โดย สาทร สมพงษ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๑

๒-๓ วันที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมการประชุมกับเพื่อนครูโรงเรียนเอกชน ๕ แห่งในจังหวัดสงขลา นับได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่โรงเรียนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับทุกข์สุขของครู เด็ก และผู้ปกครอง อย่างจริงจังขึ้น โดยร่วมกันทำโครงการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายในชุมชนของโรงเรียน สุขภาวะในที่นี้หมายรวมเอาทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน วิถีแห่งการคิด การมองปัญหา การดำรงตน การทำงาน จนถึงการสร้างสรรค์ชุมชนร่วมกัน

เพราะนับตั้งแต่พวกเราเริ่มเข้าโรงเรียนกระทั่งถึงวันนี้ บ้านกับโรงเรียนแทบไม่ได้สัมพันธ์อะไรกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ถือว่าเมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องจัดการศึกษาให้เด็กไป ส่วนตนก็จะทำหน้าที่หาเงินมาส่งเสียให้ลูกเรียนกระทั่งจบการศึกษา นั่นถือว่าเป็นทัศนคติที่เก่าไปแล้วสำหรับโรงเรียนกลุ่มนี้ การเรียนรู้จะไม่ถูกทำให้เราเห็นเป็นแค่การเรียนหนังสือโดดๆ ที่ตัดขาดออกจากชีวิตจริง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำร่วมกัน ทั้ง ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกคนจะต้องเรียนรู้ มิได้เป็นเพียงเรื่องของเด็กอีกต่อไป ทุกคนต่างเปิดใจรับรู้ปัญหาของกันและกัน เลิกโทษกัน ปัญหาของครูก็คือปัญหาของพ่อแม่ ปัญหาของพ่อแม่ก็คือปัญหาของครูเช่นกัน นั่นคือชะตากรรมร่วม หรือสภาวะของจิตร่วมระหว่างครูและพ่อแม่

บางทีเป้าหมายที่เราวางไว้ก็เป็นเสมือนความใฝ่ฝันหรืออุดมคติให้มุ่งจะก้าวไป และเรามักจะทำไปได้ถึงระดับหนึ่ง อาจจะเป็นการเห็นในมิติของความคิด คือคิดได้ พูดได้ แต่ก็ยังเป็นไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ หรืออีกนัยยะ กิจกรรมต่างๆ ที่เราจัดกันอยู่อาจจะสามารถสร้างจิตสำนึกแก่ผู้เข้าร่วมต่อการร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระดับของจิตไร้สำนึกนั้นยังไม่สามารถเข้าไปสัมผัสได้ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนของมนุษย์นั้น จะเป็นการเปลี่ยนจากภายใน และลงลึกไปเข้าไปเคลื่อนขยับในระดับของจิตไร้สำนึก ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้าไปสู่สมุหปัญญาที่เป็นปัญญาร่วมของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

เวทีประชุมของกลุ่มนี้ก็เป็นรูปธรรมหนึ่งของหลายๆ องค์กรที่มีสภาวะไม่ต่างกัน บรรยากาศของการประชุมโดยทั่วไปจะมีการเคลื่อนตัวของความคิดที่รวดเร็วมาก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มักจดจ่ออยู่กับความคิดของตัวเองที่จะนำเสนอ และพร้อมที่จะตอบโต้กับความคิดเห็นที่ขัดแย้ง หรือมีความแตกต่างจากความคิดของตน น้อยครั้งที่เราจะเห็นถึงตัวตนที่วูบไหวไปกับการพยายามพิทักษ์ปกป้องความคิดของตัวเอง

เป้าหมายของการประชุมมักให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งข้อสรุปในรูปของข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ มากกว่าการได้เห็น การเท่าทันกับตัวตน หรือการเฝ้าดูอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของเรา การประชุมจึงมีศักยภาพที่เป็นได้แค่เวทีของการแลกกันทางความคิดถ้อยคำ ผู้เข้าร่วมมักจะมุ่งไปที่การพูดเพื่อให้คนอื่นๆ ยอมรับและเห็นด้วยกับความคิดของตน มากกว่าการแสวงหา ค้นพบ หรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาจากวงประชุม

การชะลอให้กระแสความคิดของแต่ละคนช้าลง การพูดให้ช้าลง ไม่แย่งกันพูด กระจายให้ผู้เข้าร่วมได้พูดให้ทั่วถึง มิใช่ผูกขาดการพูดอยู่ไม่กี่คน บางครั้งก็ให้ความเงียบได้เข้ามาทักทายบ้าง ฟังกันให้มากขึ้น ฟังทั้งเสียงจากภายนอก และภายในตัวเอง หากใจเราเงียบพอเราก็อาจจะได้ยินแม้เสียงที่เข้ามากระซิบเพียงเบาๆ

