โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑

หนึ่งเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็น “คุณแม่ลูกอ่อน” ใช้เวลา 24 ชั่วโมงอยู่กับลูก หายใจเข้าออกเป็นลูก หนึ่งเดือนที่แล้วผู้เขียนมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเท่าหางอึ่ง เพราะหนึ่งไม่เคยเลี้ยงลูกมาก่อน และสองไม่เคยเติบโตมาในครอบครัวที่มีเด็กอ่อน ด้วยความไม่มั่นใจ และความกังวลตามประสาคนเป็นแม่มือใหม่ เมื่อมีปัญหาผู้เขียนจึงได้เที่ยวค้นคว้าหา “ข้อมูลมือสอง” จากหนังสือ คู่มือ เว็บไซต์เลี้ยงลูกทั้งไทยและเทศ โทรศัพท์ถามพยาบาลอาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 5 รอบ โทรปรึกษาหมอที่เป็นเพื่อนของสามีอีก 3 คน อีเมลคุยกับผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง แถมยังไปลากพี่เลี้ยงของตัวเองเมื่อตอนเป็นเด็กให้ช่วยมา “วิเคราะห์” ปัญหาของลูกให้หน่อย

หนึ่งเดือนผ่านไปผู้เขียนมีทฤษฎีการเลี้ยงลูกเต็มหัว อธิบายให้ใครต่อใครฟังได้เป็นวรรคเป็นเวร เถียงได้ทั้งแบบสนับสนุนและแบบค้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การเรอ การอุ้ม การขับถ่าย และเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองน่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ได้แล้ว แต่อย่างว่า เด็กอ่อนไม่ใช่สมการคณิตศาสตร์ ที่จะมานั่งถอดรูท เทียบบัญญัติไตรยางศ์ หรือทำการวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันได้ ทฤษฎีอาจช่วยให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ทฤษฎีไม่ใช่หัวใจของการดำเนินชีวิต

ในยุคสมัยที่แผงหนังสือเต็มไปด้วยคู่มือจำพวก How To เคล็ดลับการเอาชนะใจคน สูตรสำเร็จชีวิตคู่ หรือรหัสลับสู่การตายอย่างสงบ เรากลับรู้สึกสับสนกันมากขึ้นว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรดี คำถามมันเริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่าง กินอะไรจึงจะสุขภาพดี ขี้สีอะไรจึงจะเรียกว่าผิดปกติ ไปจนถึงเรื่องซับซ้อนอย่าง ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะใจเพื่อนร่วมงาน หรือวิธีสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจเรา

หนังสือเหล่านี้ตัดทอนชีวิตให้แลดูง่าย แยกชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ มีขั้นตอนที่เห็นได้ชัดเจน มีคำอธิบายที่มีเหตุมีผลอย่างเถียงไม่ได้ และที่สำคัญ บทสุดท้ายของหนังสือจำพวกนี้มีแต่คำว่าความสำเร็จเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่า ที่หนังสือเหล่านี้ขายดีเทน้ำเทท่า ไม่ใช่เพราะมันทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์แบบขึ้นอย่างที่เขาโฆษณา แต่เพราะหนังสือเหล่านี้ “ขาย” ภาพฝันแสนหวานของชีวิตที่ใครต่อใครหลายคนอยากมี ชีวิตที่มีขั้นตอนชัดเจน มีสูตรสำเร็จตายตัว และเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม

เมื่อผู้เขียนค่อยๆ กลับมาคลี่ดูใจที่ร้อนรุ่มด้วยความกังวล จึงได้พบว่า ผู้เขียนได้วาดภาพฝันของการเลี้ยงลูกด้วยความคาดหวังก้อนมหึมา ภาพฝันที่จะเห็นลูกนอนหลับทำตาพริ้มวันละ 18 ชั่วโมง (เหมือนที่ในหนังสือเขาบอก) ภาพลูกซบลงบนอกแม่อย่างสงบนิ่งเหมือนในโปสเตอร์รณรงค์การให้นมแม่ ภาพลูกตื่นมากินนมทุกๆ 2 ชั่วโมงตามที่พยาบาลและใครต่อใครบอก และภาพฝันอีกต่างๆ นานา ที่ท่วมทะลักออกมาจากความคาดหวังของคนเป็นแม่ ข้อมูลและทฤษฎีต่างๆ ที่ไปเที่ยวควานหามาถูกหยิบยกมาอธิบายและทดลองใช้ เพื่อให้ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่ายตามที่แม่ได้คาดหวังไว้โดยไม่รู้ตัว

