โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เมื่อ ๒ เดือนก่อน ผู้เขียนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แสวงหาการเรียนรู้ใหม่ให้กับตัวเอง บางคนให้คำนิยามถึงการเดินทางในช่วงวัยนี้ว่าเป็น “การเดินทางเพื่อแสวงหาครู” จำได้ว่าในช่วงนั้นรู้สึกถึงเสียงภายในที่คอยบอกให้รีบเร่งตัดสินใจ คำท้วงติงหรือความห่วงใยจากใครก็ไม่เป็นผล ชีวิตในช่วงนั้นเหมือนทุกอย่างเคลื่อนที่ไปอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว

ความรวดเร็วนัยหนึ่งก็มาจากการพุ่งหรือมุ่งไปข้างหน้า ให้ตรงเป้าที่เราหมายเอาไว้ ซึ่งก็มักจะทำให้มองอะไรไม่ชัด เหมือนคนมีตา แต่มองไม่เห็น มีหู แต่ก็ฟังไม่ได้ยินอะไรที่อยู่ตรงหน้า แต่ติดกับความคิดของตัวเอง เป็นภาวะ “I in me” ที่ได้ยินแต่เสียงของตัวเองเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาของผู้เขียน การเคลื่อนย้ายตัวเองเพียงเฉพาะทางกายภาพออกจากองค์กรหรือออกจากสถานที่เดิม ก็อาจเป็นเพราะตัวผู้เขียนเองสร้างภาพความนึกคิดเอาเองว่า ทำงานมานาน อยู่ในองค์กรมานาน รู้ทุกอย่างหมดแล้ว ดำรงอยู่ในความรู้แล้วที่ทำให้ตัวเองไม่เรียนรู้อีกต่อไป จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ย้ายที่อยู่ เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ อันที่จริงในช่วงแรก ทุกอย่างก็ดูตื่นเต้น แต่สักพักความตื่นเต้นนั้นก็หายไป กลับมาวกวน วนเวียนกับรู้สึกแบบเดิมอีก ต่อให้เดินทางไกลไปอีกแค่ไหนการเรียนรู้ก็ไม่เกิด แสวงหาครูก็ไม่เจอ เพราะยังใช้ชีวิตอยู่ในแบบแผนเดิม อยู่ใน “ความรู้แล้ว”

การเปลี่ยนแปลงทางภายนอกที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านภายใน และอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังอยู่บนจิตที่หลับใหล เพราะการเปลี่ยนผ่านจากความหลับใหลไปสู่การตื่นรู้นั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ยากที่สุดของมนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกความหมายหนึ่งคือการวิวัฒนาไปสู่สิ่งที่ดียิ่งขึ้น ที่ต้องอาศัยศรัทธาที่มั่นคง มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองให้ก้าวล่วงออกจากมายาคติที่สร้างภาพความคิดให้ตัวเองติดข้องกับความเคยชินเดิมของตัวเองอย่างแท้จริง เป็นการออกจากกรอบวิธีคิดเดิมๆ ที่สร้างมุมมองหรือสายตาที่มองโลกแบบเดิมให้กับเราอย่างสิ้นเชิง โดยการออกจากอคติของตัวเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกัลยาณมิตรเป็นผู้นำทาง

ในการเรียนรู้ หัวใจสำคัญประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ฉันท์ครูศิษย์ หรือความเป็นกัลยาณมิตร ที่ต้องอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเหนี่ยวนำ ความสัมพันธ์เช่นนี้ลึกซึ้งกว่าเพียงการสอน หรือให้ความรู้ที่เป็นก้อนๆ ส่งผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเปิดออกซึ่งการเติบโตของบุคคลหนึ่งให้สามารถพึ่งพาสติปัญญาของตนเอง สามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ที่เป็นการเดินทางของตัวเองได้ การเรียนรู้เช่นนี้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ใกล้ชิด ความศรัทธาที่ศิษย์มีต่อครู และที่สำคัญที่สุดและคนมักจะมองข้าม คือ “ความเชื่อมั่นศรัทธาของครูต่อศิษย์” ที่จะหล่อเลี้ยงให้ศิษย์เข้าถึงคุณค่าแท้ที่มีอยู่ในตัวเอง

การค้นพบหรือการแสวงหาครูที่เป็นกัลยาณมิตรของตนให้พบนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้

