โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒


เห็นคนพูดถึงการเตรียมตัวตายอย่างสงบมามากแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นคนเขียนเรื่องการเลิกกับแฟนอย่างสงบเลย ทั้งที่เป็นความทุกข์ร่วมของคนร่วมสมัยและต้องมีการเตรียมตัวอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะหากต้องการให้ความหมายของการเลิกกับแฟนเป็นไปอย่างสงบ และยังเป็นเพื่อนกันต่อ

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจร่วมกันก่อนถึงความหมายของการเลิกกับแฟนอย่างสงบ คือการเลิกด้วยดี ไม่มีความโกรธหรืออาฆาต พร้อมให้อภัย และมีความเมตตากรุณาต่อกัน เป็นการอโหสิต่อกรรมเดิม และเป็นไปเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการเดินทางอย่างใหม่ของชีวิต

การจะเลิกกับแฟนอย่างสงบได้นั้นขึ้นกับลักษณะของการเลิกเป็นสำคัญ เพราะหากการเลิกเป็นไปอย่างโกรธแค้น มีอารมณ์ อกุศลกรรมข้อนี้ย่อมติดตัวไปทั้งสองฝ่ายแม้จะจากกันไปแล้ว และย่อมไม่อาจนำไปสู่การเป็นเพื่อนกันได้ ฉะนั้น การเป็นเพื่อนกันต่อหลังการเลิกจะเกิดขึ้นได้จึงขึ้นกับคุณภาพของการเลิก

แนวปฏิบัติสำหรับผู้บอกเลิก

๑. พิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงเหตุและผลในการเลิก อย่าบอกเลิกหลังการทะเลาะกัน นอกจากความสัมพันธ์ที่มีอยู่ง่อนแง่นขึ้นแล้ว การบอกเลิกในภาวะที่มีอารมณ์ เป็นการดำเนินไปด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล และการบอกเลิกด้วยอารมณ์ ย่อมไม่นำไปสู่การบอกเลิกอย่างสงบ ไม่นำไปสู่มิตรภาพ และสำหรับผู้มีประวัติบอกเลิกทุกครั้งหลังทะเลาะกัน ต้องใคร่ครวญให้มากว่าจะบอกอย่างไรให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ คุณอาจรู้สึกผิดที่เป็นผู้บอกเลิกคนที่เคยรักและสัญญาว่าจะรักษาความผูกพันนั้นไว้ แต่หากความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปด้วยดีไม่ได้ ก็เป็นความผิดพลาดของคนสองคนร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และคุณทำดีที่สุดแล้ว

๒. ตัดสินใจบนพื้นฐานของการพิจารณาใคร่ครวญนั้น และมีความหนักแน่น หากพิจารณาแล้ว ตัดสินใจแล้วด้วยใจอันสงบ มั่นคง ก็จงแน่วแน่อยู่กับการตัดสินใจนั้น

๓. เลือกวันเวลาและสถานที่สื่อสารที่เหมาะสม คุณกำลังจะแจ้งข่าวร้ายให้กับอีกฝ่าย และยังหวังเป็นเพื่อนกันต่อ เพราะฉะนั้น ควรพูดจากันต่อหน้า ไม่ใช่ทางโทรศัพท์หรือเอสเอ็มเอส คุณภาพของการสื่อสารมีความสำคัญมาก จำเป็นต้องคำนึงถึงอีกฝ่ายในฐานะผู้รับสาร ช่องทางในการสื่อสาร และสิ่งแวดล้อมในการสื่อสารให้มาก คุณต้องมั่นใจว่ามีเวลาเพียงพอในการพูดจาสื่อสารกันในวันนั้น ไม่รีบ ไม่มีธุระที่ต้องไปทำที่ไหนต่อ

๔. สื่อสารด้วยถ้อยคำปรกติ ชี้แจงเหตุผล เตรียมใจยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น จำไว้ว่า คุณเตรียมตัวเป็นฝ่ายบอกเลิก อีกฝ่ายไม่ได้เตรียมตัว ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้ย่อมแตกต่างกัน คุณต้องเป็นฝ่ายสงบ ไม่มีอารมณ์ อีกฝ่ายอาจจะมีอารมณ์ ทั้งโกรธ ตกใจ เสียใจ ตีโพยตีพาย ถามถึงเหตุผล และกล่าวโทษคุณ ขอร้องคุณ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอให้รับฟังด้วยใจอันสงบ ไม่โกรธ ไม่ใจอ่อนโลเล ให้เวลาอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ เป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ทำความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ ให้อีกฝ่ายเลือกเองว่าจะหยุดเมื่อไหร่

๕. อย่าถามหรือขอร้องให้ฝ่ายถูกเลิกเป็นเพื่อนกับคุณในทันทีที่เลิก อีกฝ่ายไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้คิดอะไร การถามว่าเป็นเพื่อนกันต่อได้ไหม ไม่ต่างอะไรกับการถามว่า ต้นไม้ตายแล้ว จะเก็บไว้ไหม? กระบวนการเลิกและกระบวนการหลังจากนั้นต่างหากจะเป็นปัจจัยกำหนดว่าจะเป็นเพื่อนกันได้อีกหรือไม่