แต่ความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า คือ ลูกตื่นตาแป๋วตั้งแต่เช้ายันเย็น ลูกโยเยอาละวาดเวลากินนมแล้วไม่ได้ดั่งใจ ลูกตื่นมาทุกๆ ครึ่งชั่วโมงเพราะกินไปอาละวาดไปมันก็กินไม่อิ่ม ในสายตาของเรา ลูกได้กลายเป็นเด็กเลี้ยงยากไปในทันที เพียงเพราะเราพยายามยัดเขาเข้าไปในกรอบที่ตีล้อมด้วยความคาดหวังที่จะให้ลูกเป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น

ความคาดหวังที่จะเห็นภาพฝันสมบูรณ์แบบเป็นเหมือนกำแพงบดบังไม่ให้เรามองเห็นความจริงที่แสดงอยู่ตรงหน้า ร้ายกว่านั้นมันยังได้บดบัง “ศรัทธาในความเป็นแม่” ที่จะพาเราเผชิญปัญหาอย่างสุขุมและเท่าทัน ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา แทนที่เราจะย้อนมาถามใจเราเองว่าต้องทำอย่างไร เรากลับเลือกที่จะเปิดหนังสือ หาข้อมูล ทิ้งใจของเราเอาไว้ในมุมมืดและอาศัยสมองคนอื่นมาแก้ปัญหาให้แทน

ในหลายๆ ครั้งที่ความเป็นจริงเข้ามาทำลายภาพฝันที่วาดไว้ เช่น ลูกร้องโยเยทั้งๆ ที่กินนมอิ่มแล้ว ผู้เขียนมักได้ยินตัวเองเผลอพูดออกมาเสมอว่า “ปกติเขาจะไม่เป็นอย่างนี้…” ทั้งๆ ที่มันไม่มีคำว่า “ปกติ” สำหรับเด็กแรกเกิดเลย ทุกวันคือวันใหม่ของเขา ทุกนาทีคือเวลาของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้เขียนพบว่าสามารถทำได้ดีที่สุด คือ อยู่กับเขาในปัจจุบัน และให้ความรักกับเขาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และในเสี้ยววินาทีนั้น ผู้เขียนก็ได้พบว่า เราก็สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ด้วยตัวของเราเอง

กว่าจะคิดได้อย่างนี้ก็เหนื่อยกันไปหลายยก

มีคนเคยเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่าเหมือนกับการเต้นรำ เพราะคนทั้งคู่ต้องเรียนรู้จังหวะ นิสัย และลีลาของกันและกัน จึงจะสามารถสร้างการเต้นที่สวยสง่าในแบบฉบับของตนเองได้ หากเต้นกันตามทฤษฎีเพียงอย่างเดียว อาจจะถูกต้องตามหลักการร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการเต้นรำที่ขาดจิตวิญญาณ ไร้เสน่ห์ที่ชวนให้หลงใหล

เช่นเดียวกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต้องอาศัยการสานสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ในขณะที่ลูกต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกท้องแม่ ต้องเรียนรู้ที่จะหายใจ กิน และขับถ่ายด้วยตัวเอง แม่ก็ต้องปรับร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงให้ชีวิตน้อยๆ ในอ้อมอกของแม่เติบโตอย่างอบอุ่น และที่สำคัญที่สุด คือ แม่ต้องเรียนรู้ที่จะ “ปรับมุมมอง” แบบ 360 องศา ไม่เพียงเพื่อให้มองเห็นลูกอย่างที่เขาเป็นจริงๆ แต่เพื่อให้มองเห็น “ความเป็นแม่” ในใจของตัวเองด้วย

หนึ่งเดือนผ่านไปแล้ว ความรู้ “มือหนึ่ง” เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของผู้เขียนมีแค่เพียงหางอึ่ง ลูกยังไม่ใช่เด็กสมบูรณ์แบบอย่างในหนังโฆษณา หรือมีพัฒนาการตรงตามคู่มือเลี้ยงลูก และหลายครั้งที่คู่เต้นรำคู่นี้ต้องกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้จังหวะกันใหม่ ท่าเต้นของเราอาจไม่สวยงามนัก และยังมีอีกหลายท่วงทำนองที่เรายังต้องเผชิญ แต่คุณแม่คนนี้กลับมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่ใช่เพราะรู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แต่หากเพราะ มี “ศรัทธา” ในความเป็นแม่ที่อยู่ในใจของตัวเอง

เด็กเลี้ยงง่ายจึงไม่มีขายเหมือนภาพฝันสมบูรณ์แบบในหนังสือหรือโฆษณา แต่สามารถสร้างได้ด้วยใจของพ่อแม่เอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home