โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

โดยแก่นสาระของการฝึกสมาธิภาวนานั้นไม่มีอะไรมากมาย ขอเพียงผู้ฝึกมีความซื่อตรงและมั่นคงกับประสบการณ์การฝึกของตัวเอง อย่างที่เรียกว่า เรียลลิสติค (realistic) คือ ภาวนาเพื่อการขัดเกลาจิตใจตนเองจริงๆ ไม่ได้มาภาวนาเพื่อได้นั่นได้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากความทะเยอทะยานยังติดเนื้อติดตัวเรามา การภาวนาก็จะเป็นไปในทิศทางของความทะเยอทะยานนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า “ภาวนา” เป็นคำกลางๆ ที่บ่งบอกถึงการเรียนรู้ใจตน ซึ่งในทางปฏิบัติก็จะแตกต่างกันไปตามอารมณ์ของผู้ฝึก บ้างก็อาจจะมาด้วยอารมณ์หวังผล อารมณ์บรรลุเป้าหมาย อารมณ์อยากได้ความสงบ อยากมีความสุข ยากที่จะหาผู้ที่มาภาวนาเพื่อภาวนา เรียนเพื่อเรียน เปิดใจรับฟังประสบการณ์อย่างปราศจากสัมภาระ อคติ ความคิด ความคาดหวังได้อย่างแท้จริง

อารมณ์ที่ติดตัวผู้ฝึกมา ส่งผลต่อบรรยากาศการฝึกและวิถีการปฏิบัติของเขาผู้นั้นในทุกๆ ลมหายใจเข้าออก และแน่นอนว่าย่อมมีผลโดยตรงต่อประสบการณ์ด้านในที่จะตามมาด้วย ส่วนใหญ่อารมณ์เหล่านี้มักจะถูกขับเคลื่อนด้วยแก่นความเชื่อ (core belief) บางอย่าง ตัวแก่นความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าอายและน่ารังเกียจ ขอแค่ไม่มัวเมาติดดี ติดเพอร์เฟ็คกันอยู่ เพียงแค่ยอมรับและทำความรู้จักกับแก่นความเชื่อเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวเราอย่างซื่อตรง ก็จะทำให้บรรยากาศของการฝึกมีการคลี่คลายและถ่ายเท เกิดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ด้านในที่ขยายกว้างออกไปได้

ตัวแก่นความเชื่อที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียว หรืออารมณ์เดียวกันด้วยความไม่บังเอิญ จะรวมตัวพัวพันกลายเป็นชุดของความเชื่อ นั่นคือความเชื่อที่อาจเป็นคนละเรื่องแต่ถูกเหนี่ยวนำด้วยแรงบางอย่างที่ส่งผลต่อทิศทางของความเชื่อเหล่านั้นทั้งหมด แรงเหนี่ยวนำนั้นอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กระบวนทัศน์ (paradigm) ซึ่งมันก็เป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งนั่นเอง แต่อยู่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อำนาจมากขึ้น ส่งผลพัวพันกับเรื่องอื่นๆ มากขึ้น

อย่างคนสมัยก่อนเชื่อกันว่าโลกแบน ความเชื่อที่ว่าโลกแบนนั้นมีอำนาจมาก และมีผลกระทบต่อความเชื่อยิบย่อยอื่นๆ อีกมากมาย บ่อยครั้งที่ความเชื่อนั้นยึดถือกันมานมนานจนก่อให้เกิดโครงสร้างและอำนาจต่อรองทางสังคมที่แข็งตัว เกินกว่าที่จะสามารถรองรับสัจธรรมแห่งความตื่น หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากได้ อย่างไรก็ดีความเชื่อที่ว่าโลกแบนก็ได้เปลี่ยนมาเป็นโลกกลมในที่สุด ส่งผลถึงการเปิดกว้างของการรับรู้โลกและธรรมชาติตามที่เป็นจริงอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ต้องแลกมาด้วยความตายของความเชื่อเก่าๆ มากมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก่อนจะตายก็ต้องสู้กับแรงต้านและการยื้อยุดกันจนเฮือกสุดท้าย กว่าจะศิโรราบยอมรับ ปรับทัศนคติให้เข้ากับการเรียนรู้ใหม่ที่สอดคล้อง จนนำไปสู่การเปิดตาแห่งปัญญาของมนุษย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เรื่องราวของกระบวนทัศน์มีผลต่อการภาวนาอย่างยิ่งยวด เพราะการภาวนา คือ การเดินทางด้านในของปัจเจกบุคคล โดยแต่ละย่างก้าวจะนำพาเราให้เห็นตัวเองและเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างจากการศึกษาที่ดีย่อมทำให้เราเห็นโลกและเข้าใจโลกมากขึ้น ทว่าการภาวนาหรือการเดินทางด้านใน จะคลี่คลายไปตามจังหวะท่วงทำนองและธรรมชาติของการเรียนรู้ด้านในได้นั้น จำเป็นจะต้องหยั่งอยู่บนรากของความเข้าใจและกระบวนทัศน์ที่สอดคล้อง กระบวนทัศน์ที่สามารถรองรับมิติแห่งประสบการณ์ได้อย่างเปิดกว้างไม่มีข้อจำกัด

