โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ถึงเวลาที่จะต้องเขียนบทความชิ้นนี้เสียที หลังจากที่ผัดผ่อนจนล่วงเลยกำหนดส่งบทความมาเกือบสิบวันแล้ว

เมื่อถึงกำหนดส่งจึงได้ส่งเมลไปยังผู้รับผิดชอบคอลัมน์ เพื่อขอเลื่อนส่งบทความ ใจอยากจะอ้างว่างานยุ่ง ไม่มีเวลา (ซึ่งเป็นคำอ้างที่หยิบยกขึ้นมาใช้จนคุ้นชิน) แต่เมื่อสำรวจแล้วพบว่า เราไม่ได้ยุ่งจนไม่มีเวลาเขียนบทความอย่างที่อ้างสักหน่อย ความคิดก็วิ่งแล่นเพื่อค้นหาข้ออ้างอื่นที่พอจะฟังขึ้น แต่ก็ไม่พบ เลยต้องสารภาพไปตามตรงว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี แล้วก็มีเมลตอบรับว่าให้เลื่อนวันส่งได้ และตามด้วยคำอวยพรที่ขอให้มีความสุขกับการเขียนบทความ

นี่อาจเป็นสิ่งที่ได้รับกลับคืนมาจากการที่เราเลือกที่จะพูดความจริง ความจริงที่ว่าไม่รู้จะเขียนอะไรดี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรอยู่ดี คงต้องยอมรับกับตัวเองและผู้อ่านเสียทีว่าเรากำลังถึงทางตัน และคำอวยพรก็ล่องลอยมาอีกครั้ง “ขอให้มีความสุขกับการเขียน” แล้วจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าต้องบีบคั้นตัวเองเช่นนี้ ผู้อ่านเองคงรับรู้ได้ถึงความทุกข์ ความอึดอัดใจที่ผู้เขียนได้ส่งผ่านไปยังภาษาที่เขียนในบทความนี้ด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ดีแน่ๆ เลย

คำถามหนึ่งจึงผุดขึ้นมาในใจ “อะไรที่ทำให้เราไม่มีความสุขในการเขียนบทความ”

หากไม่โกหกตัวเอง คำตอบที่พบก็คือ เพราะเราคาดหวังกับตัวเองว่าจะต้องเขียนบทความที่ดี น่าสนใจ ได้ประโยชน์แง่คิดบางอย่าง คนอ่านแล้วประทับใจ ซึ่งจะทำให้ชื่นชมตัวผู้เขียนไปด้วย ความคาดหวังนี้เองที่เป็นตัวกดทับ บีบคั้น กดดันให้ต้องเขียนบทความให้ดีที่สุด พิเศษที่สุด แค่ธรรมดาๆ ไม่ได้ เมื่อค้นพบคำตอบนี้ ก็รู้สึกตลกกับความคิดของตัวเอง เรากำลังหลงวนอยู่กับการสร้างภาพตัวตนขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า วางกับดักกักขังตัวเองเอาไว้ เบื้องหลังของความคิดนี้จึงนำไปสู่ทางตันที่กำลังต้องเผชิญอยู่นี้

ต่อเมื่อเราเห็นและยอมรับสิ่งที่เรามีและเป็น จึงพอจะทำให้เห็นทางออกอันรำไรที่จะทำให้มีความสุขกับการเขียนงานสักชิ้นขึ้นมาบ้าง เริ่มจากการลดความคาดหวังกับตัวเอง วางใจกับงานเขียน ดีหรือไม่อาจจะไม่ใช่บทสรุป สิ่งที่ควรตักตวงคือความสุขเล็กๆ จากการได้ทำสิ่งที่เรารักและเขียนสิ่งที่อยากเขียนต่างหาก งานเขียนไม่จำเป็นต้องพิเศษ หากแต่เป็นงานเขียนที่แสนธรรมดาและเต็มไปด้วยความจริงใจของผู้เขียน สิ่งนี้น่าจะเป็นหน้าต่างที่ทำให้ผู้อ่านเปิดรับ สัมผัสรับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนอย่างแท้จริง มากกว่าการที่เราจะตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าผู้อ่านจะต้องประทับใจและได้รับประโยชน์จากงานเขียนของเรา

แม้จะวางใจและลดความคาดหวังต่างๆ ลงแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จะเขียนเพื่อนำเสนอเรื่องอะไรอยู่ดี รู้สึกว่าเราถึงทางตัน มึนมืดแปดด้าน หัวสมองว่างๆ โหวงๆ ไม่มีเนื้อหา ไม่มีประสบการณ์โดนๆ ที่พอจะนำมาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นบทความเลย ไม่มีเรื่องราวใดๆ ที่ผ่านเข้ามาและพบเจอในชีวิตที่จะนำเสนอผู้อ่าน ไม่มี ไม่มีจริงๆ .......

เพราะความไม่รู้นี่เอง ที่ทำให้ตัวเองได้ลองเปิดโลกแห่งการสื่อสารอันไร้พรมแดน เข้าไปอ่านบทความที่คนอื่นได้เขียนไว้ อ่านความคิด ความรู้สึก จากบทความที่มากมายไปด้วยเรื่องราว มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นเพราะต้องการจะลอกเลียนแบบ แต่การออกมาสัมผัสโลกกว้าง ไม่ติดอยู่กับกรอบความคิดและวิธีการอันคุ้นชินของเรา จะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้มากมายที่มีอยู่ในโลกอันไพศาลนี้ ความคิดที่มีอยู่ได้ประสานกับอีกความคิด ไม่ใช่ความคิดจะมาแทนที่กัน แต่กลายเป็นความคิดที่หลอมรวม เปิดกว้างมากขึ้น อย่างน้อยก็กว้างกว่าความคิดเดิมๆ ที่เรามีอยู่

แม้จะได้เปิดโลกทางความคิด แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไป ...

