โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสใช้เวลาอยู่ในไร่ที่ภูเรือ จ.เลย และใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ความรู้ในระบบโรงเรียนหลายสิบปีให้ไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่สอนหรือบรรยายไม่ได้ด้วยถ้อยคำ แต่ต้องสัมผัสตรงที่ประสาทสัมผัสของตัวเองและหัวใจความรู้สึก เหมือนจะอธิบายให้เข้าใจความหวานน้ำตาลไม่ได้ แต่ต้องลิ้มชิมรสเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงและเข้าใจอย่างแท้จริง

ผู้เขียนพยายามสร้างบ้านดินที่ไร่ หลายครั้งที่ใช้จอบขุดดินลงไปจะเห็นรังเล็กๆ ของปลวกที่กำลังเลี้ยงลูกอ่อน เหมือนเปิดหลังคาบ้านของใครสักคนเข้าไป พอขยับจะขุดที่อื่นบางครั้งก็จะเจอไส้เดือน ตะขาบเล็กๆ หรือแม้แต่แมงป่องเล็กๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจคือ ใครว่าการสร้างบ้านดินไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือรบกวนธรรมชาติ ทุกอณูของดินล้วนแต่เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตที่หลากหลาย เต็มไปด้วยรวงรังบ้านเรือนของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต่างก็หวงแหนบ้านและครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน

หลายครั้งที่ผู้เขียนถอดใจว่าจะสร้างบ้านดินต่อไปดีหรือไม่ เราจะสร้างบ้านของเราโดยทำลายบ้านของคนอื่นจะถูกต้องหรือเปล่า ความรู้สึกขัดแย้งนี้ทำให้เข้าใจบางสิ่งขึ้นมาว่า ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่า ใช้อะไรสร้าง แต่อาจจะอยู่ที่ว่าเราควรจะสร้างอะไรๆ เท่าที่จำเป็น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สร้างให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อรบกวนชีวิตอื่นให้น้อยลง

คงมีเหตุผลบางอย่างที่เราทุกชีวิตมาอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ การเกิดมาเป็นคนเป็นสิ่งที่มีชีวิต แค่เกิดลืมตาขึ้นมาเราก็เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของการพึ่งพิงอาศัยชีวิตอื่นทันที เราจึงเกิดมาพร้อมกับโจทย์ใหญ่เฉพาะหน้าโจทย์หนึ่งคือ เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้พอเหมาะพอดีที่จะรบกวนชีวิตอื่นให้น้อยที่สุด และเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เราเอามาจากชีวิตอื่นๆ

เราอาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตให้ช้าลงอีกสักนิดเพื่อจะได้มีเวลาใคร่ครวญพิจารณาการกระทำของเรา และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ด้วยความตระหนักรู้ มีเวลาที่จะชื่นชมขอบคุณให้แก่ทุกชีวิตที่สูญเสียไปในระหว่างก้าวย่างการเดินทางของเรา

ที่บางคนว่ามากินอาหารมังสวิรัติสิ ไม่บาป ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่จริงๆ แล้ว หากพิจารณาให้ดี พืชก็รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน ประเด็นอยู่ที่ว่ากินทุกสิ่งด้วยความขอบคุณ และไม่กินทิ้งกินขว้าง ไม่เบียดเบียนชีวิตเขามาเปล่าๆ การกินผักเหมือนผักไม่มีชีวิตจิตใจ ก็เป็นการเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง

มีสาเหตุที่ชีวิตหนึ่งจะเกิดมาบนโลก ทุกชีวิตมีคุณค่า เราปฏิเสธความหลากหลายอันนั้นไม่ได้ เมื่อเราขุดดินเพื่อจะปลูกต้นไม้สักต้น เราสัมผัสได้ถึงความเกื้อกูลของสัตว์และพืชรอบข้าง ในผืนดินที่เราวางต้นไม้นั้นลงไป ความงดงามจึงไม่ได้อยู่ที่ชีวิตใดชีวิตหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ตัวเอกของเรื่องตัวไหน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ผัก ปลวก ไส้เดือน แมงป่อง หรือแมงกะพรุน แต่อยู่ที่หลากหลายชีวิต ร้อยเรียงสายใยเข้าด้วยกันเป็นเรื่องราว อยู่ที่เรื่องเล่าเบื้องหลังการดำรงอยู่ของชีวิตหรือสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วย “ชีวิต” มากมายอย่างแท้จริง

วิถีชีวิตของเราที่อยู่ในเมืองทุกวันนี้ เราถูกตัดขาดจากเรื่องราวเหล่านี้ ในหิน ดิน ทราย ที่เราเอามาสร้างบ้าน เราไม่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในนั้น ในพืชผักในซุปเปอร์มาร์เก็ต เราไม่ได้เห็นหลายชีวิตที่หล่อเลี้ยงต้นพืชผักเหล่านั้น