๖. หลังจากสิ้นสุดการพูดคุยครั้งนั้นแล้ว อาจต้องพูดคุยกันอีกสองสามครั้ง เว้นจังหวะเวลาให้เหมาะสม แต่คุณต้องพร้อมรับฟัง และเข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเยียวยา อีกฝ่ายอาจถามคำถามเดิมๆ ย้ำไปย้ำมา หรือกล่าวโทษ คุณต้องพร้อมจะเข้าใจอารมณ์ของอีกฝ่ายและกระบวนการเยียวยานี้ ให้เวลาอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ รับฟัง ไม่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย ยอมรับความไม่น่ารักของเขาอันเกิดจากอารมณ์โกรธ เศร้า เสียใจ ปนกัน อีกฝ่ายไม่ได้มีคุณสมบัติด้านลบแต่เพียงอย่างเดียว อย่าคาดหวังให้เขาใจเย็น หรือมีเหตุผล คุณเคยรักและผูกพันกันมา ย่อมเข้าใจตัวตนเขา นิสัยของเขาเป็นอย่างไรคุณรู้ดี พฤติกรรมด้านลบขณะนี้เป็นผลจากอารมณ์ด้านลบภายใน ไม่ใช่เป็นนิสัยเดิมแท้ของเขา อย่าลืมว่า คุณยังอยากจะเป็นเพื่อนกันต่อ

๗. หลังจากช่วงเวลานี้ อีกฝ่ายอาจจะเลิกติดต่อคุณสักพัก คุณอาจจะเป็นฝ่ายขอติดต่อกลับไปในเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลานี้ขึ้นกับความเข้มข้นในความสัมพันธ์ที่เคยมี

๘. ระหว่างนี้คุณอาจใช้ชีวิตเป็นปรกติ แต่การก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่หลังจากนั้นภายในเวลาสองสามเดือนอาจจะเป็นไปไม่ได้ แม้คุณมีสิทธิ์ แต่ก็ไม่ควร คุณควรจะใช้เวลานี้พิจารณาใคร่ครวญถึงความบกพร่องในความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ระยะเวลานี้อาจนานกว่านั้น แต่หากคุณเริ่มความสัมพันธ์ใหม่หลังจากเลิกกัน เขาจะคิดว่านั่นแหละคือเหตุผลที่แท้จริงในการเลิก และไม่อาจนำไปสู่มิตรภาพ

๙. ไม่คาดหวังในอีกฝ่ายว่าควรเป็นหรือทำอะไรที่ดีกว่านี้ ต้องยอมรับว่าทั้งคุณและอีกฝ่ายก็โง่ได้ พลาดพลั้งได้ ไม่สมบูรณ์ได้ ควรเข้มงวดกับตนเองและผ่อนปรนกับผู้อื่น การเรียกร้องคุณธรรมจากตนเองเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แนวปฏิบัติสำหรับผู้ถูกเลิก

๑. ระลึกอยู่เสมอว่าคุณได้พูดและทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของคุณฝ่ายเดียว หากแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย อย่ากล่าวโทษตัวเอง เหตุผลของการเลิกนั้นไม่ว่าจะมีข้อเดียวหรือกี่ข้อก็เพียงพอกับการทำให้เขาตัดสินใจเลิกกับคุณ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เป็น ไม่มีความผิดความถูกในเรื่องนี้

๒. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในวงเพื่อนหรือครอบครัว ในที่ที่คุณมั่นใจว่าคุณเป็นที่รัก และมีคุณค่ากับคนที่แวดล้อมคุณ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เคยไปกับเขา เก็บข้าวของที่เป็นเครื่องระลึกถึงไว้ในที่ลับตา

๓. ความเสียใจ การร้องไห้ การตีโพยตีพาย ฟูมฟาย เป็นเรื่องปรกติ คุณยังเป็นปุถุชน ยังไม่บรรลุธรรม อยู่บนหนทางปฏิบัติ ไม่ต้องสงวนหรือแสดงท่าทีให้เป็นปรกติ ตราบเท่าที่ภายในของคุณยังไม่ปรกติ ถ้าคุณเป็นอริยบุคคลคุณก็คงไม่ต้องเสียใจ ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใน แม้จะเป็นอารมณ์ด้านลบ โอบกอดมันไว้ ยอมรับว่าเราก็มีอารมณ์ด้านลบได้แม้เป็นคนดีหรือเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่มีศรัทธาแก่กล้า ดูแลไม่ให้ไฟแห่งความโกรธ เศร้า เสียใจ ทำร้ายคุณหรือผู้อื่น