หากแต่การแสวงหาครูนั้นมิใช่ครูทางกายภาพเท่านั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกวันนี้ ความรู้มีอยู่มากมาย แต่การเรียนรู้มีอยู่น้อย” นัยหนึ่งก็คือ มีความรู้มากมายและใกล้แค่เอื้อมขนาดไหน หากเราไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ไม่ตื่นจากมุมมองเดิมๆ ที่เคยชิน ก็มองเห็นความรู้นั้นไม่ได้ เช่นเดียวกับการแสวงหาครู ถ้าตัวเราคิดมุ่งแสวงหาครูที่เป็นรูปวัตถุ ติดอยู่กับการคิดที่พยายามเลือกตามใจเราต้องการ แม้มีปราชญ์ผู้รู้ มีครูผู้สอน มีเรื่องราว มีองค์ความรู้มากมาย ให้เราได้เรียนอยู่ทุกวี่วัน แต่ใจของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลง ติดข้องอยู่กับมุมมองเดิมๆ สิ่งที่เรารับรู้ก็จะมีแต่ความหมายซ้ำเดิม และจะสัมผัสถึงครูที่แท้ไม่ได้

แต่เมื่อเรานิ่งลง ช้าลง สัมผัสสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดขึ้น เราก็จะพบกับการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวเอง พบเห็นครูที่มีอยู่มากมาย พบกับครูที่เป็นบุคคล หรือครูที่ยิ่งใหญ่ คือธรรมชาติ ก็อาจกลายเป็นครูที่ทำให้ตาของเราเปิดสว่างสุกใสขึ้น หากใจของเราเปิดออกจากอคติ เมื่อตัวของเราพร้อมอย่างแท้จริง ตาของเราก็จะเปิดมองเห็นครู

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนย้อนทบทวนเส้นทางการเรียนรู้ที่ผ่านมา เส้นทางการเสาะแสวงหาครูผู้ชี้ทาง แต่จะมีครูท่านหนึ่งที่ให้เวลา ให้ความเมตตาดูแลอย่างใกล้ชิด คือ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ครูที่ผู้เขียนเคารพนับถือเป็น “ครูต้น” เป็นต้นธารผู้เบิกเส้นทางกระบวนการเรียนรู้

เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะระลึกถึง คือตอนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และเกือบเอาชีวิตไม่รอด ผู้เขียนได้ยินเสียงคำสอนที่อาจารย์มักจะบอกกล่าว ซึ่งเป็นสตินำพาให้ผู้เขียนรอดพ้นจากวิกฤติ และหลังจากนั้นก็ได้นำมาเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์เพียงบอกว่า “เสียงที่ได้ยินเป็นสติของตัวเอง แต่มาในรูปของอาจารย์เท่านั้น” แล้วอาจารย์ก็ยิ้มเล็กน้อยเป็นนัยให้คิด อาจารย์มักบอกกล่าวเช่นนี้เสมอ เพื่อชี้ให้เราได้เห็นและรู้จักพึ่งพากระบวนการเรียนรู้ที่เป็นเครื่องมือที่วิเศษที่สุดของตัวเอง อาจารย์มักจะให้คุณค่ากับการเรียนรู้ สิ่งที่อาจารย์สอนนั้นชักนำให้ผู้เขียนเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใน ผันชีวิตตนเองมาทำประโยชน์ให้ผู้อื่น หยั่งถึงคุณค่า รู้จักที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงปัญญาที่พึงมีของตนเอง หวนกลับมาเชื่อมั่นศรัทธาให้กระบวนการเรียนรู้ของตัวเองอีกครั้ง

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนจะยังยึดถือแต่ความคิดตัวเอง พยายามเสาะแสวงหาครู แสวงหาการเรียนรู้นอกตัว และปฏิเสธที่จะมองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ใกล้ เมื่อมาถึงในยามนี้ ที่ตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดอาจารย์ แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะซาบซึ้งถึงสิ่งที่อาจารย์ได้มอบให้ อาจารย์ไม่ได้ให้องค์ความรู้ที่เป็นกลุ่มก้อนเท่านั้น แต่ได้มอบสิ่งสำคัญที่สุด คือเปิดดวงตาของผู้เขียนออกจากความหลับใหล และเปิดดวงใจที่จะเรียนรู้และนำเรื่องราวต่างๆ น้อมเข้ามาสู่ใจ มาเป็นครูของตัวเองได้ แม้ว่าการเดินทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคเช่นไร แต่ผู้เขียนได้ระลึกรู้คุณที่ครูได้เปิดทางให้ ได้มองเห็นแล้วซึ่งครูที่แท้ทั้งภายนอกและภายใน

สิ่งดีๆ อยู่ใกล้เพียงเรือนใจของเราเอง ...



โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑

“ขอโทษนะคะ เป็นกระบวนกรมากี่ปีแล้วคะ” เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยให้ช่วงนี้

แรกๆ ดิฉันจะรู้สึกตัวโตขึ้นเล็กน้อย (แม้ว่าตัวจริงจะอวบอ้วนอยู่แล้ว) และมักตอบคำถามด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ ประหนึ่งว่าเป็นคำเยินยอก็ไม่ปาน มาระยะหลังดิฉันกลับรู้สึกขัดเขินมากกับคำถามนี้ และมักจะตอบแบบอ้อมแอ้มว่า “กำลังฝึกอยู่ค่ะ” หลายคนก็ทำหน้างงประมาณว่า “จะเชื่อได้มั้ย” บางคนก็ทำหน้าเหวอกลับไป อาจนึกเสียดายเงินค่าลงทะเบียนหรือเสียดายเวลา “ฉันจะได้อะไรกลับไปหรือเปล่าเนี่ย?” (ฮา)

ต้องขออภัยจริงๆ ค่ะ หากคำตอบของดิฉันกวนใจใครไปบ้าง แต่นั่นมาจากความรู้สึกส่วนลึกในใจ แม้ว่าดิฉันจะทำงานด้านกระบวนการเรียนรู้มานานและฝึกเป็นกระบวนกรมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งก็มีเรื่องให้เรียนรู้ใหม่ได้เสมอ ยิ่งทำมากก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก บางครั้งผู้เข้าร่วมบางท่านก็กลับทำให้รู้สึกว่าเรายังต้องเรียนและต้องฝึกอีกมาก คำว่า “กระบวนกรมือใหม่” หรือ “กระบวนกรน้อย” จึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริงหรือพูดให้ดูต่ำต้อยแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง (transformative learning) ซึ่งคนที่ได้เรียนไม่ได้มีแต่ผู้เข้าร่วมอบรมเท่านั้น ทุกครั้งที่จัดกระบวนการตัวกระบวนกรเองก็ได้เรียนพร้อมกันไปด้วยและอาจเรียนรู้ได้มากกว่าผู้เข้าร่วมเสียอีกในบางคราว

และห้องเรียนที่ได้เรียนรู้มากที่สุดก็คือ กระบวนการที่เรารู้สึกว่าล้มเหลว ยังทำได้ไม่ดีนัก หรือรู้ตัวว่าจัดกระบวนการด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงตลอดเวลา ดังเช่นคราวหนึ่งที่ดิฉันต้องไปจัดอบรมให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จำนวน 24 คน ครึ่งหนึ่งสนใจและตั้งใจที่จะมา อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้อยากมาแต่ถูกส่งตัวให้มา และในจำนวนนั้นมีอยู่ 4-5 คนรู้สึกต่อต้านกับการจัดอบรมที่แปลกออกไปจากสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย ดิฉันรับรู้ได้ถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นแนะนำตัว มีการหยั่งเชิง มีการท้าทาย และสร้างความโกลาหลขึ้นทีละน้อย จนดิฉันต้องใช้พลังอย่างมากในการดูแลกระบวนการให้ดำเนินไปในแต่ละช่วง พลังของกลุ่มค่อนข้างกระจัดกระจายและเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า ยิ่งดิฉันส่งพลังเข้าไปเพื่อควบคุมบังคับเท่าไหร่ พลังต้านก็ส่งกลับมาแรงขึ้นเท่านั้น ในใจรู้สึกปั่นป่วนมาก เพราะไม่รู้จะจัดการกับปฏิกิริยาที่ไม่พอใจเหล่านี้อย่างไร

กระบวนการวันแรกจบลงอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที อดคิดในใจไม่ได้ว่าพรุ่งนี้จะเหลือกี่คน คืนนั้นพวกเราเหล่ากระบวนกรจึงได้มานั่งทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด เราพยายามคิดหาเหตุผลว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงได้รู้สึกเช่นนั้น หรือมีปฏิกิริยาเหล่านั้น ซึ่งมีเหตุผลร้อยแปดที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น การพูดคุยมาสะดุดลงตรงคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดเขาถึงเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เราเพียงต้องการผู้เข้าร่วมที่เชื่อง หัวอ่อน เท่านั้นหรือ? พวกเราพากันเงียบไปครู่ใหญ่ก่อนจะคิดได้ว่า ตัวกระบวนกรเองต่างหากที่กำลังหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มั่นใจว่าจะดูแลกระบวนการอย่างไร และความหวาดกลัวนี้ทำให้เราอยากเข้าไปควบคุมจัดการกับคนตรงหน้า โดยไม่สนใจว่าเขาอยากเรียนรู้หรือไม่และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับกลุ่มหรือเปล่า เราเองต่างหากที่กีดกันเขาเหล่านั้นออกไปจากเส้นทางการเรียนรู้ของกลุ่ม เราเองต่างหากที่ไม่เปิดใจยอมรับเขาเหล่านั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเรา

