โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑

เมื่อวานผู้เขียนได้ไปร่วมงานเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ “ไทย ... ภายหลังเศรษฐกิจบริโภคนิยม (Post Consumerism)” โดย ดร.ไสว บุญมา อดีตเศรษฐกรประจำธนาคารโลก ท่านกล่าวว่าบ่อยครั้งที่คนมักกล่าวโทษแนวคิดทุนนิยม บริโภคนิยม ตลาดเสรีว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้สังคมเรามีปัญหามากมายในทุกวันนี้ อ.ไสวชวนเดินย้อนกลับไปมองการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของโลกเราว่า ตั้งแต่คนเริ่มอยู่กันเป็นชุมชนเมื่อกว่าหมื่นปีมาแล้ว ระบบเศรษฐกิจแรกที่เราใช้กันก็คือระบบตลาดเสรี ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเป็นของบุคคล และบุคคลก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันตามความพอใจ และน่าแปลกใจว่าประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้ล่มสลายหรือย้ายไปต่อปลายแถวของการพัฒนาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรมายา โรมัน อียิปต์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือประเทศเพื่อนบ้านเรา กัมพูชา

เพราะอะไรประเทศเหล่านี้ที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนจึงถดถอยไป อ.ไสวมีคำตอบสามข้อคือ 1) ความเจริญดึงดูดให้ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น ประชากรมากขึ้นตามมาด้วยความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากขึ้นเพื่อการบริโภค 2) ความเจริญทางศิลปะวิทยาการก็นำมาซึ่งการสร้างสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ ทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปิรามิด ปราสาท วัด โบสถ์ หลายที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นมรดกโลก สิ่งเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงทรัพยากรบุคคลไปอย่างมหาศาล จนถึงขั้นที่ธรรมชาติเสียสมดุล 3) สุดท้ายเมื่อเกิดการแสดงแสนยานุภาพ ก็ตามมาด้วยสงคราม ทั้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและแย่งชิงความเชื่อ

เราแย่งชิงทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งธรรมชาติให้เราไม่ไหวอีกต่อไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตแตกต่างจากเหตุการณ์ในทุกวันนี้หรือไม่? วันนี้หลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี หรือแม้แต่กล่าวโทษ อดัม สมิธ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งตลาดเสรีว่าเป็นตัวการทำร้ายสังคม

ปัญหาอยู่ที่ระบบจริงหรือ? ในอดีตเคยมีคนตั้งคำถามนี้ จนก่อเกิดเป็นระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ตัดสินใจการใช้ทรัพยากร ซึ่งระบบนั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้ว

แท้จริงแล้วระบบตลาดเสรีคือธรรมชาติของมนุษย์ คนเราต้องการเสรีภาพที่จะเป็นเจ้าของทรัพยากร และตัดสินใจได้เองว่าจะทำอะไรกับมัน และเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่รู้จักการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาแต่โบราณกาล อดัม สมิธไม่ได้เป็นผู้ค้นพบตลาดเสรี แต่เป็นคนนำเอาธรรมชาติของคนมาอธิบายและเสนอว่าควรทำอย่างไรให้สังคมอยู่ได้อย่างได้ประโยชน์สูงสุด และจุดสำคัญที่เขาบอกไว้แต่คนรุ่นหลังไม่ค่อยได้พูดถึงก็คือ ตลาดเสรีจะเป็นไปได้ด้วยดีต่อเมื่อคนมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ทำตามกฎเกณฑ์ และรู้จักพอ

เมื่อโลกพัฒนามากขึ้น ระบบสาธารณสุขดีขึ้น จำนวนประชากรก็มากขึ้น บวกกับความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้เราแต่ละคนมีศักยภาพในการผลิตและบริโภคมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีคนบนโลก 6.7 พันล้านคน ในขณะที่โลกเรามีศักยภาพที่จะรองรับการดำรงอยู่ของคนด้วยการบริโภคที่พอประมาณเพียง 4 พันล้านคน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อพวกเราที่ล้นโลกกันอยู่แล้วให้คุณค่า วางเป้าหมายชีวิตไว้กับการเติบโต ความสำเร็จของบุคคลหมายถึงหน้าที่การงานที่เจริญก้าวหน้า เงินเดือนสูงขึ้น มีบ้าน มีรถที่ใหญ่ขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจคือกำไรมากขึ้น ซึ่งมักจะมาจากความสามารถในการกระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น และบางที่ต้องมากขึ้นในอัตราที่มากขึ้นด้วย แม้แต่ความสำเร็จของประเทศก็ยังวัดกันด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ

ถ้าคนเราจำนวนมากขึ้น แต่ละคนต้องใช้มากขึ้นๆๆๆ การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัด จากประสบการณ์ในอดีต สิ่งเดียวที่หยุดเราได้ก็คือเมื่อธรรมชาติทนไม่ไหวและหยุดเราเอง แล้วเรายังจะเดินตามกันไปบนทางสายนี้กันอยู่อีกหรือ?

ในวงพูดคุยมีการแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและทัศนคติของคน จะมีวิธีอะไรที่จะทำให้คนบริโภคอย่างพอเพียง ให้คนมีจริยธรรมทำตามกฎเกณฑ์ ผู้คนหันไปถามท่านผู้อาวุโสบนเวทีว่าคำตอบคืออะไร ท่านตอบได้น่าชื่นชมสำหรับผู้เขียน แต่อาจจะน่าผิดหวังสำหรับบางท่าน ซึ่งก็คือ “ผมเดินทางมาเยอะในการค้นหา และผมก็ได้พบคำตอบของผมแล้ว และพวกคุณก็ต้องหาคำตอบให้ตัวเอง”

เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วคำตอบของเราล่ะคืออะไร ถ้าเทียบการเดินทางจากอายุซึ่งอาจจะยังไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองได้ทดลองมาพอควรและค้นพบคำตอบกับตัวเองในวันนี้ สังคมเราสืบสาวหาสาเหตุของปัญหากันมาเยอะ และมาจบอยู่ที่การบริโภคอย่างมากเกินควร แต่เราไม่ค่อยได้สืบไปต่อว่าทำไมเราถึงต้องบริโภคกันมากมายขนาดนั้น?

น่าจะเป็นเพราะเราต้องการอะไรซักอย่างจากนอกตัวเพื่อมาเติมเต็ม มาเทียบวัดคุณค่าของตัวเอง รสนิยมบางทีไปถึงชนชั้นของเราบอกได้จากยี่ห้อเครื่องแต่งกาย ความสำเร็จบอกได้จากเงินเดือน บ้าน รถ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเรารู้สึกไม่เต็มด้วยตัวเอง ไม่มีคุณค่า ไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าจะมีสิ่งเหล่านั้น มองย้อนกลับไปก็เห็นว่าผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อต้องไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่คุ้นเคยก็ยิ่งพยายามแต่งตัวให้ดูดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง หรือจะอยากทานของหวานหรือซื้อของใหม่ๆ เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเบื่อหน่าย

คำตอบสำหรับผู้เขียนจึงคือ การรู้จักตัวเอง เข้าถึงคุณค่าและความดีงามพื้นฐานของตัวเอง เมื่อเรามีความมั่นคงภายใน เราจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของนอกตัวมายืนยัน เมื่อนั้นเราถึงจะรู้จักความพอเพียงได้ การมีมากเกินไปบางครั้งอาจจะเป็นภาระที่ทำให้เกิดความยึดติดมากขึ้นและละวางได้ยากขึ้นด้วยซ้ำ การเดินทางนี้เป็นการเดินทางที่แต่ละคนต้องออกเดินด้วยตัวเอง และจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่เข้าใจ

การเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องเริ่มจากคนแต่ละคนหาคำตอบให้กับตัวเอง ถึงจะยังทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วจึงไปชักชวนคนอื่นไปด้วยได้ ไม่สามารถเกิดได้ด้วยการวางระบบที่บังคับ ชักชวน หรือแม้แต่การสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนแปลง เพราะโดยธรรมชาติคนเราต้องการเสรีภาพ

การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนแต่ละคนเลือกที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจตัวเอง ด้วยตัวเอง
สิ่งที่เราช่วยได้จึงน่าจะเป็นการทำงานกับตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมทาง เปิดความเป็นไปได้ให้คนได้เห็น และสร้างกระบวนการที่ช่วยให้คนได้เลือกที่จะทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง

สิ่งนี้อาจจะยากและช้ามาก แต่ก็เป็นแนวทางเดียวที่มั่นคงและยั่งยืน การแก้ปัญหาไม่สามารถใช้แนวคิดเดิมกับที่ทำให้เกิดปัญหานั้นได้

สุดท้าย ในวันเดียวกันผู้เขียนได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนตัวเองเข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานในแนวคิดนี้ พี่ๆ ในองค์กรก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงค่าตอบแทนที่ไม่ได้มากเท่าที่อื่นๆ หลังจากได้ฟังอาจารย์ไสวยิ่งมั่นใจว่าถ้าจะทำงานตามแนวคิดนี้ก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้

ถ้าเราเลือกการเดินทางเพื่อการละวาง เราจะมีเยอะไปทำไม

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home