โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒


ผู้เขียนได้รับจดหมายจากเพื่อนชาวต่างชาติ เขาส่งคลิปวิดีโอรายการ โคนาน โอไบรอัน (Conan O'Brien) ซึ่งเชิญดาราตลก หลุยส์ ซี เค (Louis C. K.) มาสนทนาวิพากษ์วิจารณ์โลกแห่งเทคโนโลยีและบริโภคนิยมอย่างสนุกสนาน (http://www.youtube.com/watch?v=LoGYx35ypus) หลุยส์ ซี เค บอกว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่ในปัจจุบันคนเราสามารถทำอะไรต่ออะไรในเวลาอันรวดเร็ว สามารถเดินทางไปในสถานที่ซึ่งเมื่อก่อนต้องใช้เวลายาวนาน นานขนาดอาจจะต้องคลอดลูกระหว่างเดินทางด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางนั้นรวดเร็วและน่าทึ่งมาก หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย การถอนเงินออกจากธนาคารได้อย่างรวดเร็ว หรือโทรศัพท์เพื่อติดต่อใครสักคนภายในไม่กี่วินาที แต่ทำไมคนก็ยังไม่มีความสุข?

คำถามของหลุยส์ช่วยให้คนตื่นขึ้นสู่โลกแห่งความเป็นจริง ผู้เขียนสะดุดใจกับประโยค “ทุกอย่างน่าอัศจรรย์ แต่คนไม่มีความสุขเลย” ซึ่งอธิบายสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้คนเราหันกลับมาตั้งคำถามว่า หากเรามีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนแล้วจะทำให้มีความสุขมากขึ้นจริงหรือ เราเคยเห็นตัวเองหงุดหงิดเมื่อเวลาเครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้ไม่ทำงานให้ได้ดังใจไหม ความหงุดหงิดมาจากที่ใด สรุปแล้วเครื่องอำนวยความสะดวกไม่ได้บ่มเพาะความใจเย็นให้คนมากขึ้นใช่ไหม

อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ได้เหมารวมและไม่ได้อยากให้ผู้อ่านมุ่งประเด็นความผิดไปที่เทคโนโลยีและความสะดวกสบายไปเสียทั้งหมด ผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าความสะดวกสบายในโลกยุคปัจจุบันไม่ได้ช่วยทำให้คนมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานสะดวกสบายขึ้นก็ถือเป็นความโชคดีของคนรุ่นเรา แต่ไม่ควรยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ เพราะจะทำให้เกิดความคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพราะจะกลายเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความใจร้อนให้โตวันโตคืน เมื่อใดที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายจะเกิดโทสะอย่างยิ่ง และขาดความอดทนในการรอคอยสิ่งต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น

คลิปวิดีโอที่ผู้เขียนได้รับนั้นได้ทำให้เห็นว่าคนเริ่มตื่นสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็นชาวต่างชาติเอง เขาฉุกคิดได้ เมื่อสังเกตเห็นการบริโภคเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของตนพร้อมกับดูใจตัวเองว่าเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร ก็พบความจริงว่าไม่มีวัตถุสิ่งของใดจะทำให้คนมีความสุขมากขึ้นได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก

เมื่อสังเกตใจดีๆ ก็จะพบว่าไม่มีสิ่งใดเลยจริงๆ ที่ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งวัตถุ เครื่องอำนวยความสะดวก กิจกรรมบันเทิงต่างๆ ไม่ได้บ่มเพาะให้คนใจเย็น หรือมีความสุขแท้ๆ กลับจะยิ่งทำให้พ่ายแพ้ต่อผู้ผลิตที่ชาญฉลาดที่นำสิ่งอำนวยความสะดวกมาเสนอในราคาสูงขึ้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในความรวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ โดยหลงลืมไปว่าชีวิตไม่ได้ง่ายขึ้นเลย กลับต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งนอกตัวมากขึ้นด้วยซ้ำ

อีกทั้งเรายังหลงลืมไปว่าผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยนั้น ต้องใช้ทรัพยากรมากขนาดไหน เป็นการทำลายทรัพยากรไปมากเกินความจำเป็นหรือไม่?