หากเราดุ่มเดินบนเส้นทางโดยยังแบกเอากระบวนทัศน์ที่เราเคยใช้ได้ในเรื่องหน้าที่การงานหรือความสำเร็จทางธุรกิจมาใช้กับการภาวนา หากเรายังมองการขัดเกลาจิตใจเป็นเหมือนเทคนิคการไต่บันได ๑๖ ขั้น มุ่งหวังเป้าหมายและผลสำเร็จไม่ต่างกับการศึกษาเพื่อใบปริญญา มองหาเกจิอาจารย์ราวกับการช้อปปิ้งในห้างหรู ผลลัพธ์ที่สามารถถูกประเมินเป็นสูตรสำเร็จของการภาวนาคงเป็นได้เพียงวัฒนธรรมของการลอกเลียนมากกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง การภาวนาในแบบนั้นไม่ว่าจะดำเนินไปสักกี่สิบปี ก็มีฐานที่คับแคบและแบนเกินกว่าจะสามารถเปิดให้ใจให้ผู้ฝึกมีความละเอียดอ่อนของการรับรู้จนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่จริงแท้ขึ้นมาได้

คุณค่าทางจิตวิญญาณจะถูกถ่ายทอดออกมาได้ ไม่ใช่ในบรรยากาศของการเรียนรู้แบบบุคคลที่สาม ไม่ใช่ด้วยการวิเคราะห์ พิสูจน์ ประเมิน และให้บทสรุปเชิงประจักษวาท การตีค่า เหมารวม และวิเคราะห์ประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างฉาบฉวยเช่นนั้น คงใช้ได้ดีแต่เฉพาะกับโลกระนาบเดียวแบบวัตถุและกลไก กับโลกทางความคิดที่ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีลูกบ้า และความพยศ

สิ่งที่จะสามารถสะท้อนโลกอันรุ่มรวยและกว้างขวางทางจิตวิญญาณออกมาได้ มีเพียงกระบวนทัศน์แบบเรื่องเล่า ตำนานและเรื่องราวอันมีชีวิตที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยหัวใจที่สั่นไหว แววตาที่ฉายประกาย กับเลือดที่สูบฉีดทั่วสรรพางค์ของตัวผู้เล่า ความตื่นตัวที่สะท้อนถึงประสบการณ์ที่มีความหมายต่อบุคคลผู้นั้น ความเป็นเนื้อเป็นตัวที่สามารถถ่ายทอดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจสื่อสารได้ด้วยคำพูด คุณค่าทางจิตวิญญาณที่งอกงามบนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งประสบการณ์ชีวิตทุกระนาบ เป็นผืนดินที่เปี่ยมด้วยเรื่องราวการเดินทางผ่านฤดูกาล ผ่านทุกข์ ผ่านสุข ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการเกิดตาย ผืนดินที่เปรียบได้กับความรู้เนื้อรู้ตัวที่ทุกประสบการณ์เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ความหมาย และแรงบันดาลใจ ติดตรึงในมณฑลของการรับรู้ในเนื้อในตัวอย่างไม่มีวันลบเลือน

และนั่นคืออารมณ์ของการภาวนาที่แท้จริง เป็นการภาวนาอย่างไร้เงื่อนไข ไม่มีเทคนิค ไม่มีเป้าหมาย และไม่มีใครเป็นผู้ชี้แนะแนวทางหรือสั่งสอน เป็นการภาวนาที่ไม่ได้แยกขาดจากชีวิต และเป็นประสบการณ์ของการเป็นคนเดินดินธรรมดาคนหนึ่ง หากวิถีการภาวนาจะเต็มไปด้วยเทคนิคร้อยพัน เทคนิคเหล่านั้นก็คงแค่ช่วยให้เราอยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัวได้ดียิ่งขึ้น การภาวนาไม่ได้หยิบยื่นให้เราได้เห็นนั่นเห็นนี่ตามที่ใจปรารถนา ไม่ได้บอกว่าเราควรเป็นอะไร ควรทำอะไร ควรเดินไปทางไหน ไม่ได้บอกแม้กระทั่งว่าอะไรถูก อะไรผิด

หากจะแทนที่ “ภาวนา” ด้วยคำว่า “การศึกษา” ก็คงไม่ได้ทำให้บทความชิ้นนี้มีความหมายต่างไปจากเดิมมากนัก หากหัวใจของการศึกษาคือการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ควรแยกขาดจากการเรียนรู้ด้านใน เมื่อการภาวนาคือการเรียนรู้ของใจ เราจึงควรถามตนเองเสมอว่า เรามีทัศนคติและกระบวนทัศน์ต่อการเรียนรู้เช่นไร เป็นการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ หรือเรียนรู้เพื่ออะไร หมั่นใคร่ครวญด้วยความจริงใจเพื่อให้การศึกษาและการภาวนาของเรามีความจริงแท้และซื่อตรงจากภายในในทุกๆ ลมหายใจเข้าออก

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home