โดย ศุภชัย พงศ์ภคเธียร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒


ณ โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งห่างไกลจากตัวจังหวัดประมาณแปดสิบกิโลเมตร ครูใหญ่กำลังพายเรือสำรวจสภาพโรงเรียนที่ตนเองดูแล พร้อมกับลูกศิษย์ชั้นประถมหกอีกสามคนที่ขอติดตามมาด้วย ขณะนี้โรงเรียนถูกน้ำท่วมจากพายุหลงฤดูเมื่อสามวันก่อน บรรยากาศเศร้าและหดหู่ เพราะไม่รู้ว่าจะเปิดโรงเรียนได้อีกเมื่อไร ภาพที่เห็นอยู่คือโรงเรียนของพวกตน ที่เคยใช้เป็นที่วิ่งเล่น ที่รับประทานอาหาร เคยมีเสียงจ้อกแจ้กของเด็กนักเรียนช่วงพักเที่ยง ขณะนี้ท่วมท้นไปด้วยน้ำรอบอาคารเรียน เห็นแต่เพียงหลังคาและขอบหน้าต่างประตูที่โผล่พ้นน้ำประมาณฝ่ามือหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ครูใหญ่ค่อยๆ พายเรือวนไปรอบอาคารเรียน กฤษณ์ถามครูด้วยความสงสัยใคร่รู้ “ครูครับ ทำไมฝนถึงได้ตกมากอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ไม่ใช่หน้าฝนซะหน่อย”

แบงค์พูดแทรก “นั่นน่ะซี ยายปุกแถวบ้านเรา แกจมน้ำหายไปยังไม่มีใครเจอเลย”

เก่งถามต่อบ้าง “ครูครับๆ ผมเห็นข่าวในทีวี เขาว่าเกิดภาวะโลกร้อนขึ้นในหลายประเทศ ในอเมริกาเหนือเกิดหิมะตกจนเครื่องบินขึ้นลงไม่ได้ บางเมืองไฟดับหมดไม่มีไฟฟ้าใช้ บางประเทศก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ โคลนถล่ม คนตายมากมาย บางที่ในยุโรปก็เกิดอากาศร้อนมากจนมีคนตายหลายหมื่นคน มีภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายที่ในหลายประเทศทั่วโลก แล้วที่ฝนตกน้ำท่วมโรงเรียนของเรานี่มันใช่เป็นเพราะโลกร้อนด้วยหรือเปล่าครับ”

ครูใหญ่ยังคงนิ่งเงียบ พยายามตั้งสติจากความหดหู่กับสภาพที่เผชิญอยู่ โดยไม่รู้ว่าชะตากรรมของเด็ก ชาวบ้านและตนเอง จะเป็นอย่างไรต่อไป “เก่ง ... ภาวะโลกร้อน มันเกิดขึ้นทั่วโลก และบ้านเรา โรงเรียนเราก็อยู่บนโลกนี้เหมือนกัน ไม่มีใครที่เกิดและอาศัยบนโลกนี้จะไม่เกี่ยวข้องหรอก”

เก่งถามต่อ “แล้วโลกร้อนมันเกิดได้อย่างไรละครับครู”

ครูใหญ่พยายามนึกทบทวนหาวิธีที่จะอธิบายให้ลูกศิษย์ตัวน้อยของตนเข้าใจง่ายขึ้น “ลองนึกดูนะ ถ้าสมมติว่าเราอยู่ในบ้านแล้วปิดประตูหน้าต่าง หาอะไรมาอุดตามช่องลมทุกช่องที่มีอยู่ ถ้าช่องไหนใหญ่ก็ใช้ผ้าห่มมาขึงกั้นลมไม่ให้เข้าออกได้ แล้วพวกเราที่อยู่ในบ้านก็เปิดทีวี เปิดพัดลมไฟฟ้า หุงข้าว ต้มน้ำทำกับข้าว บางคนก็สตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์ในบ้านด้วย พวกเราคิดว่าคนที่อยู่ในบ้านทั้งหมดจะเป็นอย่างไร”

แบงค์รีบแย่งตอบ ขณะที่ทุกคนก็ตอบไล่เลี่ยกัน “ก็ร้อนตายซีครับครู”

บางคนก็พูดว่า “แต่เราก็มีพัดลมนี่ครับ”

เสียงในหมู่เด็กก็ตอบกันเอง “ใช่ แต่พัดลมก็จะพัดแต่ลมที่เหม็นและร้อนขึ้นเรื่อยๆ น่ะสิ”

เก่งถามครูใหญ่ต่อ “ครูครับ แต่โลกเราใหญ่โตมโหฬาร ใครจะเอาอะไรไปห่อโลกไว้ได้ล่ะครับ”

ครูใหญ่ตอบศิษย์ตัวน้อยว่า “ได้สิ ก็พวกเรา มนุษย์เราที่อาศัยอยู่บนโลกนี้แหละ ช่วยกันห่อโลกที่เป็นบ้านของเราที่ลอยอยู่ในอวกาศ พวกเราช่วยกันเผาน้ำมัน ถ่านหิน หรือทางอ้อมโดยการใช้ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งเราใช้น้ำประปา เสื้อผ้า ของใช้ ปัจจัยสี่ทั้งหลายก็ต้องใช้ไฟฟ้า ใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งล้วนทำให้โลกของเราร้อนขึ้นทั้งนั้น ผลจากการเผาไหม้ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เหมือนอย่างที่ออกมาจากท่อไอเสียรถ และเจ้าก๊าซชนิดนี้นี่แหละที่เป็นเสมือนผ้าห่มที่ห่อหุ้มโลกของเราไว้ หลายร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์เราขุดน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่บ้านของเรา รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานผลิตสินค้าสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทุกชิ้นก็มีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น”

