โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑

มนุษย์มีเครื่องมือวิจัยจิตใจตนเองอยู่ภายในตัวแล้ว แต่มนุษย์ไม่ค่อยรู้จักและใช้กันสักเท่าไร เครื่องมือนั้นคือ สติ หรือ การระลึกได้ว่ากายนี้ใจนี้กำลังเป็นไปอย่างไรในปัจจุบันขณะ การมีสตินั้นเป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมเพียงพอ คล้ายกับเมล็ดพืชที่จะแตกหน่อเป็นต้นกล้าเมื่อดินน้ำและแร่ธาตุพร้อมเพียงพอ

เราเพียงเตรียมน้ำเตรียมดินให้พอดี นั่นก็คือ การหมั่นฝึกฝนจดจำสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกายภายในใจของเราอยู่เนืองๆ เมื่อฝึกฝนจนจิตจดจำสภาวะต่างๆ ได้แม่นยำ สติก็จะเกิดขึ้นเอง ระลึกรู้สภาวะธรรมล้วนๆ ของจิตใจ เมื่อนั้นไร้คำพูด ไร้บัญญัติ สักแต่ว่าเป็นสภาวะหนึ่งๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าจิตจดจำได้ว่า สภาวะผ่อนคลายเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะผ่อนคลายเกิดขึ้น สติก็จะระลึกได้ทันทีว่า สภาวะผ่อนคลายเกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกัน ถ้าจิตจดจำได้ว่า สภาวะตึงเครียดเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะตึงเครียดเกิดขึ้น สติก็จะระลึกได้ว่า สภาวะตึงเครียดเกิดขึ้นแล้ว

จิตใจมนุษย์มีเปลี่ยนแปลงเป็นปกติธรรมดา เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีกิเลสเดี๋ยวไม่มีกิเลส เดี๋ยวดูอยู่ทางตา เดี๋ยวก็ไปฟังทางหู เดี๋ยวก็มาคิดทางใจ สติที่รู้ลงที่กายที่ใจอันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์นี้เอง คือเครื่องมือเก็บข้อมูลของจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสนามจิตใจมนุษย์

เมื่อมนุษย์ในฐานะนักวิจัยรู้จักและใช้สติเป็นเครื่องมือวิจัยจิตใจตนแล้ว ก็หมั่นเก็บข้อมูลภายในจิตใจอยู่เนืองๆ ในสนามชีวิตจริงที่กระทบโลกกระทบผู้คนในความสัมพันธ์ รับผิดชอบภาระหน้าที่การงาน และดำเนินกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน กิน อาบน้ำ นอน ดูแลช่วยเหลือคนที่รัก พูดคุย ประชุมงาน หรือการกระทำอะไรก็ตาม

หากนักวิจัยผู้นั้นตามรู้ตามดูกายและใจไปอย่างที่มันเป็น โดยไม่หวังผลว่าเมื่อไหร่จะหยุดเก็บ ไม่หวังผลว่าเมื่อไรผลอันเลิศจะปรากฏ เก็บข้อมูลอย่างที่มันเป็นเช่นนี้เนืองๆ ไม่วันใดวันหนึ่ง จิตที่มีข้อมูลมากเพียงพอ ก็จะประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าเป็น “ปัญญา” บ้างว่าเป็น “ญาณทัศนะ” และอีกหลายท่านว่าเป็น “ปิ๊งแว้บ” สุดแท้แต่จะเรียก อาจรวมความได้ว่าเป็นการรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ จนกระทั่งสามารถไปพ้นจากตนเองได้

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าผลเลิศประการใดจะเกิดขึ้นภายในกายภายในใจ นักวิจัยก็ยังคงใช้สติเป็นเครื่องมือวิจัยที่คอยตามรู้ตามดู ตามเก็บข้อมูลจริงของกายของใจนี้เรื่อยไป จนกลายเป็นความคุ้นชิน จนกลายเป็น “จิตวิจัย”