เวลาที่อยู่ในกระบวนการหรือกำลังจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ เรามักมองไม่เห็นความกลัวของตนหรือเห็นบ้างแต่ไม่ยอมรับ และเพ่งโทษว่าเป็นเพราะผู้เข้าร่วมไม่ตั้งใจ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ กระทั่งมองว่าบางคนชอบมาป่วนเพื่อเรียกร้องความสนใจหรืออวดว่าตนเองรู้มากกว่า บางครั้งถึงกับโยนใส่คนจัดว่าคราวหน้าคนแบบนี้ไม่ต้องชวนมาอบรมนะ เสียเวลาเปล่า จนผู้จัดเองต้องมาขอโทษขอโพยกระบวนกรอยู่บ่อยๆ เพราะรู้สึกผิด การชี้มูลแห่งความผิดพลาดไปที่คนอื่นอาจช่วยให้เราสบายใจขึ้นว่า ฉันไม่ได้ผิดพลาด ฉันไม่ได้ล้มเหลว แล้วก็ทำลืมๆ ไป กระบวนกรที่กักขังตนเองอยู่กับคำอธิบายเหล่านี้ทำให้ขาดพลังแห่งการเรียนรู้ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และไม่สามารถนำพากระบวนการไปได้สู่จุดหมายปลายเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ซึ่งดิฉันเองก็เคยหลงผิดมาแล้วเช่นกัน

แต่ฉับพลันที่กระบวนกรมองเห็น เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจแต่ละคน อนุญาตให้ความกลัวปรากฏขึ้นตรงหน้า และพร้อมที่จะยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อนั้นความหวาดหวั่น ความหนักอึ้งในใจก็มลายไปสิ้น กลายเป็นความโปร่งโล่ง คืนนั้นดิฉันนอนหลับด้วยความเบาสบาย ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น รับรู้ได้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะน้อมรับและเรียนรู้ไปกับมัน ให้พลังกลุ่มขับเคลื่อนไปอย่างเป็นอิสระ แต่อิงอาศัยกันและกันอยู่ในที

พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวเตือนสติว่า คนเรามีความทุกข์จาก 2 สิ่ง คือพลัดพรากสิ่งที่รัก และประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ อย่างแรกนั้นอาจทำใจได้ยากในตอนแรกแต่ก็จะยอมรับได้ในที่สุด อย่างหลังนั้นดูเหมือนง่ายแต่ทำได้ยากกว่าเพราะเรามักคุ้นเคยกับการเอาชนะและคำว่า “ตัวฉัน” ก็สำคัญกว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่ร่ำไป เราจึงอดไม่ได้ที่จะแสดงความรู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่าน หรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่อผู้เข้าร่วมมองไม่เห็นสิ่งที่เราพยายามหยิบยื่นให้

แท้จริงแล้วในการเรียนรู้ไม่มีคำว่าผู้เรียนหรือผู้สอน เพราะเราต่างกำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และไม่มีความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ในสิ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน หากเราเชื่อมั่นศักยภาพในการรับรู้และการเรียนรู้ของมนุษย์ บทเรียนจำนวนมากย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการจะสำเร็จหรือล้มเหลวเราก็ยังได้เรียนอยู่ดี

สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนั้น ก็คือความกลัวและความระแวงสงสัยที่มีต่อผู้เข้าร่วมทำให้การรับรู้ของกระบวนกรหดแคบลงอย่างมาก จนไม่มีพื้นที่สำหรับความรัก ความเมตตาและความจริงใจที่จะมอบให้กับคนอื่นซึ่งอาจมีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างไปจากเรา สายตาเราจึงมืดบอดไปด้วยอคติและความก้าวร้าว กระทั่งมองไม่เห็นและไม่สามารถรับรู้ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เมื่อกระบวนกรผ่อนคลายความคาดหวังและยอมให้มีสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้บ้างโดยไม่รู้สึกผิด ประตูแห่งการเรียนรู้ก็เปิดออก