แม้เราจะตระหนักกันว่าเป้าหมายที่สำคัญของการศึกษานั้นคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติเรากลับไปเน้นหรือวางน้ำหนักอยู่ที่การพัฒนาตัวความคิดเป็นหลัก เพราะมองว่ามนุษย์นั้นใช้ความคิดเป็นกลไก หรือเครื่องมือที่สำคัญในการเข้าไปแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในชีวิต มนุษย์จึงพัฒนาความสามารถในการคิด การคำนวณ การใช้เหตุใช้ผล เพื่อวิเคราะห์โลก สังคม และเรื่องราวต่างๆ ความคิดของคนเราจึงซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ในภาวะที่คนอยู่กับความคิดตลอดเวลานั้น สมองจะทำงานอยู่ในสภาพที่จำกัดมากๆ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของสมองเพียง ๒-๓ ส่วนเท่านั้น คือสมองชั้นต้นจะถูกผลักดันอยู่ด้วยความกลัวอะไรบางอย่างในชีวิต เช่นกลัวว่าชีวิตจะไม่ได้รับผลสำเร็จ ฯ สมองชั้นกลางก็ตกอยู่ในร่องของอารมณ์บางอย่างอยู่บ่อยครั้ง และมักจะเป็นร่องรางเก่าๆ เช่นความวิตกกังวล ความโกรธ ความเกลียดชัง ฯ และในส่วนของสมองชั้นนอกซึ่งเป็นมีวิวัฒนาการสูงสุดนั้น ก็อาจจะติดอยู่กับประสบการณ์ ทฤษฎี ความเชื่อที่เคยมีมาเดิมๆ สมองทั้งสามส่วนเมื่อทำงานไปด้วยกันก็จะนำไปสู่ภาวะที่ถดถอย ชีวิตจะไม่มีการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากการเกาะติดอยู่กับความมั่นคง ปลอดภัย และความเคยชินเดิมๆ ที่แทบจะไม่เหลืออะไรให้ท้าทายในชีวิต

ดังนั้นใจที่รกไปด้วยความคิดสารพัน มีพื้นใจอยู่ในความกลัว และอยู่ในร่องของอารมณ์อะไรบางอย่าง จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อตัวของชีวิตที่มีเพียงความเป็นธรรมดาสามัญ หรือความเรียบง่ายตรงไปตรงมา เป็นสารัตถะที่สำคัญได้ ในขณะที่สัจจะความจริงนั้นสามารถมองเห็น และเข้าใจได้จากใจที่ใสซื่อ ผ่อนคลาย รู้จักที่จะรัก ใจที่เปิดกว้าง กล้าเผชิญ มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามขึ้นมาในสังคม ตลอดจนการมีความคิดที่ยืดหยุ่น มองอะไรอย่างเชื่อมโยง มีจินตนาการ และมีญาณทัศนะในการดำเนินชีวิต ความจริงแล้วใจเช่นนี้ก็คือใจของเด็กๆ เป็นใจที่มีความเยาว์วัยในชีวิตซึ่งมีพื้นที่ว่างในใจเพื่อศักยภาพในการมองเห็นโลกที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

คุณภาพของใจที่ว่างๆ มีอิสระและว่องไว พร้อมที่จะเรียนรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร วิถีของการดำเนินชีวิตที่มีความสมดุลของปัญญาทั้งสาม คือทั้งปัญญากาย ปัญญาใจ และปัญญาหัว (สมอง) คือปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดสภาวะหรือคุณภาพของใจดังกล่าว เราอาจจะยังพบได้ในวิถีของคนรุ่นก่อน หรืออาจจะยังมีอยู่ในบางชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนเกษตรที่มีการลงเรี่ยวออกแรงกายในชีวิตประจำวันบ้าง การใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดอยู่กับธรรมชาติ มีโอกาสได้ชื่นชมความงาม (จากชีวิต ธรรมชาติ หรืองานศิลปะ) และการได้มีเวลาในการใคร่ครวญปัญหา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ในวิถีของชีวิตสมัยใหม่ที่มีสัดส่วนของการใช้ความคิดค่อนข้างมากก็ต้องหาทางจัดปรับให้ชีวิตเกิดความสมดุลดังกล่าวให้มากขึ้น

ในแต่ละปีสังคมของเราใช้งบประมาณและทรัพยากรไปมากมายสำหรับการจัดประชุมสัมมนาขณะที่การพบปะหรือการประชุมในแต่ละครั้งกลายเป็นเพียงจารีตที่อาจจะเป็นเพียงเวทีของการพร่ำบ่น การเสริมอัตตาตัวตน คนส่วนใหญ่จึงมักจะเข้าร่วมการประชุมแบบเสียไม่ได้ หรือเหนื่อยหน่ายเต็มที ในทางกลับกันหากเราสามารถทำให้การประชุมในแต่ละครั้งคือการมาพบกันของกัลยาณมิตรหรือสังฆะ นัยยะหรือความหมายย่อมแปรเปลี่ยนไป มันจะมิใช่สนามของการขับเคี่ยว แข่งขัน การอวดภูมิรู้กันอีกต่อไป หากจะเป็นการเดินทาง สู่การเติบโต และงอกงามทางจิตวิญญาณของชีวิตร่วมกันของทุกๆ คน

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home