จึงได้ลองพาตัวเองนั่งรถประจำทางไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นั่งรถไฟฟ้า ออกไปดู ไปสัมผัสชีวิตผู้คนในสังคม ไปพบเจออากาศร้อนๆ ที่ชวนให้หงุดหงิดใจ ไปสูดควันพิษรวมกับคนอื่นๆ ในท้องถนน แวะสวนสาธารณะที่เขียวขจีไปด้วยต้นไม้ สดชื่นเมื่ออยู่ใกล้สายน้ำ ผู้คนอ้อยอิ่งเดินเล่น ออกกำลังกาย ผ่อนคลายแจ่มใส ชีวิตที่หลากหลายบนโลกใบนี้เป็นสีสันที่สดใหม่และสวยงามเสมอ โลกกว้างใหญ่ ทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไป การออกไปพบเจอกับชีวิตของคนอื่น ไม่ใช่เพราะต้องการไปมองหาเรื่องมาเขียนบทความ หากเป็นการไปด้วยใจที่อยากรู้ ด้วยตาที่อยากเห็น ด้วยกายที่อยากร่วมสัมผัสเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น จะทำให้ใจของเราเปิดกว้าง สัมพันธ์กับโลกและผู้คนอย่างแท้จริง รับรู้เรื่องราว ความเป็นไปของชีวิตอื่นที่ไม่ได้มองเพียงที่ตัวเองเท่านั้น

ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้เชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในจิตใจ การออกไปเห็น ไปพบเจอความเป็นไปของโลกกว้างแล้วกลับมาสัมผัสรับรู้ความรู้สึก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ทำให้โลกไม่ได้มีแค่ความคิดแต่กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต

ทางตันที่เผชิญอยู่ไม่ได้ทึบตันตลอดไป มีทางทอดยาวต่อให้เดินต่อไปได้ กำแพงแห่งความไม่รู้ที่บีบคั้นให้อึดอัดใจทลายลง ด้วยการยอมรับว่าตนไม่รู้ และเดินทางออกไปสัมผัส สัมพันธ์ เรียนรู้กับชีวิตและโลก ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ถ้าเราไม่มัวหลงติดกับดักทางความคิดของตัวเองว่า เรารู้ เรามีความสามารถ ดี และเก่งกว่าใครๆ เราก็คงจะมีทางออกให้กับตัวเองเสมอเมื่อต้องพบเจอทางตัน บางทีอาจเป็นตัวเราเองที่ก่อกำแพงสร้างทางตันล้อมตัวเองไว้ก็เป็นได้

บทความนี้จบลง ขณะออกไปนั่งดูสายฝนโปรยปรายที่ระเบียงบ้าน ระหว่างที่เสียงกระดิ่งลมดังกังวาน ต้นไม้เอนไหวขับขาน ไม่หลงเหลือความกดดันและความไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรจากเมื่อสิบวันก่อนหน้านี้เลย

ความคาดหวังสอนให้เรารู้จักการปล่อยวาง ทางตันทำให้มองหาความเป็นไปได้ของทางออกมากมายที่มีอยู่ ความไม่รู้ทำให้ได้กลับมาเรียนรู้อีกครั้ง

แม้ตอนเริ่มต้นเขียนบทความนี้จะเต็มไปด้วยความอึดอัดใจ แต่เมื่อเขียนมาจนถึงประโยคนี้กลับมีแต่ความอิ่มเอมใจ อย่างน้อยก็ได้บอกเล่าความเป็นไปของตัวเองด้วยความจริงใจ

1 Comment:

  1. ทิพย์ พัชน์ศรี said...
    ชอบข้อความนี้มากครับ
    "เพราะเราคาดหวังกับตัวเองว่าจะต้องเขียนบทความที่ดี น่าสนใจ ได้ประโยชน์แง่คิดบางอย่าง คนอ่านแล้วประทับใจ ซึ่งจะทำให้ชื่นชมตัวผู้เขียนไปด้วย ความคาดหวังนี้เองที่เป็นตัวกดทับ บีบคั้น กดดันให้ต้องเขียนบทความให้ดีที่สุด พิเศษที่สุด แค่ธรรมดาๆ ไม่ได้"
    อย่างไรก็ชื่นชมกับผู้เขียนครับ ได้บทเรียนอย่างดี ที่ไม่เคยตอบตัวเอง แต่ผู้เขียนได้ให้คำตอบที่ดีมากครับ
    บางครั้งเราอยู่ในโลกแห่งความคาดหวัง คาดหวังของตนเองที่ดูเหมือนมีฐานมาจากผู้อื่น แต่ความจริงความคาดหวังนั้นอยู่ในโลกภายในของเราที่ยังไม่ว่างพอ ยังไม่วางความคาดหวังของเรา
    ขอบคุณที่ช่วยให้ได้คิด "ความคาดหวังสอนให้เรารู้จักการปล่อยวาง ทางตันทำให้มองหาความเป็นไปได้ของทางออกมากมายที่มีอยู่ ความไม่รู้ทำให้ได้กลับมาเรียนรู้อีกครั้ง"
    บทความนี้ดีมากครับ
    ถึงไม่มีอะไรจะเขียนแค่ความคิดที่ติดตามความรู้สึกตน ก็มีค่ามากครับ

Post a Comment



Newer Post Older Post Home