การอบรมในวันที่ 2 เริ่มต้นอย่างผ่อนคลายมากกว่าเมื่อวาน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้หนีหายไปไหน มีเพียง 2-3 คนที่ติดภารกิจต้องขึ้นเวรในช่วงนั้น นึกดีใจที่พวกเขายอมมาและช่วยให้ดิฉันได้ก้าวข้ามความยึดติดบางอย่าง กิจกรรมดำเนินไปตามลำดับ มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้างเล็กน้อย ดิฉันเปิดใจรับรู้ รับฟัง และสัมผัสความเป็นตัวตนของเขาเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ดิฉันก็น้อมรับโดยไม่แข็งขืน ไม่ผลักไส ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น สายตาของผู้เข้าร่วมเหล่านี้กลับอ่อนโยนลงอย่างมาก เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยความกระตือรือร้นและมีพลังในการเรียนรู้เต็มเปี่ยม สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มได้อย่างน่าอัศจรรย์

การอบรมจบลงอย่างสวยงามในความรู้สึกทั้งของผู้เข้าร่วมและกระบวนกร เราต่างได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าและสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา แม้ไม่ใช่การอบรมที่ดีที่สุดแต่กลับน่าจดจำที่สุด ต้องขอบคุณบทเรียนในครั้งนั้นที่ช่วยเตือนสติให้กระบวนกรน้อยกล้าเปิดใจยอมรับความล้มเหลว และสามารถเชื้อเชิญความกลัวของตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันได้ค้นพบความสุขจากการเป็นกระบวนกรในเวลาต่อมา



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

จากหนังสือ Mastery; The Keys to Success and Long-Term Fulfillment โดย George Leonard เขาได้กล่าวไว้ว่า “We fail to realize that mastery is not about perfection. It’s about a process, a journey. The master is the one who stays on the path day after day, year after year. The master is the one who is willing to try, and fail, and try again, for as long as he or she lives.”

“เราล้มเหลวที่จะประจักษ์ว่า การเป็นเซียนไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นกระบวนการ เป็นการเดินทาง เซียนเป็นคนๆ หนึ่ง ที่พยายามดำรงอยู่ในเส้นทาง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า เซียนคือ คนๆ นั้นที่เต็มใจจะลอง จะล้ม และลองแล้วลองอีก ตราบใดที่เขาหรือเธอยังมีชีวิตอยู่”

ผมพบว่า งานกระบวนกรหรือวิทยากรกระบวนการ เป็นอะไรที่เรียกร้องต้องการให้กระบวนกรและผู้ฝึกเป็นกระบวนกรขวนขวายที่จะดำเนินในเส้นทางของการก้าวสู่ความเป็นนาย ซึ่งหมายถึง นายงานของตัวเอง คืองานกิจกรรมการเรียนรู้ในแนวทางของจิตวิวัฒน์หรือแนวทางการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

จอร์จ เลียวนาร์ด ได้เสนอแนวทางการฝึกฝนตัวเองเพื่อความเป็นเซียน ผมเห็นว่าเราจะเรียนจากเลียวนาร์ดได้ ผมจะลองเล่าบางประเด็นที่เขาสื่อดูนะครับ

เขาว่า มันมีอุปสรรคหรือหลุมพรางที่ขัดขวางการพัฒนาไปสู่ความเป็นนายหรือเป็นเซียน ในเรื่องใดๆ ก็ตามที่เราปรารถนา เขากล่าวถึงอุปสรรคสามประการด้วยกัน

หนึ่ง ก็คือ การเข้าไปเพียงสัมผัสอะไรอย่างฉาบฉวย ทำนองช้อปปิ้ง มากกว่าที่จะจริงจังกับอะไร เชอเกียม ตรุงปะ จะใช้คำว่า spiritual materialism หรือวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือเราพากันเสพย์เรื่องราวทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เหมือนเสพย์ซื้อวัตถุ เดินช้อปปิ้งเลือกซื้อของตามห้างสรรพสินค้า มากกว่าที่จะเข้าไปดำรงอยู่ในประสบการณ์นั้นๆ อย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง คนไปสำนักปฏิบัติธรรมมา ก็จะเอารูปมาอวดกัน เอาหนังสือมาอวดกัน ที่บ้านก็มีร่องรอยของอาจารย์คนโน้นคนนี้เต็มไปหมด แต่ปราศจากซึ่งการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เข้าไปสัมผัสให้ลึกถึงความหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติธรรม แต่ยึดถือเพียงรูปวัตถุของการปฏิบัติ