หากจะเชื่อมโยงให้เห็นวัฏจักรของความใจร้อนไปสู่โลกร้อนก็คงไม่ยากนักสำหรับคนในยุคสมัยนี้ที่คงจะมีความสามารถในการคำนวณความเสียหายได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ดังนั้นหากช่วยกันคนละไม้คนละมือลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตน ระลึกให้ได้ว่าการบริโภคที่เกินความจำเป็นไม่ได้ส่งผลดีต่อจิตใจ แต่จะเป็นการบ่มเพาะอารมณ์ร้อน อารมณ์โกรธเสียมากกว่า ก็จะช่วยโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ มากกว่าความอัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่อาจจะทำให้โลกขาดสมดุลและเกิดหายนะโดยรวมในไม่ช้า นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ได้แสดงให้เห็นอัตราการบริโภคเป็นสัดส่วนโดยตรงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติไว้มากมายแล้ว ทางเดียวที่จะเยียวยาโลกก็คือช่วยกันคนละไม้คนละมือจริงๆ ด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเศรษฐกิจยุคถดถอยนี้ หากไม่ช่วยกันบริโภคจะทำให้เศรษฐกิจคล่องตัวมากขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนอยากเรียนว่า เมื่อถึงยุคเศรษฐกิจถดถอย แสดงว่าคนไม่สามารถบริโภคมากไปกว่านี้แล้ว สินค้าฟุ่มเฟือยมีปริมาณมากเกินไปและราคาสูงเกินความจำเป็นแล้ว ผู้ปกครองประเทศน่าจะต้องทบทวนโครงสร้างงานและอาชีพใหม่ว่าคนมีความต้องการทำงานในเรื่องใด มากกว่าการผลิตเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินจำเป็น ต้องถือโอกาสนี้สร้างงานที่มาจากพื้นฐานความสามารถที่พึ่งพาตนเองได้ในประเทศ คนจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติมากขึ้นไม่ใช่เรื่องผิด เศรษฐกิจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของชีวิตย่อมถดถอยเป็นธรรมดา

ประเทศเยอรมนีมีคนตกงานมาก แต่เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยไปเท่าใด และคนตกงานก็ยังมีชีวิตที่มีความสุขพอประมาณ เนื่องจากรัฐสามารถให้การดูแลอย่างเต็มที่ หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของเยอรมนีแล้ว ก็จะพบว่าสามารถสะท้อนความเป็นจริงของวิถีชีวิตและความสามารถของคนเยอรมันได้อย่างดีเยี่ยม เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจึงไม่สะเทือนโครงสร้างที่เข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในประเทศ

สุดท้ายคนย่อมไม่มีความสุขไปได้เลย ตราบใดที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต และสมดุลระหว่างคนและทรัพยากร ไม่ว่าจะได้รับความหวังดีจากคนอื่นมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีวิตอย่างไร การแก้ไขปัญหาด้วยทฤษฎีและเครื่องมือที่น่าอัศจรรย์เพียงใด แต่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจปัญหา ก็ย่อมไม่สามารถรักษาให้ถูกอาการ คนย่อมเครียดและไม่มีความสุขฉันใดก็ฉันนั้น

1 Comment:

  1. Unknown said...
    ชอบบทความนี้ค่ะ
    เห็นความเป็นไปได้ที่การเรียนรู้ด้านในจะมาช่วยอธิบายและลดปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมได้ ไม่โรแมนติกดีค่ะ
    อยากเข้าใจและเขียนได้อย่างนี้บ้าง

    เหมียว จิตตปัญญารุ่น 2
    ไม่ได้เจออาจารย์นาน คิดถึงค่ะ

Post a Comment



Newer Post Older Post Home