โดย สุวัฒนา ชุมพลกูลวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒

“เราจำเป็นต้องเป็นตัวเราตลอดเวลาไหม?”

พี่สาวพยาบาลทหารคนหนึ่งถามขึ้นในวงสุนทรียสนทนา เพราะช่วงที่ผ่านมา เธอกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง และต้องจัดกระบวนการกลุ่มโดยผลัดกับเพื่อนเป็นผู้นำกลุ่มและดำเนินการประชุมให้สำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งเธอเรียกว่า Commentator ตลอดเวลา

เธอถามคำถามนี้กับตัวเองในค่ำคืนหลังจากตัวเองเป็นผู้นำประชุม และถูก Commentator กระหน่ำความเห็นประหนึ่งหวดไม้ลงมาที่เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “กะว่าจะเอาให้ลงไปกองตรงนั้นให้ได้เลยกระมัง” เธอกล่าว เพื่อนๆ ถึงกับเข้ามาจับมือ ตบไหล่ และให้กำลังใจเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งๆ ที่เธอเพียงแสดงเป็นตัวของเธอเองน่ะหรือ ผู้ประเมินถึงกระหน่ำคำพูดที่ทำร้ายกับเธอเช่นนี้?

ถ้าเช่นนั้นเธอควรจะทำเช่นไรดี?

วันถัดมา เธอจึงแสร้งทำเป็นซึมแต่เช้า ทั้งที่ปรกติเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองมาก พูดจาฉะฉานและมีแววตาที่มุ่งมั่น และเพื่อให้สมบทบาทนี้ เธอถึงกับกรอกยาแก้ปวดหัวต่อหน้าเพื่อนฝูง ไม่ให้เพื่อนๆ ประหลาดใจว่าเธอแปลกไป เพราะวันนี้เธอจะเป็นคนปวดหัว ซึม เซื่อง และนำประชุมไม่ได้เรื่องไงล่ะ!

ผลที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพื่อนๆ และวงประชุมเซื่องซึมไปตามๆ กัน ยังไม่นับ Commentator ผู้เดิมที่ไม่อาจหวดไม้ตะบองที่เตรียมมาได้เลย

นี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญให้ก้าวผ่านมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่กระนั้น ฉันกลับฟันธงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อยู่ในใจเงียบๆ

---------------------------------------

ตอนบ่ายหลังจากวงสนทนาจบลง ฉันเดินไปทานข้าวกับพี่สาวอีกสองคน เรายังคงพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนกันต่อ พี่คนหนึ่งพูดในตอนท้ายเป็นเชิงสรุปความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทที่ต้องกระตุ้นและฟูมฟักการเติบโตให้แก่พนักงานในความดูแลว่า “ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้มีเป็นส่วนน้อย เราจึงยังต้องกระตุ้น ชักจูง ให้รางวัลคนส่วนใหญ่ให้กระตือรือร้นขึ้นมา”

ความไม่พอใจระคนกับความรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นในใจของฉันอีกครั้ง

จากนั้น ภาพสมัยชั้นเรียนวิชา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิชา สิ่งแวดล้อมศึกษา : ทฤษฎีและปฏิบัติ ในมหาวิทยาลัยของฉันก็ผุดตามขึ้นมาทันที (คุณพระช่วย! ใจเรามันเร็วจริงๆ)

“เป็นตัวของตัวเอง ตัวเองถูกเสมอ ทุกคนต้องหมุนรอบตัวฉัน” ฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่ภาพตัวฉันและเพื่อนในสองชั้นเรียนนี้ ทำให้ฉันฉุกคิดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ในอีกแง่มุมที่เรียกว่า “ศักยภาพดั้งเดิม” หรือ “ศักยภาพเดิมแท้” ที่มนุษย์แต่ละคนมีอยู่แล้ว และมีมาตั้งแต่ถือกำเนิด

หากเปรียบเทียบเพื่อนนักศึกษากว่า 10 ชีวิตช่วงก่อนและหลังจากเรียนทั้งสองวิชามาตลอดเวลา 1 ปี เราพบว่าการเติบโตของ “ตัวตน” แต่ละคนช่างสวยงามเหลือเกิน

“เหมือนแต่ละคนเป็นต้นไม้ ที่วันนี้ออกดอกออกมาอย่างสวยงาม” คือคำพูดเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการเล่าเรียนในวิชาเหล่านั้น

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของวิชาการจัดการทรัพยากรฯ ที่หนุนเสริมให้แต่ละคนเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่มีการทำโทษหรือตำหนิอย่างฉับพลันทันที เช่น หากเข้าเรียนไม่ทันเวลา ไม่ส่งงานตามกำหนด หรือไม่ได้ศึกษาเอกสารมาล่วงหน้า อาจารย์ก็เพียงแต่ยิ้ม (จริงๆ!) ไม่ดุด่า แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย และในวันที่มีกรณีเหล่านี้ พวกเราก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองในสิ่งที่ไม่มีใครเคยสอน จากเรื่องราวเกิดขึ้นในชีวิตจริง