สอง หลุมพรางก็คือคนประเภทต้องการผลได้แบบเร็วๆ แบบบะหมี่สำเร็จรูป พอทำอะไรสักพัก ตนเองไม่ได้เห็นผลทันใจก็เลิกเลย สรุปเอาว่าไม่ได้เรื่อง ขาดความอดทน ไม่เคยมีแม่แบบอยู่ในใจว่า การได้มาซึ่งของดีหรือของวิเศษนั้น ต้องใช้ความอดทน ต้องอยู่กับการเดินทาง อยู่กับกระบวนการ ชั่วระยะเวลาหนึ่งอย่างแท้จริง จึงจะได้สิ่งดีๆ นั้นมา

สาม ประมาณว่า “แค่นี้ก็ดีแล้ว พอแล้ว จะเอาอะไรไปมากกว่านี้” คือ อาจจะผ่านการฝึกฝนมาระดับหนึ่ง แล้วมาติดเพดาน คือไปกว่านี้ยังไม่ได้ มันหยุดชะงัก มันไปได้แค่นี้เอง ทำเท่าไร มันก็ไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว ณ ขณะนั้นๆ คือ ไปได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น คนประเภทนี้ถ้าเล่นกีฬาก็ทำแบบเล่นๆ อาจจะมีเหตุผลว่า ก็เราไม่ใช่นักกีฬานี่ จะเอาอะไรกันมากมาย เราไม่ใช่มืออาชีพนี่ แค่นี้พอแล้วล่ะ ครับพอแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องการมากกว่านี้แล้ว

แต่เซียนหยุดตรงนั้นไม่ได้ เซียนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพดานแล้วก็ยังมีศรัทธาเชื่อมั่น บุกบั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมออย่างไม่หยุดยั้ง วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ก็คือ แม้ว่าจะไปเจอชานพักของบันได หลายๆ ชานพักข้างหน้า และบางทีมันก็เป็นชานพักของบันไดที่ยาวเอามากๆ ไม่รู้ว่า จะได้ไต่ระดับขึ้นไปอีกเมื่อไรกัน เขาหรือเธอก็จะไม่ยอมหยุดยั้งอยู่ จะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องรัก “การเดินทาง” ละวางผลได้ไว้ก่อน ละวางเป้าหมายไว้ก่อน หากมีความสุขดื่มด่ำกับการเดินทาง ดื่มด่ำกับตัวกระบวนการ มากกว่าที่จะหวังผลได้ หวังจะไปถึงเป้าหมาย อันอาจคล้ายคำว่า “มรรคา” หรือ “ทางเดิน” ในความหมายของเต๋า ที่แปลว่า “ทาง”

จอร์จ เลียวนาร์ด นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการของอีซาเลนแล้ว ยังฝึกฝน ไอคิโด ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องเป็นราว สิ่งที่เขาเขียนมาจากสัมผัสจริง ประสบการณ์จริง ส่วนอีซาเลน ก็เป็นคล้ายอาศรมทางเลือกในอเมริกา ที่อีซาเลนนี้ เป็นที่พบปะของนักคิดและคนทำงานกระบวนการทางกระบวนทัศน์ใหม่ หรือเพื่อจิตวิวัฒน์หลายคน

เวลานี้ ผมพบว่ากระบวนการสุนทรียสนทนา กระบวนการที่ใช้แนวทางของจิตตปัญญาศึกษา หรือ contemplative education ได้เริ่มนิยมนำไปปฏิบัติใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเรียนรู้ฝึกฝนปฏิบัติเพื่อให้เกิดกระบวนกร อันหมายถึงผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการเป็นครูผู้สอนอย่างมากมาย

บางครั้งผมก็เกิดความห่วงใยว่า หากไม่ได้ฝึกฝนกันอย่างแท้จริงของแก่นการเป็นกระบวนกร ก็จะเพียงไปจับเฉพาะเนื้อหาทางความคิด ไปจับเฉพาะเนื้อหาทางองค์ความรู้ แต่ที่จริง ความรู้แขนงนี้ ต้องเป็นปัญญาปฏิบัติ ต้องเป็นศิลปะด้วย ต้องเป็น “การเดินทาง” ที่เราต้องผ่านให้เกิดเป็นประสบการณ์ตรงของตัวเราเอง เพราะสิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วม หรือผู้เข้ารับการอบรมจะมาสัมผัสจากกระบวนกรนั้นก็คือ ประสบการณ์ของสิ่งที่มาเรียนรู้ คือเข้ามาเรียนรู้และส่งผ่านประสบการณ์ที่ต่อยอดกันจริงๆ หากมาเรียนรู้เรื่องภาวนา ก็คงต้องเรียนจากคนที่ผ่านประสบการณ์การภาวนาจริงๆ

