โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๒

การทานอาหารหากไม่ได้เป็นไปเพื่อเพิ่มความอยากในอาหารก็เป็นกุศล การเขียนหนังสือหากมิได้เป็นไปเพื่อเสริมสร้างอัตตาของตนก็ควรลงมือกระทำอย่าได้รอช้า ผู้ที่ไม่ได้ฝึกตนและฝึกใจนั้น ยากที่จะเห็นเส้นสายลายแทงที่ละเอียดในเรื่องของจิตของใจ “เห็นเสือแต่ไม่เห็นลายเสือ” อาจารย์ไพบูลย์ของผมเคยว่าเอาไว้

ผมครุ่นคำนึงถึงสองสามประโยคข้างบนนี้กับงานที่ตนทำผ่านพ้นไป งานอบรมละครสำหรับเยาวชนที่ตั้งชื่อเอาไว้อย่างท้าทายว่า “5 วันฉันเปลี่ยน” เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเขียนถึงงานนั้นให้ดูดีสวยหรู แต่จะมีประโยชน์อย่างใดเล่าเพราะมันไม่ “สนุก” อาจจะก่อประโยชน์บ้าง แต่ก็กระผีกกระเผาะเต็มที สู้เขียนวิพากษ์ตนเองไม่ได้น่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ

งานอบรมละคร “5 วันฉันเปลี่ยน” คัดสรรผู้เข้าร่วมให้มีอายุระหว่าง 14-18 ขวบปี แต่สุดท้ายเรามีสมาชิกตั้งแต่อายุ 13 ขวบไล่เรื่อยไปจนถึง 50 กว่าขวบ ตามวาระและโอกาสของแต่ละคนที่เชื้อเชิญตัวเองเข้ามาร่วมในงาน อายุเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญเพราะเห็นว่าช่วงนี้เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยรุ่นกำลังจะสร้างทัศนะบางอย่าง บ่มเพาะความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง ประกอบสร้างตัวเองจากประสบการณ์ซึ่งก็มีอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มทนในระบบการศึกษาและสังคมที่ไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าใด เลยจากนี้ไปหากเราไม่ให้ความสนใจกับเขา เราก็จะได้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ มาเพิ่มจำนวนสมทบไปกับที่มีอยู่แล้ว นั่นคงไม่ใช่อนาคตที่เราอยากเห็น

หลายคนถามว่าเหตุใดผมจึงไม่ใช้แนวทางจิตตปัญญาในการอบรมเยาวชน ทำไมไม่หันเหพวกเขาเข้าสู่แนวทางของพุทธศาสนา เพราะเหตุใดจึงไปอบรมเยาวชนของเราด้วยแนวทางการละครของผู้ที่ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed) ซึ่งบางคนโจมตีว่าเป็นละครของพวกหัวเอียงซ้าย!! ผมไม่ได้ปฏิเสธแนวทางของจิตตปัญญาและพุทธศาสนาแต่ผมเชื่อในลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตสำนึกว่าต้องดำเนินไปเป็นลำดับ สำหรับเยาวชนการเรียนรู้ให้ทำลายอัตตาเสียตั้งแต่ยังไม่รู้ฤทธิ์เดชของอัตตาก็เท่ากับเราชิงสุกก่อนห่าม อัตตาไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย อาจารย์ใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู) เคยว่าเอาไว้ ก็ตรงกับที่ ติช นัท ฮันห์ บอกว่าเราจะเลือกชื่นชมแต่ดอกไม้ที่สวยงามแล้วทำเป็นไม่รู้จักกองขยะที่เน่าเหม็นไม่ได้ เพราะสองสิ่งก็คือสิ่งเดียวกัน ในกองขยะก็มีดอกไม้ ในอวิชชาก็มีโอกาสของการรู้แจ้ง ส่วนเอคฮาร์ท โทลลี บัณฑิตผู้อยู่กับปัจจุบันขณะก็พูดเสมอว่าก้อนกองสังขารนั้นอย่าไปทิ้งขว้างทีเดียวนา เพราะเวลาคนเราพลิกเปลี่ยนก็อาศัยกองทุกข์นี่แหละช่วยดัน ช่วยผลักให้ผันข้าม (transmute) ไปสู่สภาวะใหม่ได้

ผมเชื่อในอาจารย์เหล่านี้จึงได้รับเอาละครนี้มาเป็นเชื้อปะทุ ปลุกอัตตาของเยาวชนเหล่านี้ให้ลุกขึ้นมาอย่างปราศจากการหลบซ่อนปกปิดในนามของศีลธรรม จริยธรรม หรือความกริ่งเกรงอื่นใด ปลุกให้เขาเหล่านั้นมาเผชิญหน้ากับมารในตัวของพวกเขา แน่นอนว่าต้องอยู่ในพื้นที่อันปลอดภัยและโอบรับได้ทุกอย่าง งานเช่นนี้ต้องการการตื่นรู้ของคณะผู้จัดทำ ต้องเป็นการตื่นรู้ในระดับที่ไม่ธรรมดา ผู้เข้าร่วมจึงต้องฝึกไปพร้อมๆ กับคณะผู้จัดซึ่งต้องตื่นรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ เราค่อยๆ ผลักเขาออกจากพื้นที่ของความคุ้นชินมาเป็นพื้นที่ของความเป็นไปได้ของละคร บรรยากาศของค่ายมิได้เป็นไปด้วยความสงบ แต่มีความโกลาหลมีคลื่นใต้น้ำที่ผุดพรายขึ้นมาให้ได้ศึกษากันเป็นระยะ ความรู้สึกลึกๆ จะถูกกระตุ้นแต่มิใช่ด้วยต้องการให้ฟูมฟาย แต่เป็นการฟูมฟักความเข้าใจใหม่ด้วยสายตาใหม่ แหวกจอกแหนที่เป็นม่านบังตาให้เห็นพื้นน้ำเบื้องล่าง