๔. หาเพื่อนที่สามารถฟังอย่างลึกซึ้ง และเตือนสติคุณได้ ให้ปรึกษา ระบายอารมณ์ทุกอย่างที่มี คุณต้องยอมรับว่าคุณกำลังป่วยภายใน ถ้าคุณไม่ป่วยคุณก็คงไม่ต้องเยียวยา ไม่ต้องพูดคุยปรับทุกข์กับใคร เพื่อนที่มีสติปัญญาดีจะเตือนสติคุณได้ว่าการพูด คิด ทำอะไรในช่วงระหว่างที่มีอารมณ์เป็นเรื่องไร้เหตุผล การตัดสินใจที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อผ่านกระบวนการคิดใคร่ครวญพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ในภาวะที่มีอารมณ์ครอบงำ ที่สำคัญ อย่าเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครในช่วงระยะเวลานี้ แม้จะเป็นคนที่รู้สึกดีกับคุณมานานก็ตาม คุณต้องรอให้ใจสงบ สมองแจ่มใส ถามตนเองว่าต้องการอะไร และดำเนินชีวิตไปตามนั้น

๕. ระงับการติดต่อกับเขาไปสักพัก ไม่โทรศัพท์ ไม่เขียนจดหมาย ไม่เขียนอีเมล คุณต้องการเวลาเยียวยาตนเอง คุณไม่ต้องดูแลใคร คนที่คุณต้องดูแลคือตัวคุณเอง ทำให้ใจนิ่งสงบ ดูแลอารมณ์ด้านลบ ยอมรับ ระมัดระวังไม่ให้ออกมาเป็นการกระทำ หยุดคิดฟุ้งซ่าน ทุกอย่างเป็นอย่างที่เป็น ไม่ต้องตีความ พึงตระหนักว่าความโกรธจะทำให้มองเห็นแต่ด้านลบของอีกฝ่าย ความเศร้าจะทำให้เห็นแต่ด้านลบของตนเอง อารมณ์หลายอย่างจะเกิดขึ้นปะปนกัน ไม่ต้องสนใจ อดทนไว้ ความทุกข์ภายในจะผ่านพ้นไปด้วยตนเอง

๖. ในยามที่ใจสงบ พิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ ทบทวนตนเองอย่างตรงไปตรงมา อาจเขียนขึ้นมาดู และหากยังนึกถึงคนเดิม นำสิ่งที่เขียนมาเป็นเครื่องเตือนสติ การพิจารณาใคร่ครวญนี้จะเป็นแนวทางให้เราเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ได้โดยไม่ผิดพลาดแบบเดิม

๗. แม้ว่าอีกฝ่ายจะขอให้เป็นเพื่อนกันต่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือคุณจะทำได้อย่างที่พูด สำหรับบางคนแล้ว คำพูดนี้อาจมาจากแรงผลักดันอะไรบางอย่างภายใน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกลัวสูญเสียหรือความรู้สึกผิด มิตรภาพจะเกิดขึ้นเองหากมีความปรารถนาดีต่อกัน ตราบใดที่ยังรู้สึกแย่ต่อกัน เห็นแต่ความผิดของอีกฝ่าย ปราศจากความไว้วางใจ ไม่เคารพและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน มิตรภาพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ทั้งในคุณและอีกฝ่าย

๘. สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ เราย่อมเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดช่วยนำไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ที่มีคุณภาพ มีสติปัญญากำกับมากกว่าเดิม

๙. ไม่คาดหวังว่าอีกฝ่ายควรเป็นหรือทำอะไรที่ดีกว่านี้ ต้องยอมรับว่าทั้งคุณและอีกฝ่ายก็โง่ได้ พลาดพลั้งได้ ไม่สมบูรณ์ได้ ควรเข้มงวดกับตนและผ่อนปรนกับผู้อื่น การเรียกร้องคุณธรรมจากตนเองเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัว ผู้เขียนปราศจากความรู้ แต่เขียนขึ้นจากความรู้หลายแห่งในโลกอินเทอร์เน็ต ยำและสังเคราะห์เข้ากับวัฒนธรรมแบบไทย ควรช่วยกันปรับปรุง และเขียนเผยแพร่ให้มากขึ้น เพราะเป็นทุกข์แบบปุถุชน ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างจากนักบวช ทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในตำรา คนหนุ่มสาวร่วมสมัยล้วนต้องผ่านประสบการณ์ดังกล่าวอย่างคลำทาง เพราะโครงสร้างสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน พื้นฐานครอบครัวเปลี่ยน องค์ความรู้และสติปัญญาจากคนรุ่นก่อนถูกส่งต่อมายังคนรุ่นหลังแบบอาศัยโชค บางคนโชคดีก็ได้รับสติปัญญานั้นต่อ บางคนโชคไม่ดีก็ทุรนทุรายต่อไป

5 Comments:

  1. LP_shinoda said...
    กากมาก
    MADAM said...
    ดีมากค่ะ อ่านจนจบ
    NickChumpu said...
    This comment has been removed by the author.
    NickChumpu said...
    This comment has been removed by the author.
    NickChumpu said...
    This comment has been removed by the author.

Post a Comment



Newer Post Older Post Home