โดย สาทร สมพงษ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๒

ลูกชายของผมเริ่มเรียนโฮมสคูล (บ้านเรียน) ตั้งแต่ ป. ๒ ในช่วงนั้นผมกับภรรยาลงไปทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในแถบเชิงเขาตอนล่างสุดของเทือกเขาบรรทัดด้านตะวันออก เราชวนเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่สนใจช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำของคลองภูมีซึ่งไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ด้วยการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้องสมุดเพื่อเด็ก กลุ่มโนราเยาวชน ละคร ดูนก และการบวชป่า เป็นต้น การเรียนของลูกชายจึงเลื่อนไหลไปตามวิถีการงานของพ่อแม่ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ ในค่ายซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มักจะมีจุดเริ่มจากความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น หรือความใฝ่รู้ของเด็กเอง แรงบันดาลใจ ความรู้สึกที่อยากจะเรียนรู้จึงมาจากภายในของเด็ก ไม่ใช่เรียนไปเพราะกลัวสอบตก กลัวไม่ได้คะแนนดีๆ หรือกลัวไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากอิทธิพลภายนอกทั้งนั้น การเรียนรู้ของลูกๆ จึงต่างไปจากการเรียนหนังสือเพราะความกลัวของเด็กรุ่นเดียวกันอีกจำนวนมาก

สิ่งสำคัญในพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่ผู้ใหญ่มักไม่เข้าใจก็คือ เด็กจะเรียนรู้อะไรๆ ผ่านอารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องของความสนุกสนาน ความชอบ ยังไม่มีเรื่องของเหตุ ของผล หรือเรื่องของความคิดอะไรมากมาย เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องดี-ไม่ดี ผิด-ถูก ยังไม่มีการตัดสิน การประเมินค่า การตีความ หากไม่มีความคิดหรือกรอบอะไรลงไปกำหนดมากนัก เด็กก็จะสามารถสัมผัส รับรู้ อะไรได้ตรงๆ ตามที่มันเป็นได้ดี และนี่ก็คือช่องทางที่เด็กจะเข้าถึงความจริงที่ดำรงอยู่ได้ง่าย เพราะอารมณ์และความรู้สึกนั้นออกมาจากหัวใจ โดยไม่ได้ผ่านแว่นที่หนาเตอะของความคิด ความเชื่อ ข้อสรุป ทฤษฎี หรือทิฐิใดๆ

๓ ปีต่อมา ผมย้ายพื้นที่ทำงาน จากพื้นที่เดิมเลาะเลียบเชิงเขาเทือกเดียวกันขึ้นมาสู่อีกจังหวัดหนึ่ง เป็นพื้นที่ต้นน้ำของธารน้ำอีกสายหนึ่งที่ไหลลงสู่ทะเลสาบเช่นกัน คราวนี้ผมย้ายลงมาอยู่ในหมู่บ้านเลย มาปลูกบ้านอยู่ชายป่าริมลำธาร ห่างจากหมู่บ้านมุสลิมซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดราวๆ เกือบ ๑ กม. เราอยู่กันโดยไม่มีไฟฟ้า ข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จึงไม่มี เราใช้เพียงเทียนไขหรือตะเกียงให้แสงสว่าง ตกค่ำเราก็นั่งล้อมวงรอบตะเกียงอ่านหนังสือกัน หนังสือจึงเป็นความรื่นรมย์ที่แสนจะอบอุ่นในยามค่ำคืน บางครั้งลูกๆ ก็อาจจะหลับอยู่บนตักของพ่อหรือแม่ไปเลย เขาจึงมีโอกาสดีที่จะได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ได้ขลุกอยู่กับผืนดิน ได้แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ รู้จักที่จะก่อไฟ หุงข้าว ต้มแกง กับไม้ฟืน

ผมคิดว่าการใช้ชีวิตติดดินจะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม มนุษย์เราจะใช้กายเป็นส่วนที่จะเชื่อมโยงสื่อสารกับธรรมชาติ ผ่านการลงเรี่ยวลงแรงทำงาน ผ่านประสาทสัมผัส ในมิติของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ เราจะต้องอาศัยปัญญากายเป็นฐานที่สำคัญ ในทางพุทธเรียกว่ากายานุปัสสนา สภาวะที่เกิดขึ้นก็คือความตื่นรู้ ซึ่งจะเป็นตัวนำหรือช่องทางที่จะนำเราเข้าไปสู่สัจจะ ความจริงของชีวิต และโลก ขณะเดียวกันก็เกื้อกูลโอกาสให้หัวใจได้เบ่งบานและอ่อนโยนอย่างเต็มศักยภาพ ได้ซึมซับอยู่ในบรรยากาศของการอุทิศตน การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น นั่นก็คือความสามารถที่จะรัก ความรู้สึกสำนึกในความชื่นชม ขอบคุณ ผู้คน ชุมชน สรรพชีวิต ที่เอื้อให้ชีวิตเราดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข การรู้จักให้อภัยต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งที่มาจากตัวเราเองและคนอื่นๆ