หากเราได้สร้างบ้านดินจากดินที่ขุดขึ้นจากพื้น เรื่องราวในดินที่เรานำมาปั้นประกอบด้วยหลากหลายชีวิตที่ทำให้เราไม่อาจคิดว่าบ้านหลังนั้นเป็นเพียง “บ้าน” ที่อยู่อาศัยของเรา แล้วก็จบแค่นั้น แต่เราจะรู้สึกสำนึกเข้าไปอย่างลึกซึ้งทีเดียวว่า มีเรื่องราวมากมายในก้อนดินแต่ละก้อน และบ้านก็ไม่ได้เป็นแค่บ้านของเรา ที่เราได้มาง่ายๆ ด้วยเงินของเรา แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราต้องแลกกับหลายชีวิตที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น

วิถีชีวิตในเมืองที่เราบริโภควัสดุสำเร็จรูป แพ็คใส่หีบห่อ แยกประเภทจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นแค่วัตถุไร้รากเหง้าที่มาของชีวิต ทำให้แรงสะเทือนใจและโอกาสที่เราจะได้มีสำนึกที่ในการบริโภคหายไป เมื่อเราไม่เห็นเรื่องราว ไม่เห็นข่ายใยของชีวิตหลากหลายที่สัมพันธ์กันจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เราก็สูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกเปราะบางของการเลือกระหว่างชีวิตอื่นกับชีวิตเรา เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวด แต่ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยความงามของการตระหนักระลึกรู้และสำนึกในความเกื้อกูล เป็นความเข้าใจในความรัก ในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนในเมืองอาจจะคิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง หรือยากที่จะพบเจอ คือ ความรักความสัมพันธ์ที่ “ชีวิตหนึ่งแลกกับอีกชีวิตหนึ่ง”

ชีวิตที่สำเร็จรูปในเมืองทำให้คิดว่าเราตัดขาดจากห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ชีวิตหนึ่งดำรงอยู่ได้เพราะชีวิตอื่น เราคิดว่าเราสูงส่งและตัดขาดจากห่วงโซ่ของบาป เราทนดูรายการที่สิงโตล่ากวางในทุ่งหญ้าที่แอฟริกาไม่ได้ โดยหารู้ไม่ว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในทุกสิ่งที่เราบริโภค แม้แต่ในบ้านช่องที่เราอยู่ หรือเสื้อผ้าข้าวของที่เราใช้

สิ่งที่เราเห็นในสังคมเมืองจึงเป็นสินค้าข้าวของให้บริโภคมากมายหลายรูปแบบ หลายสิ่งหลายอย่างเกินความจำเป็น บางอย่างผลิตแล้วไม่มีคนซื้อ ก็ต้องเอามาเลหลังขายถูกๆ หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ถูกบริโภคอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

และเรื่องราวเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังสินค้าข้าวของมากมายก่ายกองเหล่านั้น คือความเจ็บปวดของหลากหลายชีวิตจำนวนมากมายมหาศาลด้วยเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน

เมื่อเราไม่เห็นชีวิตอื่นเบื้องหลังสิ่งที่เราบริโภค เราก็เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่รอดแต่ละวันของเราน้อยลงไปด้วย เมื่อเราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตให้คุ้มกับชีวิตอื่นที่เสียไปเพื่อเรา เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งที่ดี ผู้คนในเมืองจึงเปราะบางต่อการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง การฆ่าตัวตาย การใช้เวลาไปกับสิ่งเสพติดหรือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เมื่อเราไม่ได้สัมผัส ไม่ได้เห็นชีวิตอื่นที่สูญเสียลงต่อหน้าเพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิตเรา เมื่อนั้นเราก็สูญเสียความเข้าใจในคุณค่าความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิตตัวเองไป

สิ่งที่เราสูญเสียจากการห่างเหินตัดขาดจากเรื่องราวความหลากหลายของชีวิตที่ประสานถักทอหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกันคือโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความงามของการมีชีวิตอยู่ของเราบนโลกใบนี้ร่วมกับชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย เราจึงรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว.. ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วชีวิตเราไม่อาจอยู่เพียงลำพังได้เลย เราไม่เคยเป็นปัจเจกบุคคล แต่เราคือเรื่องราวมากหลายที่ร้อยเรียงขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เรา” นี้

1 Comment:

  1. Noock said...
    อ่านบทความนี้แล้วก็นึกถึง hi5.com
    จริงๆ WEB พวกนี้ทำให้เราเห็นถึงความหลากหลายมากทีเดียว แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่วัยรุ่นยุคนี้น่าจะได้เห็น

    ก็อยากเชิญชวนคนที่เล่น hi5 ลอง invite friend ที่ไม่ใช่คนมาเป็นเพื่อนเราบ้าง

    ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตอื่นๆ

    แล้วโลก(ของคุณและของทุกคน)จะงามขึ้นอีกเยอะมากๆ

    จริงๆนะ :-)

Post a Comment



Newer Post Older Post Home