โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๒

ผมมีเรื่องจะสารภาพ...

ช่วงระยะที่ผ่านมา ผมมักใช้เวลาขลุกอยู่กับการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) มากเป็นพิเศษ นอกจากเพราะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ต้องทำแล้ว ผมยังพบว่าตัวเองรู้สึก “ถูกตา-ต้องใจ” กับแนวคิดนี้มาก โดยเฉพาะในแง่มุมของการเปิดพื้นที่ให้เราได้สำรวจใคร่ครวญกรอบการมองโลกที่ชี้นำการดำเนินชีวิตของเราทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตั้งแต่เรื่องการตัดสินใจในหน้าที่การงาน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อแปรงสีฟัน หรือการเลือกใส่เสื้อผ้ามาทำงาน

บ่อยครั้งที่เราพบว่า ปัญหาตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงปัจเจกบุคคลนั้นมีที่มาจากคนแต่ละคนต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเอง จนลืมไปว่าคนอื่นๆ ย่อมมีวิถีการมองโลกและชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ชีวิตและรากฐานทางสังคมวัฒนธรรมซึ่งไม่เหมือนกัน การประเมินตัดสินว่าใครถูกหรือผิดจึงเป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังใช้กรอบการมองโลกของเราเป็นบรรทัดฐานประเมินวัดกรอบการมองโลกของผู้อื่นอยู่

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสได้นำเสนอแนวคิดนี้กับที่ประชุมทางวิชาการ โดยเฉพาะกับอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย หลายคนส่งสัญญาณแสดงความเข้าใจและตอบรับกับการนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนของตนเอง ในขณะที่บางคนยังไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าใจแนวคิดนี้ดีพอ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า จะสอนนิสิตนักศึกษาอย่างไรโดยไม่ประเมินตัดสิน และอีกไม่น้อยที่ปฏิเสธแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า มันเป็นไปไม่ได้!

ผมมักจะให้กำลังใจอาจารย์ที่สนใจในแนวคิดนี้ให้ทดลองออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนบนฐานของการเปิดกว้าง ยืดหยุ่น และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ถึงแม้ในช่วงแรกผู้สอนอาจจะต้องเผชิญความยากลำบาก เนื่องจากไม่มีสูตรสำเร็จในการสอนหรือการประเมินผลให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งยังถูกเรียกร้องและท้าทายให้ต้องเปิดใจในกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการร่วมสำรวจความคิดความรู้สึกของตนไปพร้อมๆ กับผู้เรียนในประเด็นต่างๆ (ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชา) โดยเฉพาะในแง่ความเหมือนและความต่างในทางความคิด ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงกรอบการมองโลกและชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล การเรียนการสอนตามแนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้สอนจะต้อง “ยอมรับ” ในทุกความคิดของผู้เรียนโดยปราศจากเงื่อนไข แต่ “การรับฟัง” ต่างหากที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกไว้วางใจที่จะสำรวจโลกทัศน์ มุมมอง ความเชื่อของตนเอง จนอาจจะนำไปสู่การเปิดกว้างยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

น่าดีใจที่ในปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเริ่มพยายามจะนำแนวคิดและการปฏิบัติในกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) หรือการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Educare) เข้ามาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันของตนเอง สถาบันหลายแห่งมุ่งหวังจะพัฒนานิสิตนักศึกษาของตนให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต และใส่ใจต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว คณาจารย์และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาหลายคนคาดหวังว่า นี่คงจะเป็นคำตอบหรือทางออกของวิกฤตในสังคมไทยซึ่งยังคงจมวนอยู่กับการคาดเดาอนาคตที่พร่ามัวและเลือนราง

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อมั่นอยู่ว่า แนวคิดและการปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาไม่ควรจะถูกมองในลักษณะแยกส่วนกับชีวิตของผู้สอนและผู้เรียน ขอสารภาพว่าผมรู้สึกเป็นห่วงเมื่อเห็นการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากในรั้วสถาบันเพื่อพยายามผลักดันให้แนวคิดดีๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ฟังดูเผินๆ นับเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ แต่คำถามที่ผมมักจะได้ยินจากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับคนนอกวงวิชาการก็คือ “เราจะเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร ถ้าตัวอาจารย์และผู้บริหารสถาบันยังไม่ยอมเปลี่ยน?”