ในช่วงวัย ๗-๑๔ ปีหรือช่วงประถมต้นจะเป็นช่วงวัยแห่งพัฒนาการฐานใจโดยแท้ การมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมจะเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อความเข้าใจในเรื่องของสัมพันธภาพ การอยู่ร่วมกัน และเชื่อมโยงไปสู่การเข้าถึงสาระที่สำคัญของชีวิต

นอกจากนั้น สิ่งที่จำจะต้องงอกงามขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งในวัยเด็กช่วงนี้ก็คือ เรื่องของจินตนาการ วัยเด็กโดยธรรมชาติแล้วก็จะเป็นช่วงที่รุ่มรวยไปด้วยจินตนาการ จินตนาการนั้นเป็นความสามารถที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ ตลอดจนแง่มุมใหม่ๆ ของปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นความไม่ติดยึดอยู่กับความเชื่อ ประสบการณ์ หรือข้อสรุปเดิมๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงวิญญาณของมนุษย์เราไม่ให้อับเฉาก็คืออารมณ์ขัน และการมีอารมณ์ขันก็เชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับเรื่องของจินตนาการเช่นกัน

เงื่อนไขของการทำบ้านเรียนที่ค่อนข้างอิสระในการจัดการเรียนรู้ของลูกชายทำให้ปัญญาในองค์รวมของชีวิตดังที่กล่าวมาเติบโตขึ้นพอสมควร ในช่วงชั้นประถม เราลงเรียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี พอขึ้นมัธยมก็ไปลงทะเบียนเรียนกับ กศน. กระทั่งเขาเรียนจบ ม. ๓ บรรยากาศที่ไม่ไปทางไหนสักทางของ กศน. ทำให้เขารู้สึกโหวงเหวงกับการศึกษานอกระบบมากขึ้น เราเองก็พยายามจัดให้เขาได้ออกไปเรียนรู้ข้างนอก หรือส่งไปเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียน

วันหนึ่งเขาเสนอจะกลับเข้าไปเรียนในระบบอีกครั้งในช่วงขึ้น ม. ๔ ผมคิดว่าเหตุปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเขาก็คือความเหงา การไม่มีเพื่อน วัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนค่อนข้างมาก

เมื่อลูกเรียนในระบบถึงสองคน เราเริ่มใช้เงินมากขึ้น ดูคล้ายเราเริ่มเชื้อเชิญให้เงินเข้ามากำหนดชะตากรรมในชีวิตมากขึ้นทุกที เราเริ่มผละออกจากผืนดิน ขยับไปอยู่ในตัวเมืองของอำเภอข้างเคียง เราเปิดสอนพิเศษอยู่ได้พักหนึ่งก็เริ่มจะไปไม่รอด เลยหันเหเข้ามาสู่งานที่เป็นความเคยชินเดิมๆ อีกครั้ง ผมทำวิจัย ภรรยาทำงานพัฒนากับโรงเรียนเอกชน คราวนี้เข้ามาอยู่ในตัวจังหวัดที่ติดกันเลย วิถีชีวิตเราเริ่มแปรเปลี่ยนไป ราวกับว่าเราเปลี่ยนศาสนาใหม่ เรากำลังเลือกเงินมากกว่าชีวิตหรือเปล่า?

ผมมีโอกาสจับจอบ จับพร้าน้อยลง แต่เดินทาง ขับรถ หรือไม่ก็นั่งพิมพ์หนังสือเป็นวันๆ ภรรยาผมก็ตะลอนๆ ไปตามโรงเรียนต่างๆ บางทีก็เดินทางประชุมขึ้นลงกรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น