ด้วยเหตุที่จิตใจมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง การกระทบจากโลกรอบตัวและผู้คนรอบข้างก็ไม่เคยหยุดนิ่ง การมีจิตวิจัยจึงช่วยรองรับการใช้ชีวิตในโลกนี้ได้อย่างสมดุลและอ่อนน้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะมีจิตวิจัย จึงรู้จักตนเอง เพราะรู้จักตนเอง จึงอ่อนน้อม เพราะอ่อนน้อม จึงสมดุลกับสรรพสิ่งในจักรวาล เพราะสมดุล มนุษย์จึงเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล

มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า ความมหัศจรรย์ของจักรวาลที่อาศัยเราอยู่นี้ คือการมีความสามารถที่จะตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง และคุณภาพเช่นเดียวกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในตัวมนุษย์ด้วยเช่นกัน มนุษย์ที่ตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง คือมนุษย์ผู้มีจิตวิจัย คือมนุษย์ที่เชื่อมโยงตนเองเข้ากับความมหัศจรรย์ของจักรวาล เป็นมนุษย์เต็มมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ใจใหญ่ ใจกว้างดุจดั่งจักรวาล

ความมหัศจรรย์ในการตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง ก็ไม่ใช่ย้อนดูสิ่งพิเศษอะไร นอกเหนือไปจากความปกติธรรมดาของจิตใจมนุษย์ ที่มีปกติมีสุขมีทุกข์ มีโลภ มีโกรธ มีหลง มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ด้วยเหตุนี้การหมั่นสร้างเหตุ คือการจดจำสภาวะร่างกายและจิตใจต่างๆ ภายในตัวเราได้ สติที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อสติที่แท้เกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องกันไปจนกลายเป็นกระแสแห่งจิตวิจัย

ปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมอยู่ในทีมวิจัยจิตปัญญาศึกษา เราได้ต่างร่วมดำเนินการวิจัยสำรวจพรมแดนองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนพบแก่นของการปฏิบัติด้านจิตตปัญญาศึกษาที่สอดคล้องพ้องต้องกันที่เรียกว่า “MINDS” อันประกอบไปด้วยสติ (Mindfulness) ธรรมวิจยะ (Investigation) วิริยะ (Natural Effort) ปีติปัสสัทธิ (Delightful Relaxation) และสมาธิอุเบกขา (Sustained Equanimity)

“MINDS” คือแก่นการปฏิบัติที่ถอดมาจากหลักโพชฌงค์ ๗ ซึ่งมีความสอดคล้องต้องกันกับหลักการปฏิบัติจิตของศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย สำหรับทัศนะของผมแล้ว “MINDS” นี้คือ “จิตวิจัย” ที่เริ่มต้นจากการมีสติ รู้จักสืบค้นธรรมะที่เหมาะแก่ตน (ธรรมวิจยะ) แล้วลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ (วิริยะ) จนพบกับความสุขและผ่อนคลาย (ปีติและปัสสัทธิ) ปรากฏความตั้งมั่นและเป็นกลางแห่งจิต (สมาธิและอุเบกขา) จิตวิจัยแท้จริงเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวโดยการถึงพร้อมของทุกองค์ แต่ก็พอที่จะนำมาอนุโลมให้เป็น “หลักการ” หรือเป็น “ระบบปฏิบัติการ” (Operating System) ที่รองรับการทำงานของโปรแกรมต่างๆในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การบริหารจัดการ การเงิน การวิจัย การประเมิน การเรียนรู้ หรือการเล่นก็ตาม ให้ทำงานไปอย่างมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพ

จิตวิจัยจึงไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าใจจิตใจตนเองเท่านั้น แต่ยังสามารถกลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับการทำงานด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การทำงานเพื่อบริหารจัดการองค์กร การทำงานอย่างสมดุลเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเล่นอย่างสนุกสนาน อันเป็นการยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน ทั้งข้ามพ้นและเข้าใจตนเอง อ่อนน้อมกับผู้อื่น และสมดุลเชื่อมโยงกับโลก

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home