ส่วนวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ ทุกคนจะต้องเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาส่งในวันสุดท้ายของชั้นเรียนคนละชิ้น แต่ระหว่างนั้นฉันกลับได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่การเลือกหัวข้อโครงการ ซึ่งมันอาจใช้เวลาไปมากมายก็จริง แต่กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความคิดของฉัน พวกเราได้ค่อยๆ สำรวจว่าในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราสนใจ? อะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า? เราจะเลือกหัวข้อที่ยากลำบากแต่ท้าทายความสามารถและจริงแท้กับความรู้สึกของตัว หรือจะเลือกหัวข้อพื้นๆ ทำให้เสร็จได้ง่ายๆ เพียงแค่พอแถกับคนอื่นได้ว่าตัวเองก็มีความสนใจนะ เพียงแค่ขั้นตอนนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ

ระหว่างการพัฒนาโครงการ ฉันเริ่มเห็นความกลัว ขี้กังวลและลังเลขนาดบิ๊กเบิ้มอาศัยอยู่ในใจของตัวเอง แม้จะทำการบ้านค้นคว้าแหล่งข้อมูลมามากมาย ศึกษากรณีที่คล้ายคลึงกับหัวข้อที่ฉันเลือกไว้มาเยอะแยะ แต่ฉันกลับไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย มีแต่ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สำเร็จ (แต่ปากก็แก้ตัวว่า ไม่รู้ขั้นตอนที่ชัดเจน)

ในเวลานั้น เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ของอาจารย์ที่พูดขึ้นมาหลังจากที่ฉันเล่าให้ทุกคนฟังว่าฉันไปทำความรู้จักโครงการไหนมาและชอบแต่ละโครงการอย่างไร อาจารย์เพียงแต่พูดว่า “สำหรับที่นี่ ผมแนะนำว่าน่าไปดู” เท่านั้นเองฉันก็ใจชื้นขึ้น ความกังวลถูกวางพักเอาไว้ก่อน ฉันรีบขอจดหมายอนุญาต วางแผนการเดินทาง และไปเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างด้านจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในไม่กี่สัปดาห์

แน่นอนว่า ฉันเขียนข้อเสนอโครงการสำเร็จลงด้วยดี พร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ได้โกหกตัวเองว่าฉันเข้าใจเรื่องที่ฉันสนใจนี้มากขึ้นจริงๆ และสิ่งที่ฉันประทับใจไม่มีวันลืมคือคำพูดว่า “น่าไปดู” ที่ไม่บีบคั้น ไม่ชักจูง เป็นเพียงความเห็นเปิดกว้างจากอาจารย์ ฉันได้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะไปหรือไม่ และฉันก็ได้ไป … ด้วยตัวเอง

---------------------------------------

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ สิ่งที่ฉันอยากบอกก็คือ ครูไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกัน พ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนด้วยกัน การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้น หลอกล่อ ชักจูง ในภาวะเริ่มต้นคงจำเป็นต้องกระทำกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวและวิธีสุดท้ายแน่นอน ฉันคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา คือ การให้คนแต่ละคนสามารถเหนี่ยวนำตนเองให้กระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด ได้ด้วยตนเองต่างหาก เพราะเมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะล่อหลอกเขาด้วยสิ่งใด ดูน่าเชื่อถือหรือถูกต้องแค่ไหน เขาก็จะเลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ใคร่ครวญแล้วของตนเอง เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง และเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถที่ตนมี มิใช่เพียงทำให้ได้เท่าที่ผู้อื่นเรียกร้องเขาให้กระทำ

จึงน่าตั้งคำถามยิ่งนักว่า เพราะสาเหตุใดลูกจ้างในบริษัทชั้นนำที่มีค่าตอบแทนสูงๆ หรือนักเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาการสอนเข้มข้น ถึงได้เซื่องซึมและไร้เรี่ยวแรงในการเติบโตและเรียนรู้ได้? ผิดวิสัยสิ่งมีชีวิตยิ่งนัก และบทบาทของพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง โค้ช เพื่อช่วยให้คนเราเป็นตัวของตัวเอง สามารถโลดแล่นไปในโลกแห่งการกระทำอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาจารย์เคยกล่าวกับนักศึกษาในชั้นเรียนว่า “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ด้วยคำตอบห่วยๆ” เพราะฉะนั้นฉันจะไม่รีบร้อนด่วนสรุป และหยิบยื่นคำตอบให้ในที่นี้ แต่จะขอยกหน้าที่ให้เราต่างไปพินิจใคร่ครวญคำถามเหล่านี้ต่อด้วยตัวเราเอง หากคุณคิดว่าคำถามเหล่านี้ดีพอนะ

ราตรีสวัสดิ์

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home