วิถีการเรียนรู้ของลูกชายก็เช่นกันได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว ตั้งแต่สิ่งที่ผลักดันให้เขาเรียนกลายเป็นเรื่องคะแนน เขาจึงเรียนไปด้วยความกลัว มิใช่ความรักที่จะเรียนรู้ หรือแรงบันดาลใจซึ่งมาจากภายในของเขา บรรยากาศของโรงเรียนที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจ กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติ ทำให้ลูกชายของผมเริ่มได้เรียนรู้ รู้จักกับความรู้สึกที่ถูกกดดัน ความเคร่งเครียดอย่างจริงจัง เป็นประสบการณ์ตรง ผมที่เคยดำสนิทเริ่มกลายเป็นสีขาว เด็กวัย ๑๗-๑๘ ปีเริ่มมีผมหงอกจึงเป็นเรื่องที่ชวนคิดกับความจริงที่เกิดขึ้นกับลูกของเรา งานกับการพักผ่อนเริ่มจะแยกออกจากกันชัดเจนขึ้น เขาไม่อาจคงการพักผ่อนอยู่ในงาน การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องที่จะมาทำให้เหนื่อยหน่ายและเครียด ไม่มีความสนุกสนานในการเรียนรู้อีกต่อไป ยิ่งเรียนก็ยิ่งต้องการพักผ่อนคลายเครียด สิ่งที่เด็กๆ เข้าไปหาก็คือการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หนังสือการ์ตูน การเที่ยวเตร่ ดูหนัง ฟังเพลง บางคืนเด็กอาจจะเล่นเกมตลอดคืนโดยไม่นอน ลูกชายเคยบอกว่าเขาเล่นเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกอิ่ม หรืออาจเป็นเพราะชีวิตที่แบ่งแยกดังกล่าวจึงทำให้เด็กกระหายในการผลักความเครียดออกไปอยู่ตลอดเวลา

หลักใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการศึกษาในระบบโรงเรียนก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องความคิด จึงเน้นการพัฒนาความคิด เด็กขลุกอยู่กับการท่องจำเพื่อไปสอบให้ผ่านๆ ไป โรงเรียนโดยทั่วไปจึงละเลยเรื่องของปัญญากายและปัญญาของหัวใจ นี่จึงเป็นสาเหตุใหญ่ของนานาปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในโรงเรียน บุคลิกภาพของเด็กจึงมักจะล่องลอย หรือไม่ก็จมอยู่กับความคิด สิ่งเหล่านี้แสดงออกให้เห็นได้จากการใช้ชีวิตที่หลุดออกไปจากคนอื่นๆ ในครอบครัว เขาจะสนใจช่วยเหลือการงานต่างๆ ในบ้านน้อยลง ไม่ใช้ไม่บอก ก็จะไม่ทำ เสื้อผ้าก็ต้องส่งซัก หนักๆ เข้าก็ต้องสังคายนากันใหญ่สักครั้งหนึ่ง

ลูกชายบอกว่าเขาเข้าไปเรียนในระบบครั้งนี้ก็เพื่อเข้าไปเรียนรู้ เข้าใจความต่าง ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่ผ่านจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าเขากำลังเข้าไปเป็นความต่างนั้นเสียเองหรือเปล่า หรือนี่คือวิถีการเรียนรู้ของเขาที่จะต้องเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งนั้นโดยไม่มีการแบ่งแยก เพื่อที่จะรู้จักเข้าใจอย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่การรู้จักผ่านตัวตนหรือความรู้ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักจะสำคัญผิดอยู่บ่อยๆ บางทีเราอาจจะต้องนิ่งและอดทนให้มากขึ้น กับระยะผ่าน กับการเข้าไปคลุกคลีกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ค่อยต้องใจเรานัก

เด็กเป็นวัยที่เพิ่งจะเหยียบย่างเข้ามาในอาณาจักรแห่งชีวิต เมื่อเขาเริ่มจะเดินได้ด้วยตัวเองใหม่ เขาก็ย่อมกระตือรือร้นและสนุกที่จะเดินด้วยตัวเขาเอง มากกว่าที่จะให้พ่อแม่ต้องคอยจับมือประคองไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะบางครั้งเมื่อเขากำลังสนุกมากๆ เขาก็อาจจะสะบัดมือของเราให้หลุดออกไปเลยก็ได้ เรายังจำกันได้ไหมครับ

พ่อแม่เองก็อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะวางใจกับชีวิตบ้าง เผื่อว่าชีวิตเราจะได้ผ่อนคลายและสงบสุขได้มากขึ้น มาถึงตรงนี้ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองก็ยังเป็นนักอุดมคติอยู่อีกมาก และตัวอุดมคตินี่หรือเปล่าที่เป็นตัวขวางกั้นมิให้เราได้สัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าซักที


เขียนให้กับลูกชายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย

ด้วยความรัก และเริ่มวางใจ

พ่อเอง

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home