แบงค์ทนความสงสัยอยู่นาน ถามแทรก “ครูครับ ถ้าน้ำมัน ไฟฟ้า ของใช้ของกินทุกอย่างที่เราใช้เรากินเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วม เกิดอุบัติภัยทั้งหลายที่ครูบอก พวกเราจะเอาอะไรใช้ เอาอะไรกินละครับครู”

ครูใหญ่อธิบาย “มีของกินของใช้ปัจจัยสี่อีกมากมาย ที่เราไม่ต้องพึ่งน้ำมันหรือไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ข้าวปลา อาหาร สมุนไพร เสื้อผ้า หรือแม้แต่พลังงาน เราก็สามารถใช้พลังงานจากธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาก็ได้ เช่น ลม น้ำ แสงแดด แรงงานสัตว์ หรือพลังงานที่ผลิตจากพืช เช่นไบโอดีเซล เอทานอล เป็นตัวอย่าง หรือถ้าเราจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ใช้อย่างพอเพียง ตามแนวของในหลวง พ่อของเราชาวไทย อย่าใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้คุณค่า”

หลังจากกฤษณ์ฟังครูและเพื่อนพูดคุยจนแทบจะลืมคำถามของตัวเองแล้ว นึกถึงข่าวหนึ่งขึ้นมาได้ “ครูครับ เห็นข่าวเขาว่าภาวะโลกร้อนทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในหลายที่บนโลกเราจริงไหมครับครู มันจะเหมือนสึนามิที่เคยเกิดขึ้นที่ภาคใต้เราไหมครับครู ที่มีคนตายเกลื่อนไปหมด เมื่อหลายปีก่อนน่ะครับ”

ครูใหญ่ยังคงมีสีหน้าเคร่งขรึม “ครูก็ว่ามันเกี่ยวนะ เพราะว่าภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งเหนือ-ใต้ ตลอดจนน้ำแข็งตามยอดเขาหรือพื้นที่หนาวเย็นต่างๆ เคยมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดก็ละลาย เช่น กรีนแลนด์ น้ำแข็งที่ละลายพวกนั้นจะไหลมารวมกันที่มหาสมุทร ซึ่งมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น กินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของซีกโลก ทำให้น้ำหนักจำนวนมหาศาลเป็นล้านๆ ตันย้ายมาอยู่ด้านนี้ แล้วเราลองนึกดูซิ ว่าถ้าลูกข่างที่เราเล่นเวลาหมุนนิ่งๆ สมดุลอยู่ แล้วเราเอาดินน้ำมันมาแปะข้างหนึ่ง ลูกข่างย่อมหมุนแบบเดิมไม่ได้แน่นอน โลกเราก็เช่นเดียวกัน มันเคยหมุนนิ่งอยู่ในอวกาศอย่างสมดุล พอมีการย้ายน้ำหนัก (น้ำแข็ง) จากเหนือ-ใต้ และที่อื่นๆ บนแผ่นดินมาอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลก แน่นอนโลกย่อมต้องปรับสมดุลใหม่ และนี่เองที่ทำให้ครูคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้น ภูเขาไฟที่เคยสงบเงียบกลับคุกรุ่นขึ้นมาใหม่”

“แต่ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือเหนือขึ้นไปจากหมู่บ้านเราไม่กี่สิบกิโลมีเขื่อนใหญ่เก็บน้ำอยู่หลายพันล้านลูกบาศก์เมตร หากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่บ้านเรา ครูเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะขอให้เขาลดการกักเก็บน้ำลง ไม่รู้ว่าจะยอมรับไหม ไม่รู้ว่าเขาจะเห็นแก่ความสะดวกสบายในการใช้ไฟฟ้าหรือจะเห็นแก่ชีวิตของพวกเราที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนมากกว่ากัน ครูได้แต่ภาวนาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลอย่าให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้เลย หรือไม่ก็ผู้ที่รับผิดชอบคิดถึงชีวิตของพวกเราคนไทยใต้เขื่อนใหญ่ๆ ด้วย หวังว่าเขาจะตระหนักถึงความรับผิดชอบในทุกชีวิตที่อยู่ใต้เขื่อน”

ทุกคนเงียบ ซักพักครูใหญ่ก็พูดต่อ “ครูว่าครูพูดมากไปรึเปล่า ไม่รู้พวกเราจะพอเข้าใจได้ไหม แต่ที่สำคัญ ครูขอให้พวกเราช่วยกันประหยัดพลังงานทุกอย่าง ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ช่วยกันแนะนำทุกคนที่เรารู้จัก ใช้ชีวิตตามแนวของในหลวง ก็จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้โดยปริยาย ครูรักพวกเรา อยากให้เราทุกคนอยู่รอดปลอดภัย ทำตัวให้เป็นแบบอย่างของผู้คนรอบข้างนะ”

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home