เกอเธ่พูดถึงประโยคหนึ่งว่า “ให้เราจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเนิ่นนานเพียงพอ จนมีอวัยวะใหม่งอกขึ้นมา” จริงๆ แล้วการอยู่กับเรื่องๆ หนึ่งอย่างเนิ่นนานเพียงพอก็เป็นเรื่องสำคัญ และควรระลึกรู้ไว้ว่าเราอาจจะไปติดหล่มสามประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ หากเราไม่มีโอกาสได้ใคร่ครวญอย่างลุ่มลึก หากเรายังต้องการเพียงบะหมี่สำเร็จรูป หรือคิดว่าเรารู้แล้วเพียงแต่ทางพุทธิปัญญา (intellect) โดยไม่ได้สัมผัสบางอย่างอย่างแท้จริง

ทำอย่างไร เราจะช่วยกันและกัน ให้ไปพ้นหล่มหรือหลุมพรางต่างๆ ดังกล่าวมาได้



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑

หากเราดูภาพรวมเผินๆ ของวิธีคิดและการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ เรามักจะมีภาพคุ้นตาของคนรุ่นใหม่ว่า คิดถึงเฉพาะเรื่องตัวเองเป็นหลัก และคิดเฉพาะว่าตัวเองอยากจะได้จะเป็นอะไร ความสัมพันธ์กับคนอื่นเปราะบางมาก หากจะคิดแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ก็มักติดตันได้ง่ายจะเรียกว่าแก้ปัญหาเองไม่เป็นก็ดูจะไม่ผิดไปนัก มิจำต้องถามถึงสำนึกทางสังคมหรอก เพราะแค่นึกภาพก็อาจรู้สึกหมดหวังไปเลย เป็นต้น

สภาพที่ว่านี้มีส่วนจริงอยู่มาก แต่ก็มีคนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยเลยที่เขาคิดและแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อตัวเอง มีสำนึกในการเอื้ออาทรต่อคนอื่นซึ่งเป็นสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ แม้จะไม่ปรากฏเด่นชัดว่าเป็นสำนึกการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังคนรุ่นเดือนตุลา เป็นต้น ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ยอมเจ็บปวด ยอมเสียสละเพื่อคนอื่นมีเยอะแยะมากมาย แต่ไม่เป็นข่าวดังเมื่อเทียบกับข่าวนักศึกษาตีกันทำร้ายกัน ดังนั้น สิ่งที่เรารับรู้อย่างเผินๆ จึงทำให้ความหวังต่อคนรุ่นใหม่ถูกปิดตายลง

ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ขาดสำนึกที่ดีงามนั้นมาจากปัจจัยหลายตัว ที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ บริบทของสังคมสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นให้คนอยากเสพอยากบริโภค อีกด้านหนึ่งก็ยั่วยุปลุกปั่นให้อยากใช้ความรุนแรง แต่มีปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือ ความผิดพลาดบกพร่องของระบบการเรียนรู้ของคน กล่าวคือ สังคมหรือองค์กรทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะระบบการศึกษาไม่สามารถฝึกฝนให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างแยบคาย ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่รู้เท่าทันตัวเองหรือเข้าใจตัวเอง รู้เท่าทันสภาพสังคมหลายด้านหลายระดับที่สัมพันธ์กัน รู้จักสิ่งรอบตัวว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ รู้ว่าทางออกหรือการวางท่าทีที่แยบคายต่อสิ่งต่างๆ ควรเป็นอย่างไร เป็นต้น

เหตุปัจจัยนี้เปรียบไปก็คล้ายกับระบบภูมิต้านทานโรคบกพร่อง ดังนั้นเมื่อต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรอบตัว เช่น เมื่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมหรืออาการคลั่งวัตถุโหมซัดเข้ามาจึงไม่สามารถปรับตัวให้หลุดรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้

อีกประการหนึ่งของระบบการเรียนรู้ที่บกพร่อง ก็คือ การรับรู้และเรียนรู้ขาดแง่มุมความจริงบางด้านของสังคมไป กล่าวคือ เรามุ่งจัดให้คนเรียนรู้เฉพาะเรื่องที่จะเข้าไปทำงานทำอาชีพโดยแยกขาดจากการเรียนรู้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาเอง ครอบครัว โครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่สามารถมองเห็นผลกระทบของปัญหาทางสังคมที่กระทบต่อตนเอง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องอื่นนอกจากเรื่องที่ตัวเองจะไต่เต้าเอาดีกัน ด้วยเหตุนี้แล เราจะกล่าวโทษเฉพาะตัวคนรุ่นใหม่ว่า พวกเขาไม่ได้เรื่อง ก็คงดูไม่ยุติธรรมกระมัง