เราอาจจะบอกคนอื่นได้ว่าเราเป็นคนอย่างไร เชื่อหรือคิดอะไร แต่สิ่งที่เราปฏิบัติกับคนรอบตัวเราต่างหากที่พูดดังกว่า อาจารย์และผู้บริหารสถาบันก็เช่นกัน เราสามารถสอนนิสิตนักศึกษาหรือบอกกล่าวกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของเราด้วยชุดความรู้หรือหลักศีลธรรมต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้ประจักษ์ชัดอย่างแท้จริงก็คือ ความสอดคล้องระหว่างสิ่งที่เราพูดหรือสอน กับสิ่งที่เรากระทำหรือปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่างหาก

แนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรัชญาความเชื่อที่มีไว้สำหรับถกเถียง หรือท่องจำ แต่หมายถึงการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ในทุกช่วงขณะของการดำรงชีวิต

ล่าสุดนี้ ผมได้สนทนาพูดคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ซึ่งพยายามจะโต้แย้งว่า แนวคิดนี้นอกจากจะทำให้เส้นแบ่งความหมายของ “ความดี” และ “ความชั่ว” เลือนรางแล้ว ยังอาจทำให้สังคมเต็มไปด้วยการโต้เถียงไม่รู้จบ เพราะทุกคนต่างก็อ้างว่ากรอบการมองโลกของตนมีคุณค่าและควรได้รับการยอมรับเช่นคนอื่นๆ

ผมพบว่าตนเองใช้ความพยายามอย่างสูงในการอธิบายให้อาจารย์ผู้นั้นฟังว่า แนวคิดนี้ไม่ได้ให้คุณค่าความชั่วเท่ากับความดี และไม่ได้สนับสนุนการโต้เถียงบนฐานการยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตน ตรงกันข้าม แนวคิดนี้ พยายามบอกให้เรา “รับฟัง” กันและกันให้มากยิ่งขึ้น ฟังอย่างลึกซึ้งทั้งเสียงภายในตัวเองและเสียงของผู้อื่น เพราะการรับฟังอย่างแท้จริงนี้เองที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและการให้เกียรติระหว่างกันและกัน ผมพยายามอธิบายเรื่องดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็ดูไม่มีทีท่าจะเข้าใจ หรือรับฟังแต่ประการใด ในที่สุด ผมก็หมดความอดทนและยอมแพ้ถอยทัพกลับออกมา

เมื่อมองกลับไปอีกครั้ง ผมก็รู้สึกละอายใจตัวเองยิ่งนัก ผมไม่ได้ละอายที่ไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ว่า แนวคิดดังกล่าวมีข้อดีหรือคุณประโยชน์อย่างไร แต่ผมกลับรู้สึกละอายที่ตัวเองลืมที่จะ “รับฟัง” เขาอย่างแท้จริง ผมยังคงยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเอง และพยายามทำให้เขาเชื่ออย่างที่ผมเชื่อ ถ้าหากผมรับฟังให้มากกว่านั้น บางทีผมอาจจะได้ยินอะไรๆ ที่อยู่ภายในใจของเขามากกว่าเสียงของตนเองก็เป็นได้ นี่คือตัวอย่างอันดีของความล้มเหลวในการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง

ผมยอมรับกับตัวเองโดยดุษณีว่า สอบตกจากการปิดใจ หลงเชื่อว่าความคิดของตัวเองนั้นดีที่สุด

ใช่แล้ว ... ผมยังอยู่ห่างจากการใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองพูด ผมยังไม่สามารถทำให้เรื่องที่เรียนรู้ภายใน สะท้อนเป็นตัวตนของผมที่ปรากฏอยู่ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์

นี่เองที่น่าจะเป็นแบบประเมินสำหรับการเรียนรู้ที่คู่ขนานกับการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องรอคอยให้ใครอื่นมาตัดสินตัวเรา

2 Comments:

  1. Jirayu-Aor said...
    again- well written, ang challenge our way of thinking.
    Unknown said...
    อืม เห็นด้วยกะอาจารย์อั๋น เวลาเราบอกว่าเราพยายามจะเปิดใจ แต่เอาเข้าจริงเราก็ยังยึดมั่นถือมั่น

    แต่ถามอีกที มันจริงหรือที่การที่เราพยายามอธิบายบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้องให้คนๆหนึ่งฟัง จะเป็นการแสดงออกว่าเราสอบตกในเรื่องของการไม่เปิดกว้าง แต่ขณะเดียวกันเวลาที่เราบอกว่าเรากำลังเปิดใจรับฟัง จริงหรือที่เรา "เปิดใจ" จริงๆ หรือเป็นแค่การพยายามรับฟังโดยดุษฎี เพราะหาข้อโต้แย้งที่เหมาะสม ถูกต้องไม่ได้ หรือเพราะเราพยายามบอกตัวเองว่าเรากำลังรับฟังเขา เพียงเพื่อต้องการบอกว่า เรากำลัง "เปิดใจ" จะแยกอย่างไรดีกะสองอารมณ์นี้

Post a Comment



Newer Post Older Post Home