โดย เมธาวี เลิศรัตนา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒


ประเด็นที่ผู้เขียนกำลังจุ่มจมความคิดและความรู้สึกเอาไว้ในช่วงนี้ก็คือ “การเฝ้ามอง เฝ้าสังเกตตัวเอง ด้วยสายตาของผู้อื่น” เฝ้าสังเกตว่าเหตุใดผู้คนจึงแสดงออก หรือ “เป็น” อย่างที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ รวมถึงตัวของเราเองด้วย

ผู้เขียนเริ่มต้นจากการอ่านชีวประวัติของเหล่าผู้ให้กำเนิดและสืบค้นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ อย่างเช่น บิดาควอนตัม นีลส์ บอห์ร (Niels Bohr) ในวัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่ม บอห์ร กับน้องชายได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกต และ “ฟัง” การสนทนาของนักคิด นักปรัชญา ซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อที่มาตั้งวงกันที่บ้านทุกสัปดาห์ โดยสองพี่น้องไม่ได้รับอนุญาตให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงมีการวิเคราะห์กันว่า ด้วยเหตุนี้บอห์รจึงได้บ่มเพาะคำถามไว้ภายใน จากการฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นความซับซ้อนทางความคิด พลวัตของการใคร่ครวญคำนึง จนเผยออกเป็นบุคลิกภาพ เป็นเนื้อเป็นตัวนีลส์ บอห์ร อย่างที่หลายๆ คนได้สัมผัสและพูดถึงเขาว่า บอห์รผู้ล้ำลึก ขณะเดียวกันนั้นเองบอห์รก็แทบจะสื่อสารเป็น “คำพูด” กับใครไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะเขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้พูด บอห์รพูดน้อยจนกระทั่งแทบจะนับคำได้ และเมื่อต้องพูดอธิบายอะไรยาวๆ ก็จะต้องมีล่ามแปลภาษาบอห์รที่มักจะเป็นลูกชาย น้องชาย หรือไม่ก็ภรรยา

ส่วนคนที่สองที่ผู้เขียนอยากพูดถึงก็คือ ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์อัจฉริยะชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบล จากการพัฒนา quantum electrodynamics ศึกษาพฤติกรรมของอนุภาค-Feynman diagrams ผู้เป็นทั้งนักดนตรีและจิตรกรพร้อมกัน ถึงกระนั้นฟายน์แมนก็ยังสนุกสนานกับการ “เล่นกล” จนอาจกล่าวว่าเขาหลงเสน่ห์มายากลเลยก็ว่าได้ เขายังชอบถอดรหัส ไม่ว่าจะเป็นรหัสของศิลปะแขนงต่างๆ รหัสกล รหัสลับทางธรรมชาติ ไปจนถึงรหัสเซฟ เขาเล่าว่า พ่อของเขาผู้เป็นเซลส์แมนธรรมดาๆ นั้นไม่เคยทนความอยากรู้เทคนิคต่างๆ ของนักมายากลได้เลย พ่อจะใช้ความสามารถทุกอย่างเพื่อหาคำอธิบายว่า พวกนักมายากลเล่นกลได้อย่างไร แล้วสิ่งนั้น ความอยากรู้อันลึกล้ำนั้น ก็ได้เข้ามาสู่ชีวิตจิตวิญญาณของลูกชาย

คนสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากจะยกมาก็คือ ไบรอัน กรีน (Brian Greene) นักฟิสิกส์ทฤษฎีร่วมสมัยผู้มุ่งมั่นกับการก่อประกอบทฤษฎีสรรพสิ่ง ทฤษฎีสายใยจักรวาล (String Theory) ผู้เขียนได้ค้นพบแหล่งที่มาแห่งอัจฉริยภาพของกรีนเข้าโดยบังเอิญจากการอ่านหนังสือของเขา กรีนเล่าว่า พ่อกับเขามีเกมหนึ่งที่เล่นกัน เป็นประจำในวัยเด็ก นั่นคือการตั้งคำถามแล้วให้อีกฝ่ายตอบอย่างรวดเร็ว (จนแทบไม่ต้องคิด) คำถามก็จะประมาณ “แมลงที่เกาะอยู่ตรงล้อรถคันนั้นเห็นอะไร” “นกที่กำลังบินโฉบอยู่นั่น มันเห็นอะไร” เมื่อถูกถามว่า “มดที่อยู่บนฮอทดอกซึ่งพ่อค้ากำลังโรยผักลงไปนั้น มันเห็นอะไร” กรีนก็จะตอบอย่างรวดเร็วไปว่า “กำลังยืนอยู่บน วัตถุทรงกลมสีเข้ม มีผนังสีขาวหยุ่นๆ โดยรอบ และมีผักตกลงมาจากฟ้า” แล้วด้วยเหตุแห่งเกมของพ่อนี้เองกระมังที่ทำให้กรีนกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่แตกฉานในสัมพัทธภาพ

นักฟิสิกส์อัจฉริยะทั้งสามซึ่งผู้เขียนยกมาคราวนี้ก็เป็นตัวอย่างการมองด้วยสายตาของผู้อื่น แล้ว “เห็น” ความเกี่ยวเนื่องโยงใยอันซ่อนเร้นภายใน ซึ่งเผยออกสู่ภายนอกของเขาเหล่านั้น