อย่างไรก็ตาม เราควรมีความหวังอยู่เสมอที่จะเห็นคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณค่า มีสำนึกที่ดีงามทั้งต่อตัวเองและสังคม การมุ่งแตะเบรกเพื่อลดทอนอำนาจของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่เราคงต้องช่วยกันทำต่อไปอย่างไม่ลดละ ในขณะเดียวกันผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อกระบวนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ก็คงต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยทำให้เขาเปลี่ยนแปลงสำนึก อย่างน้อยก็สร้างเสริมให้เขาค้นพบวิธีคิดอันแยบคายด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรู้จักตัวเองได้ชัดเจนลึกซึ้ง ให้เข้าใจชีวิตด้านในตนเองว่า สุขทุกข์ของตนในแต่ละช่วงชีวิตคืออะไร ปมปัญหาของชีวิตมาจากเหตุปัจจัยอะไร ให้มองเห็นว่าชีวิตที่ถูกต้องดีงามในสังคมสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไรและจะดำเนินชีวิตอย่างไร รวมถึงเกิดวิธีคิดที่ทำให้เขาเข้าใจสภาพสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคมวงกว้างตามที่เป็นจริง โดยรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้สังคมมันสลับซับซ้อนและมีความรุนแรง รู้เท่าทันว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ และจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น ที่กล่าวเน้นวิธีคิดก็เพราะวิธีคิดหรือการคิดเป็นนั้นถือเป็นภูมิคุ้มกันภายในของบุคคลที่จะทำให้อยู่รอดได้ไม่ว่าจะประสบปัญหาหรือสถานการณ์ใดก็ตาม

ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสำนึกของคนจึงจำต้องเป็นกระบวนการที่หลากหลาย สามารถทำให้เปิดการรับรู้ได้ทุกทาง นั่นคือ ไม่ควรจำกัดเฉพาะการเรียนรู้ผ่านการฟังและจดจำเท่านั้น แต่ควรเปิดโอกาสหรือสร้างเงื่อนไขให้เขาได้ฉุกคิดและรู้จักตั้งคำถาม ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์หรือสถานการณ์จริง หรือแม้แต่การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลองแล้วเชื่อมโยงบทเรียนไปสู่ชีวิตจริง กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ย่อมทำให้เขาเกิดความรู้สึกภายในควบคู่ไปกับการใคร่ครวญไตร่ตรองต่อสิ่งที่รับรู้ตรงหน้า เช่น เมื่อเราพาเขาไปดูการทำลายล้างป่าสมบูรณ์และสัมผัสกับความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านเพื่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เขาก็มักจะเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ง่าย และเกิดสำนึกที่จะร่วมรับผิดชอบมากขึ้น เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้สัมผัสกับความจริงหรือข้อเท็จจริงอย่างลึกซึ้ง แล้วตามด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันบทเรียนร่วมกันเพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อความรู้ความจริงนี้ มักมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แตะไปถึงก้นบึ้งของความรู้สึกนึกคิดได้ แล้วก่อรูปเป็นกระบวนการคิดอันแยบคายซึ่งสามารถคิดหาทางออกจากปัญหาได้ และย่อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สำนึกที่ดีงามได้ในที่สุด

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกข้อหนึ่งก็คือ กระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นนี้อย่างน้อยต้องทำให้เขาประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองว่า วิธีการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ใดที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่จะทำให้เขาเกิดสำนึกของการใฝ่เรียนรู้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เกิดความสุขที่ได้เรียนรู้ ดังนั้น การร่วมมือกันกับคนรุ่นใหม่อย่างเข้าใจเขาเพื่อช่วยทำให้เขามองเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเขาเองจึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้รับผิดชอบเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของคน เพราะเมื่อเขาเกิดสำนึกของการใฝ่เรียนรู้เองแล้ว ภาระในผลักดันหรือกดขี่บังคับให้คนเรียนนั้นย่อมลดน้อยถอยลง

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ การสร้างสรรค์สำนึกของคนรุ่นใหม่น่าจะมีความหวังไม่มากก็น้อย หากเราช่วยกันคิดสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านในของมนุษย์

Newer Posts Older Posts Home