โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑

“ขอโทษนะคะ เป็นกระบวนกรมากี่ปีแล้วคะ” เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยให้ช่วงนี้

แรกๆ ดิฉันจะรู้สึกตัวโตขึ้นเล็กน้อย (แม้ว่าตัวจริงจะอวบอ้วนอยู่แล้ว) และมักตอบคำถามด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ ประหนึ่งว่าเป็นคำเยินยอก็ไม่ปาน มาระยะหลังดิฉันกลับรู้สึกขัดเขินมากกับคำถามนี้ และมักจะตอบแบบอ้อมแอ้มว่า “กำลังฝึกอยู่ค่ะ” หลายคนก็ทำหน้างงประมาณว่า “จะเชื่อได้มั้ย” บางคนก็ทำหน้าเหวอกลับไป อาจนึกเสียดายเงินค่าลงทะเบียนหรือเสียดายเวลา “ฉันจะได้อะไรกลับไปหรือเปล่าเนี่ย?” (ฮา)

ต้องขออภัยจริงๆ ค่ะ หากคำตอบของดิฉันกวนใจใครไปบ้าง แต่นั่นมาจากความรู้สึกส่วนลึกในใจ แม้ว่าดิฉันจะทำงานด้านกระบวนการเรียนรู้มานานและฝึกเป็นกระบวนกรมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งก็มีเรื่องให้เรียนรู้ใหม่ได้เสมอ ยิ่งทำมากก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก บางครั้งผู้เข้าร่วมบางท่านก็กลับทำให้รู้สึกว่าเรายังต้องเรียนและต้องฝึกอีกมาก คำว่า “กระบวนกรมือใหม่” หรือ “กระบวนกรน้อย” จึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริงหรือพูดให้ดูต่ำต้อยแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง (transformative learning) ซึ่งคนที่ได้เรียนไม่ได้มีแต่ผู้เข้าร่วมอบรมเท่านั้น ทุกครั้งที่จัดกระบวนการตัวกระบวนกรเองก็ได้เรียนพร้อมกันไปด้วยและอาจเรียนรู้ได้มากกว่าผู้เข้าร่วมเสียอีกในบางคราว

และห้องเรียนที่ได้เรียนรู้มากที่สุดก็คือ กระบวนการที่เรารู้สึกว่าล้มเหลว ยังทำได้ไม่ดีนัก หรือรู้ตัวว่าจัดกระบวนการด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงตลอดเวลา ดังเช่นคราวหนึ่งที่ดิฉันต้องไปจัดอบรมให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จำนวน 24 คน ครึ่งหนึ่งสนใจและตั้งใจที่จะมา อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้อยากมาแต่ถูกส่งตัวให้มา และในจำนวนนั้นมีอยู่ 4-5 คนรู้สึกต่อต้านกับการจัดอบรมที่แปลกออกไปจากสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย ดิฉันรับรู้ได้ถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นแนะนำตัว มีการหยั่งเชิง มีการท้าทาย และสร้างความโกลาหลขึ้นทีละน้อย จนดิฉันต้องใช้พลังอย่างมากในการดูแลกระบวนการให้ดำเนินไปในแต่ละช่วง พลังของกลุ่มค่อนข้างกระจัดกระจายและเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า ยิ่งดิฉันส่งพลังเข้าไปเพื่อควบคุมบังคับเท่าไหร่ พลังต้านก็ส่งกลับมาแรงขึ้นเท่านั้น ในใจรู้สึกปั่นป่วนมาก เพราะไม่รู้จะจัดการกับปฏิกิริยาที่ไม่พอใจเหล่านี้อย่างไร

กระบวนการวันแรกจบลงอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที อดคิดในใจไม่ได้ว่าพรุ่งนี้จะเหลือกี่คน คืนนั้นพวกเราเหล่ากระบวนกรจึงได้มานั่งทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด เราพยายามคิดหาเหตุผลว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงได้รู้สึกเช่นนั้น หรือมีปฏิกิริยาเหล่านั้น ซึ่งมีเหตุผลร้อยแปดที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น การพูดคุยมาสะดุดลงตรงคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดเขาถึงเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เราเพียงต้องการผู้เข้าร่วมที่เชื่อง หัวอ่อน เท่านั้นหรือ? พวกเราพากันเงียบไปครู่ใหญ่ก่อนจะคิดได้ว่า ตัวกระบวนกรเองต่างหากที่กำลังหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มั่นใจว่าจะดูแลกระบวนการอย่างไร และความหวาดกลัวนี้ทำให้เราอยากเข้าไปควบคุมจัดการกับคนตรงหน้า โดยไม่สนใจว่าเขาอยากเรียนรู้หรือไม่และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับกลุ่มหรือเปล่า เราเองต่างหากที่กีดกันเขาเหล่านั้นออกไปจากเส้นทางการเรียนรู้ของกลุ่ม เราเองต่างหากที่ไม่เปิดใจยอมรับเขาเหล่านั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเรา

เวลาที่อยู่ในกระบวนการหรือกำลังจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ เรามักมองไม่เห็นความกลัวของตนหรือเห็นบ้างแต่ไม่ยอมรับ และเพ่งโทษว่าเป็นเพราะผู้เข้าร่วมไม่ตั้งใจ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ กระทั่งมองว่าบางคนชอบมาป่วนเพื่อเรียกร้องความสนใจหรืออวดว่าตนเองรู้มากกว่า บางครั้งถึงกับโยนใส่คนจัดว่าคราวหน้าคนแบบนี้ไม่ต้องชวนมาอบรมนะ เสียเวลาเปล่า จนผู้จัดเองต้องมาขอโทษขอโพยกระบวนกรอยู่บ่อยๆ เพราะรู้สึกผิด การชี้มูลแห่งความผิดพลาดไปที่คนอื่นอาจช่วยให้เราสบายใจขึ้นว่า ฉันไม่ได้ผิดพลาด ฉันไม่ได้ล้มเหลว แล้วก็ทำลืมๆ ไป กระบวนกรที่กักขังตนเองอยู่กับคำอธิบายเหล่านี้ทำให้ขาดพลังแห่งการเรียนรู้ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และไม่สามารถนำพากระบวนการไปได้สู่จุดหมายปลายเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ซึ่งดิฉันเองก็เคยหลงผิดมาแล้วเช่นกัน

แต่ฉับพลันที่กระบวนกรมองเห็น เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจแต่ละคน อนุญาตให้ความกลัวปรากฏขึ้นตรงหน้า และพร้อมที่จะยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อนั้นความหวาดหวั่น ความหนักอึ้งในใจก็มลายไปสิ้น กลายเป็นความโปร่งโล่ง คืนนั้นดิฉันนอนหลับด้วยความเบาสบาย ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น รับรู้ได้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะน้อมรับและเรียนรู้ไปกับมัน ให้พลังกลุ่มขับเคลื่อนไปอย่างเป็นอิสระ แต่อิงอาศัยกันและกันอยู่ในที

พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวเตือนสติว่า คนเรามีความทุกข์จาก 2 สิ่ง คือพลัดพรากสิ่งที่รัก และประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ อย่างแรกนั้นอาจทำใจได้ยากในตอนแรกแต่ก็จะยอมรับได้ในที่สุด อย่างหลังนั้นดูเหมือนง่ายแต่ทำได้ยากกว่าเพราะเรามักคุ้นเคยกับการเอาชนะและคำว่า “ตัวฉัน” ก็สำคัญกว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่ร่ำไป เราจึงอดไม่ได้ที่จะแสดงความรู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่าน หรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่อผู้เข้าร่วมมองไม่เห็นสิ่งที่เราพยายามหยิบยื่นให้

แท้จริงแล้วในการเรียนรู้ไม่มีคำว่าผู้เรียนหรือผู้สอน เพราะเราต่างกำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และไม่มีความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ในสิ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน หากเราเชื่อมั่นศักยภาพในการรับรู้และการเรียนรู้ของมนุษย์ บทเรียนจำนวนมากย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการจะสำเร็จหรือล้มเหลวเราก็ยังได้เรียนอยู่ดี

สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนั้น ก็คือความกลัวและความระแวงสงสัยที่มีต่อผู้เข้าร่วมทำให้การรับรู้ของกระบวนกรหดแคบลงอย่างมาก จนไม่มีพื้นที่สำหรับความรัก ความเมตตาและความจริงใจที่จะมอบให้กับคนอื่นซึ่งอาจมีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างไปจากเรา สายตาเราจึงมืดบอดไปด้วยอคติและความก้าวร้าว กระทั่งมองไม่เห็นและไม่สามารถรับรู้ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เมื่อกระบวนกรผ่อนคลายความคาดหวังและยอมให้มีสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้บ้างโดยไม่รู้สึกผิด ประตูแห่งการเรียนรู้ก็เปิดออก

การอบรมในวันที่ 2 เริ่มต้นอย่างผ่อนคลายมากกว่าเมื่อวาน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้หนีหายไปไหน มีเพียง 2-3 คนที่ติดภารกิจต้องขึ้นเวรในช่วงนั้น นึกดีใจที่พวกเขายอมมาและช่วยให้ดิฉันได้ก้าวข้ามความยึดติดบางอย่าง กิจกรรมดำเนินไปตามลำดับ มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้างเล็กน้อย ดิฉันเปิดใจรับรู้ รับฟัง และสัมผัสความเป็นตัวตนของเขาเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ดิฉันก็น้อมรับโดยไม่แข็งขืน ไม่ผลักไส ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น สายตาของผู้เข้าร่วมเหล่านี้กลับอ่อนโยนลงอย่างมาก เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยความกระตือรือร้นและมีพลังในการเรียนรู้เต็มเปี่ยม สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มได้อย่างน่าอัศจรรย์

การอบรมจบลงอย่างสวยงามในความรู้สึกทั้งของผู้เข้าร่วมและกระบวนกร เราต่างได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าและสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา แม้ไม่ใช่การอบรมที่ดีที่สุดแต่กลับน่าจดจำที่สุด ต้องขอบคุณบทเรียนในครั้งนั้นที่ช่วยเตือนสติให้กระบวนกรน้อยกล้าเปิดใจยอมรับความล้มเหลว และสามารถเชื้อเชิญความกลัวของตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันได้ค้นพบความสุขจากการเป็นกระบวนกรในเวลาต่อมา

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home