคุ้นชิน ที่เราทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำและก็ได้รับการตอบสนองตามความต้องการ

ฉะนั้นหากเราเท่าทันว่าระหว่างเรากับผู้อื่นนั้น เพียงแค่วิธีการการแสดงออกหรือช่องทางในการได้มาซึ่งความต้องการนั้นแตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับวิธีการของกันและกัน จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแสดงออกถึงความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และหากความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนองมากเพียงใด ความขัดแย้งและความรุนแรงก็จะขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น

การยึดติดในร่องพฤติกรรมการแสดงออกเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เช่น การยึดติดในผลประโยชน์ เกียรติยศชื่อเสียง การเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าเขาด้อยกว่า ความอยากความต้องการที่เกินพอดีในทุกๆ เรื่อง เป็นต้น เหตุต่างๆ เหล่านี้ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มความขัดแย้ง ความรุนแรงให้ขยายตัว

สำหรับผู้เขียนค้นพบว่าหากเราเริ่มต้นคลี่คลายความขัดแย้งจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อนน่าจะง่ายกว่าไปผลักดันให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง หากทุกคนเริ่มจากการใส่ใจต่อเรื่องเล็กน้อยที่เป็นต้นเหตุที่สำคัญของความขัดแย้งรุนแรง นั่นหมายถึงเราก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ครอบครัวมีความรักความเข้าใจต่อกัน ภายในองค์กรมีความร่วมไม้ร่วมมือกันมีพลังสร้างสรรค์ เมื่อหน่วยย่อยๆ ในสังคมสงบสุข ก็จะส่งผลกระทบให้สังคมประเทศชาติ สังคมโลกสงบและมีสันติสุขในที่สุด

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home