ชลลดา ทองทวี อ้างอิงงานของ อมิต โฆษวามี ว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์มีขั้นตอนอยู่ 4 ขั้นดังนี้

1. การรับรู้ (perception) --> 2. การสร้างมโนทัศน์ (conception) --> 3. การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) --> 4. การคิดเชิงสรรค์สร้าง (creative thinking) ค่ายละครที่ทำลงไปผมเชื่อว่ามีปฏิบัติการทั้ง 4 อย่างนี้ ในสังคมไทยเรามิได้ขาดขั้นที่ 1, 2 มากนัก แต่ผมเห็นว่าเราอ่อนขั้นตอนที่ 3, 4 เพื่อนผู้รู้ของผมคนหนึ่งที่อาศรมศิลป์ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่าในกระบวนการจิตตปัญญาของเรายังขาดการคิดเชิงวิพากษ์เช่นเดียวกัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเยาวชนของเราหรือแม้กระทั่งตัวเราเองขาดการคิดเชิงวิพากษ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะมีแนวโน้มการรับเอา เชื่อตามอย่างเซื่องๆ ซึ่งผู้มีอำนาจแต่เขลาปัญญาอยากให้ประชาชนของตนเป็นอย่างนั้น ลองนึกดูเล่นๆ ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้าเมื่อผู้อ่านข้อเขียนนี้ก็คงเสียชีวิตไปแล้วกว่าครึ่ง เราทิ้งมรดกแห่งความเซื่องเซื่อเอาไว้ให้กับลูกหลานของเรา สังคมของเราจะอุดมไปด้วยคนเบาปัญญาแต่เมาอำนาจ การปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ต่างหากที่เป็นการทำร้ายประเทศไทย มิใช่การลุกขึ้นมาตะโกนขอให้สมานฉันท์ หากผู้ลุกขึ้นประกาศมายังแยกแยะไม่ออกระหว่าง “ความสมานฉันท์” กับ “ความเซื่องเซื่อ”

ผมไม่ใคร่จะพบการบ่มเพาะความคิดเชิงวิพากษ์ในกระบวนการจิตตปัญญา หรือในการเรียนเรื่องพุทธศาสนา ผมจึงมองหาแนวทางอื่นเข้ามาหลอมรวม โดยจะเรียกว่าเป็นขั้นตอน “เหยียบผ่าน” หรืออย่างไรก็ตามที แต่เช่นเดียวกับจิตสำนึกเรื่องการเมือง หากจิตสำนึกในการศึกษาพุทธศาสนาเป็นไปแบบเซื่องๆ ผมก็ไม่เชื่อว่าใครจะบรรลุธรรม หากใครไม่กล้าคิดวิพากษ์ความเชื่อทางศาสนาของตนเองเสียก่อนอย่างถึงพริกถึงขิง โอกาสที่จะแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมาเป็นความเข้าใจได้ในภายหลังก็แทบไม่มี การคิดเชิงวิพากษ์จึงไม่ใช่การวิจารณ์ผู้อื่นอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด ที่ถูกคือผู้นั้นต้องรู้จักวิพากษ์ตัวเองเสียก่อนอย่างลึกซึ้งและหลากหลายแง่มุม และควรจะต้องทำให้มากกว่าการวิพากษ์ผู้อื่นหรือเรื่องอื่น เมื่อนั้นก็อาจจะมีหนทางตกผลึกเกิดเป็นความคิดเชิงสรรค์สร้างได้ในที่สุด

แต่ถ้าหากไปสุดโต่งคือคิดวิพากษ์หรือคิดแบบแยกแยะมากจนเกินไป โอกาสที่จะเห็นธรรมก็เป็นเรื่องยาก อย่างชาวตะวันตกผู้หันมาสนใจพุทธศาสนาต้องประสบ พวกเขาไม่ใคร่จะเข้าใจการสอนในแบบพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าเข้าใจยาก แท้จริงแล้วกระบวนการทำความเข้าใจของเขาต่างหากที่เป็นปัญหา เยาวชนไทยของเรานั้นเล่าก็ไปสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง เพราะกระบวนการทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของเราเป็นไปแบบเซื่องๆ ก็คือว่าตามกันไป ถามว่าทำไมต้องทำ คำตอบก็คือไม่รู้เหมือนกัน เราอยากจะให้เยาวชนคิดเป็นแต่ห้ามเถียง ห้ามสร้างความวุ่นวาย แล้วอย่างนี้เด็กจะเรียนรู้เรื่องการขบถต่อขนบจากไหน?

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home