แล้วก็มาถึงวัยเด็กของตัวผู้เขียนเอง ตัวตนอันใครต่อใครมักจะมองว่าเป็นมนุษย์ประหลาด (ทั้งที่เราก็ต่างแปลกประหลาดในสายตาของกันและกันทั้งนั้น) เรื่องราวอาจจะเริ่มต้นในตอนบ่ายแก่ๆ ของวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง ในวันนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กหญิงวัยหกเจ็ดขวบ ใส่เอี๊ยมไปนั่งรอแม่ผู้เป็นครูสอนเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์เด็กชายแห่งหนึ่ง บริเวณที่นั่งรออยู่ริมบ่อเล็กๆ มีก้อนหินวางเรียงรายโดยรอบ การรอคอยเหมือนกับว่าไม่มีทางจะสิ้นสุดลงไปง่ายๆ กระทั่งสายตาของเด็กน้อยได้มองผ่านผิวน้ำลงไปในบ่อ เห็นลึกลงไปในรายละเอียด ตะไคร่น้ำ ไข่ของแมลง และสัตว์น้ำเล็กๆ พวกมันบางตัวก็ดูเป็นเยลลี่สีใส ที่ลอยละล่องอยู่ มันแบ่งแยกจากน้ำที่ล้อมรอบมันไว้ก็ตรงผิวเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้ม กำหนดขอบเขตของตัวมันเอง เยลลี่ใสบางก้อนกำลังปรับรูปร่างของมันให้เคลื่อนที่หรือหยุดนิ่งอยู่กับสภาวะรอบๆ ตัว แมลงน้ำตัวหนึ่งเกาะอยู่บนหินก้อนใหญ่ที่มีตะไคร่เขียว ดูประหนึ่งกวางที่อยู่ในทุ่งหญ้า

ฉับพลันทันทีนั้น เด็กน้อยก็แว้บ!! เห็นภาพตัวเองที่กำลังนั่งสังเกตบ่อน้ำนั้นเป็นประหนึ่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในบ่อ หรือโลกทั้งใบอันใหญ่โตนี้จะเป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง เธอสะดุ้ง!! จนต้องละสายตาจากบ่อน้อย เงยหน้า ขึ้นมองท้องฟ้า เผื่อว่าจะได้สบสายตากับใคร หรืออะไรก็ไม่รู้ที่เธอรู้สึกว่ากำลังเฝ้าสังเกตเธออยู่เช่นกัน เธอรู้ตัว ณ ขณะนั้นว่า เธอไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้สังเกต หากเธอเป็นผู้ถูกสังเกตพร้อมๆ กันไปด้วย ไม่มีความเหงา เปลี่ยว เดียวดาย ดำรงอยู่อีกต่อไป

ผู้เขียน ณ ปัจจุบันขณะนี้ ก็เป็นผู้สังเกตอีกคนหนึ่งที่ย้อนเวลากลับเข้าสู่สภาวะนั้นได้เสมอ การรอคอยอันเป็นนิรันดรได้สิ้นสุดลงแล้ว เด็กหญิงสบตากับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เธอก็สบสายตากับตัวเอง และผู้เฝ้ามอง ซ้อนๆ กันไปอีกหลายชั้น

แล้วคุณผู้อ่านล่ะ มีหรือเปล่า ในวันฟ้าใสๆ จิตใจสงบนิ่ง แล้วต่อหน้าต่อตาคุณสิ่งที่เคยเห็นว่าเรียบง่ายธรรมดา เช่น ต้นไม้สักต้น สายธารสักแห่ง ก้อนหินสักก้อน ฉับพลันก็เกิดมีความงามที่ไม่ธรรมดาปรากฏขึ้น ณ ห้วงขณะนั้น ฉัน เธอ และนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็หลอมรวมดวงใจเข้าด้วยกัน ความสามารถอย่างใหม่ก่อเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็คือ เราสามารถ “เห็น” ตัวเราในสายตาของผู้อื่น

1 Comment:

  1. Anonymous said...
    ตอนนั้นราวๆสัก ม.3 กำลังนั่งทำการบ้านกับเพื่อนๆที่โต๊ะยาวใต้ต้นไม้ในบริเวณโรงเรียน จำได้ว่าตอนนั้นมันเหมือนมีความอึดอัด ทำนองว่าจุดหมายของชีวิตคืออะไรกันหรือ สักพักก็รู้สึกวาบเข้ามาในตัวเอง แล้วก็เหมือนจะเข้าใจว่า เพื่อนๆเราคนอื่นๆก็มีความรู้สึกเป็น"เรา" เหมือนกับเรา ชีวิตก่อนหน้าที่จะมาถึงวันนั้น เราก็คิดว่ารู้และเข้าใจผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่ ณ.วินาทีนั้นทำให้ตระหนักได้ว่า ที่ผ่านมาเรามองคนอื่นเป็นเหมือนสิ่งที่ถูกสังเกตเท่านั้นเอง ไม่ได้ตระหนักเลยว่าตัวเราเองก็ถูก "เรา"อื่นๆ เฝ้าสังเกตอยู่เช่นกัน

Post a Comment



Newer Post Older Post Home